ใช้จ่ายผ่าน internet ควรรู้ความเสี่ยง ระมัดระวัง และรู้วิธีการแก้ไขปัญหา

ปรกติเวลาผมชำระเงินผ่าน internet ผมมักเลือก Paypal เป็นอันดับแรกหากมี แต่ถ้าไม่มีผมจะใช้บัตรเครดิตอย่าง KTC, Citibank, UOB หรือ AEON เป็นหลัก เพราะมีระบบแจ้งเตือนเมื่อชำระเงินผ่าน internet และมักมีการโทรมาสอบถามยอดใช้จ่ายผ่าน internet อยู่ตลอด ซึ่งบางครั้งเร็วมากในระดับวินาที กดจ่ายเงินไปปั๊บ ไม่เกิน 10 วินาที จะมีเจ้าหน้าที่โทรมาสอบถามทันที ซึ่งผมเจอกับ 4 แบรนด์นี้เป็นประจำ แม้จะไม่ทุกยอดที่ใช้จ่าย แต่หากเป็นยอดสั่งซื้อแปลกๆ มักไม่พลาด เช่นสั่งซื้อเพลงผ่าน iTunes สั่งซื้อแอพผ่าน Play Store หรือเว็บขายของอย่าง eBay เป็นต้น

ส่วนตัวเคยสั่งซื้อกับเว็บหลอกลวงอยู่เว็บหนึ่ง แต่รู้ตัวหลังจากจ่ายเงินไปแล้ว ผมโทรแจ้งยกเลิกยอด แจ้งอายัดบัตรและขอทำบัตรใหม่ทันที ซึ่งเป็นบัตรของ UOB และเจ้าหน้าที่ก็รับเรื่องยกเลิกและทำบัตรใหม่ให้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในทันที บัตรส่งกลับมาใหม่ไม่นานนัก และไม่มียอดใช้จ่ายที่ได้ขอยกเลิกอยู่ในบิลให้เสียเวลาทำเรื่องของคืนยอด

การใช้บัตรเครดิตและระบบการชำระเงินผ่าน Paypal มีข้อดีในเรื่องของการช่วยระงับยับยั้งการจ่ายเงินสดออกไป และทำให้ยอดการใช้จ่ายถูกต้องเสมอ ควรศึกษาและทำความเข้าใจเรื่องพวกนี้ ผมเชื่อว่าเราจะรู้สึกปลอดภัยมากขึ้นในการใช้งานมันบน internet มากขึ้น

สุดท้าย ก่อนใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต หรือระบบชำระเงินเหล่านี้ ควรตรวจสอบเว็บที่กำลังซื้อสินค้าและบริการด้วย มีความน่าเชื่อถือ ปลอดภัยมากแค่ไหน เช่น มี SSL หรือไม่ มีที่อยู่ระบุไว้ชัดเจนเพียงใด สินค้าที่กำลังซื้อตรวจสอบว่าคุณสมบัติตรงตามเว็บอื่นๆ ไหม เพื่อประกอบการซื้อสินค้าและบริการเหล่านั้น หากพบความผิดพปรกติ แนะนำให้สอบถามธนาคารและผู้ให้บริการรับชำระเงินเพื่อร้องเรียนและขอออกบัตรหรืออายัดยอดเสียแต่แรกครับ

ในบ้านเราส่วนใหญ่แปะป้าย "ซื้อแล้วไม่รับเปลี่ยนหรือคืน" ถูกต้องหรือไม่?

อ้างอิงหลักฎหมายจาก http://www.lawyerthai.com/forum2/1578.html

เมื่อพิจารณาจากหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องก็จะเห็นได้ว่าประกาศหน้าร้าน "ซื้อแล้วไม่รับเปลี่ยน หรือคืน" อยู่ภายใต้บังคับข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม จึงไม่สามารถตกลงกันได้ ดังนี้ผู้ขายต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่อง แต่ความรับผิดของผู้ขายมีแค่เพียง ซ่อมบำรุงเท่านั้นให้สินค้าใช้งานได้ โดยที่ผู้ซื้อไม่มีสิทธิขอเปลี่ยนใหม่ ในกรณีที่ผู้ซื้อเห็นว่าไม่คุ้มที่จะซ่อม ผมก็มีทางออกมให้ครับโดยการให้ผู้ซื้อบอกเลิกสัญญาและให้ผู้ขายคืนเงินแก่ผู้ซื้อ แต่ได้ไม่เต็มนะครับต้องหักส่วนที่ใช้งานออกไปด้วย และ ผู้ซื้อก็คืนสินค้าให้แก่ผู้ขายไป คู่สัญญากลับคืนสู่ฐานะเดิมนั่นเอง

———————————————————————————-
หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ตาม ป.พ.พ.
– มาตรา 472 ในกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งขายนั้นชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด
– มาตรา 483 คู่สัญญาซื้อขายจะตกลงกันว่าผู้ขายจะไม่ต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องหรือเพื่อการรอนสิทธิก็ได้

ตาม พ.ร.บ.ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
– มาตรา ๖  สัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพที่มีการชำระหนี้ด้วยการส่งมอบทรัพย์สินให้แก่ผู้บริโภค จะมีข้อตกลงยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดของผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพเพื่อความชำรุดบกพร่องหรือเพื่อการรอนสิทธิไม่ได้ เว้นแต่ผู้บริโภคได้รู้ถึงความชำรุดบกพร่องหรือเหตุแห่งการรอนสิทธิอยู่แล้วในขณะทำสัญญา ในกรณีนี้ให้ข้อตกลงยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดนั้นมีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น

Shipping, Refund และ Payment สิ่งที่คนจะทำ Web E-Commerce ส่วนใหญ่ในไทยไม่ได้คิด

คัดและปรับใหม่จาก twitter นิดหน่อย

ส่วนใหญ่ที่ผมรับทำเว็บ e-commerce ทุกรอบจะสอบถามคนอยากทำคือ เรื่อง shipping และการ refund ของทางลูกค้าว่าจะทำได้อย่างไร มีนโยบายอย่างไร แน่นอนว่าสิ่งที่ผมได้ตอบในครั้งแรกนั้นไม่มีเลย ส่วนใหญ่คือกลับไปนั่งคิดกันแล้วค่อยมาตอบ ซึ่งก็คือลูกค้าที่อยากทำนั้นไม่ได้คิดไว้ด้วยซ้ำว่ามันจำเป็นต้องมี

การคิดเงินค่าจัดส่ง (Shipping) นั้นสำคัญมาก นั่นหมายถึงกำไรหรือขาดทุน รวมไปถึงการจตัดสินใจซื้อของลูกค้าเลยทีเดียว บางรายใช้การบอกว่า ค่าจัดส่งฟรี ซึ่งแน่นอนว่าก็ดีเพราะบวกลงไปในตัวสินค้าแล้ว แต่สินค้าบางอย่างนั้นไม่ใช่แบบนั้น เพราะมีขนาดใหญ่ หรือมีระยะทางไกล ค่าจัดส่งแพงกว่าปรกติจนหลายๆ ครั้งการจัดส่งนั้นมีราคามากกว่าราคาที่คิดเผื่อไว้ขายบนเว็บที่รวมค่าจัดส่งในตัวสินค้าด้วยซ้ำ

สำหรับการเรียกคืนสินค้า หรือขอเงินคืน (Refund) อันนี้ไม่มีใครคิดเลย เพราะธรรมชาติคนไทยไม่เคยคิดว่าการซื้อของแล้วสามารถคืนสินค้า หรือขอเงินคืนได้ ซึ่งถ้าคิดจะขายคนต่างชาติหรือขายนอกประเทศแล้วเนี่ย อันนี้จำเป็นอย่างมาก

จริงๆ เอาแค่ระบบจ่ายเงิน (Payment) ในเว็บ e-commcerce อยากตัดบัตรเครดิต พอให้ดูข้อกำหนด ก็หงายหลังทุกราย เพราะเกือบทุกรายคิดว่าทำแล้วไม่มีค่าธรรมเนียม ข้อกำหนด หรือเอกสารสำหรับทำเรื่องแรกเข้า  สุดท้ายลูกค้าเกือบทุกรายหันไปโอนเงินเอาหมด เพราะเริ่มต้นง่าย และแน่นอนว่าค่าธรรมเนียมนั้นตัวเองไม่ต้องเสีย และยังผลักภาระ รวมถึงความเสี่ยงให้ลูกค้าตอนโอนเงินเสียด้วยซ้ำ เพราะจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิตนั้น โดยส่วนตัวแล้ว มัน win-win กับทุกฝ่ายนะ เพราะฝ่ายผู้ซื้อสามารถ refund และ hold เงินได้ในรอบบิลตัวเองในกรณีที่สินค้ามีปัญหาได้ ซึ่งผมใช้บ่อยมากๆ และมักไม่มีปัญหาด้วย รวมไปถึงได้เงินคืนตลอด ถ้าโอนเงินมันเป็นเงินสดวิ่งไปอีกบัญชี การขอเงินคืนมันคือการทวงเงินที่ยืมจากเพื่อน ได้เมื่อไหร่อันนี้ไม่รู้ได้ สำหรับทางฝั่งคนขายก็สบายใจตรงที่ตรวจสอบรายรับได้ง่าย ไม่มีตกหล่น ไม่เหมือนกับการโอนเงินไป-มา ที่มันมีแต่ยอดเงินเข้า-ออก ซึ่งมันไม่มีชื่อที่ผูกกับตัวหมายเลขสั่งซื้อ หรือรหัสอ้างอิง ทำให้ยอดเงินตกหล่นได้ง่าย ซึ่งถ้าทำไม่กี่รายการต่อวันยังพอโอเค แต่ถ้าหลักสิบหลักร้อยขึ้นก็เตรียมตัวปวดหัวได้เลย