การขอข้อมูลในแอปเกินความจำเป็น และข้อมูลส่วนตัวของเรา ไม่ใช่ของนักพัฒนาแอป แม้เก็บข้อมูลไปแล้วก็ตาม

ผู้พัฒนาแอปที่มีการขอ permission จาก OS อย่าง iOS หรือ Android หรือจากบริการบนเว็บอย่าง Facebook หรือTtwitter ควรขอ permission เพียงส่วนที่จำเป็นต้องใช้ จะขอเผื่อๆ ไว้ ก็ควรยอมรับคำถามของผู้ใช้บริการด้วยว่าขอไปเผื่อทำไม จัดเก็บอย่างไร เอาไปทำอะไรบ้างอย่างชัดเจน และเป็นทางการ

การมาต่อว่าดราม่าใส่คนตั้งคำถามต่อการขอ permission ถือเป็นสิ่งที่ผู้พัฒนาแอปไม่ควรทำ เพราะมันเป็นเรื่องความรับผิดชอบที่ควรชี้แจงและอธิบายให้สิ้นสงสัยอย่างเป็นมิตร

ส่วนผู้ตั้งคำถามจะยอมรับคำตอบหรือไม่ ถือเป็นสิ่งที่นักพัฒนาต้องยอมรับผลที่ตามมาเอง เพราะสิ่งที่นักพัฒนาขอไปนั้น คือ “ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่น เขามีสิทธิ์ในการตั้งคำถามที่เกี่ยวกับการจัดเก็บข้อมูลส่วนตัวของเขา ไม่ใช่นักพัฒนาที่ไปเก็บข้อมูลแล้วยึดสิทธิ์ในข้อมูลส่วนตัวของเขาไป เพราะข้อมูลที่จัดเก็บไป เราไม่ได้ให้ความยินยอมในสิทธิ์ของข้อมูลนั้นตลอดไป เราเพียงให้สิทธิ์ในการนำไปใช้เพียงช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น”

แน่นอนว่า เมื่อตอบไปแบบนี้ เราก็จะเจอความคิดเห็นกลับมาเพิ่มเติมว่า “ก็เราเป็นคนกดยินยอมให้เค้าไปเอง แล้วจะบ่นอะไรอีก คงเอากลับคืนมาไม่ได้แล้ว” ซึ่งหากมองในมุมนี้ นั้นหมายถึงผู้ออกความคิดเห็นชุดนี้ มิได้ตระหนักถึงสิทธิ์ในข้อมูลส่วนบุคคลของตนเท่าใดนัก ซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่ยอมรับได้ และเราควรสร้างความตระหนักว่า ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นสิทธิ์ของเราที่จะให้ใครดูแล และไม่ให้ใครดูแลก็ได้ ซึ่งแอปที่ทำตามข้อเรียกร้องนี้ได้อย่าง Facebook หรือ Twitter เองมีความสามารถในการ Delete Account เพื่อลบข้อมูลส่วนบุคคลเหล่านี้ออกไปจากระบบ และบริการ social network หรือแอปรายอื่นๆ ที่มีความโปร่งใส ก็มักจะเห็นความสามารถในการ Delete Account อยู่เสมอ เพราะกฎหมายในหลายประเทศระบุให้ทำบนพื้นฐานสิทธิ์ข้างต้น หากบริการใดๆ จะแสดงออกซึ่งการควบคุมดูแลในการให้บริการที่โปร่งใส ใส่ใจต่อสิทธิ์ในข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งาน ก็ควรจะต้องมีความสามารถดังกล่าวด้วย

สุดท้าย ในร่างกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคลฉบับล่าสุด (เท่าที่หาได้) มีระบุไว้ชัดเจนในเรื่องราวข้างต้น และหากว่าร่างกฎหมายนี้มีการปรับแก้ และหวังว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงในส่วนนี้ มันจะถูกบังคับใช้ นั้นหมายความถึงบริการ และแอปทุกๆ ตัว ต้องรองรับการร้องขอนี้ด้วยเช่นกัน

2016-06-05_124631

หมายเหตุ
ไฟล์รูปได้มาจากส่วนหนึ่งในเอกสาร “ร่างพ.ร.บคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (ฉบับความมั่นคงดิจิทัล)”
อ้างอิงจาก http://ilaw.or.th/node/3405

ถ้าถึงแก่ความตาย “ข้อมูลส่วนบุคคล” จะตกเป็นของทายาทหรือคู่สมรส

ใครซ่อนอะไรไว้ตอนอยู่ ตอนตายระวังไม่เผาผีนะครับ แนะนำให้ทำลายทิ้งก่อนตายก็ดี

ที่มา “พรบ. ข้อมูลส่วนบุคคล” ที่กำลังเข้าสภา ไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนแปลงอะไรอีกไหม

10460716_10152606819785275_8331493605667178466_n

แสดงความคิดเห็นหรือทำผลสำรวจก็อาจโดนฟ้องร้องได้

จากข่าว Owner of America’s ‘dirtiest’ hotel loses TripAdvisor lawsuit เป็นข่าวมาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนที่แล้ว (28 สิงหาคม 2556) พอดีว่าเพื่อนเพิ่งส่งมาให้ออกความคิดเห็น แน่นอนว่าถ้าออกความคิดเห็นในส่วนนี้เพียงส่วนเดียวก็ดูจะจำกัดกรอบเกินไป เลยขอให้ความเห็นโดยทั่วไปและพยายามครอบคลุมในส่วนที่ตัวเองก็ได้ทำอยู่ในชุมชนและเป็นสื่อที่เสนอความคิดเห็นอยู่ใน blog ตัวเองเช่นกัน

จากข่าวต้นเรื่องนั้นขอสรุปสั้นๆ ว่า

เว็บ TripAdvisor ซึ่งเป็นเว็บไซต์ท่องเที่ยวชั้นแนวหน้าของโลก ได้ออกแบบสำรวจโรงแรมที่สกปรกที่สุดในสหรัฐอเมริกา จนอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โรงแรม Grand Resort Hotel and Convention Center ในพิเจน ฟอร์จ (เทนเนสซี) ต้องถูกปิดตัวลงเนื่องอาจได้รับผลกระทบจากการทำแบบสำรวจนั้น เพราะโรงแรมดังกล่าวได้อันดับหนึ่งในผลสำรวจ ซึ่งทำให้โรงแรมดังกล่าวออกมาฟ้องร้องต่อ TripAdvisor ในจำนวนเงินกว่า 10 ล้านเหรียญ ด้วยคำร้องกล่าวโทษว่า เว็บข้างต้นเป็นผู้ชี้นำและเป็นสาเหตุให้จำนวนผู้เข้าพักลดลงจนต้องปิดตัวในที่สุด

สุดท้ายศาลมีความเห็นแย้งต่อคำร้องนั้นด้วยเหตุผลว่า เว็บไซต์ TripAdvisor นั้นได้รับการปกป้องตามบทบัญญัติว่าด้วยรีวิวที่ผู้อ่านเป็นผู้สร้างขึ้น (that website operators get broad protection from lawsuits over reader-generated reviews.) และเนื้อหาสาระที่ได้ลงไปในรีวิวที่ผู้อ่านสร้างขึ้นนั้น เป็นเนื้อหาไม่ได้แสดงว่าในความเป็นจริงแล้วตัวโรงแรมนั้นสกปรกที่สุดในสหรัฐอเมริกาแต่อย่างใด

แน่นอนว่าระบบกฎหมายของอเมริกาเป็นระบบกฎหมายจารีตประเพณี (Common Law) ที่ยึดโยงแนวคิดและให้ความสำคัญกับจารีตประเพณี โดยใช้เป็นหลักในการพิจารณาตัดสินคดีความต่างๆ ที่มีลักษณะคล้ายกันเกิดขึ้น ซึ่งก็ต้องใช้หลักของคดีแรกเป็นบรรทัดฐานในการตัดสินชี้ขาดในคดีถัดไป ส่วนระบบกฎหมายของไทยเป็นระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร (Civil Law) ที่ยึดหลักแนวคิดให้ตรงตามตัวบทกฎหมายเป็นสำคัญ และคำพิพากษาของศาลไม่ใช่กฎหมาย แต่เป็นบรรทัดฐานในการอ้างอิง ดังนั้นวิธีคิดของการตัดสินของ TripAdvisor ในประเทศสหรัฐอเมริกาอาจจะใช้แนวคิดที่แตกต่างกันในประเทศไทย เพราะคำตัดสินในสหรัฐอเมริกายึดโยงกับคำตัดสินในคดีความเก่าๆ ที่ใกล้เคียงกัน มากกว่าตัวบทกฎหมายในขณะนั้น

ซึ่งจากข่าวข้างต้นถ้านำมาเปรียบเทียบกับตัวบทกฎหมายของประเทศไทยได้ในบทการหมิ่นประมาท ซึ่งจะมีความผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญาได้

โดยฐานละเมิดตามประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 423 คือ ผู้กระทำได้กล่าว หรือไขข่าวแพร่หลาย ซึ่งข้อความที่ขัดต่อความเป็นจริง เป็นผลให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย ต่อชื่อเสียงเกียรติคุณ

สำหรับในด้านประมวลกฎหมายอาญา อยู่ 2 มาตรา

มาตรา 326 คือ ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือ ปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 328 ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณา ด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ ทำให้ปรากฏด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกินสองแสนบาท

แน่นอนว่าในมาตรา 329 ได้ระบุเรื่องว่า “ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต” ไว้อย่างน่าสนใจเพราะเป็นข้อยกเว้นความผิดฐานหมิ่นประมาทในประมวลกฎหมายอาญา

โดยการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเป็นลักษณะการแสดงความคิดเห็นที่ไม่มีเจตนาอื่นแอบแฝง หรือเจตนาทำลายความเชื่อถือของผู้อื่น

มาตรา 329 ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต

(1) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม
(2) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่
(3) ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัย ของประชาชนย่อมกระทำ หรือ
(4) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรม เรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

มาตรา 330 ในกรณีหมิ่นประมาท ถ้าผู้ถูกหาว่ากระทำความผิด พิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์ ถ้าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน

แน่นอนว่าโดยทั่วไปแล้วนั้นถ้าเกิดเป็นการนำเสนอความคิดเห็นต่างๆ ในเว็บไซต์ต่างๆ และมีคดีความฟ้องร้องกันเกิดขึ้นมักจะฟ้องร้องบนฐานความผิดในมาตราที่ 328 หรือ “หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา” เพราะเป็นความผิดที่ครอบคลุมการทำงานของอินเทอร์เน็ตได้ชัดเจนที่สุด เพราะรูปแบบของอินเทอร์เน็ตนั้นเป็นรูปแบบที่ว่าด้วยการโฆษณาเผยแพร่ซึ่งทำให้กระจายภาพ เสียง และตัวอักษรได้ไปได้ทั่วโลกผ่านสื่อต่างๆ ข้างต้น และแน่นอนว่าโทษก็ยังหนักที่สุดด้วย

ซึ่งโดยเนื้อหาสาระจากข่าวข้างต้นนั้น ในคดีความในประเทศไทยก็มีตัวอย่างเช่น ไทยคลินิกดอทคอมเปิดใจหลังถูกยื่นฟ้องหมิ่นประมาททางเน็ต โดยคุณวันฉัตร ผดุงรัตน์ เจ้าของเว็บไซต์พันธ์ทิพย์ดอทคอม (www.pantip.com) ได้ให้ความเห็นกับกรณีนี้ว่า

สื่ออินเทอร์เน็ตมีความแตกต่างจากหนังสือพิมพ์ เพราะทุกบทความที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์นั้น เป็นบทความของเจ้าหน้าที่ในสังกัด ซึ่งบรรณาธิการต้องเป็นผู้รับผิดชอบ แต่เว็บบอร์ดเป็นสถานที่ที่ใครก็เข้ามาเขียนได้ตลอดเวลาแม้กระทั่งตอนที่ผู้ดูแลเว็บไซต์กำลังนอนหลับ

สำหรับความเห็นส่วนตัวแล้วนั้น ส่วนที่ต้องตีความและนำไปสู่การฟ้องร้องได้หรือไม่ได้นั้น อยู่ที่วิธีการนำเสนอความคิดเห็น และพิสูจน์ว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นที่เข้าข่ายมาตราที่ 329 หรือไม่เสียก่อน เมื่อสามารถพิสูจน์ได้แล้วว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ก็ไม่สมควรเป็นความผิดต่อการที่ผู้นั้นแสดงความคิดเห็นเหล่านั้นออกไป และแน่นอนในชั้นการฟ้องร้องฝ่ายโจทย์หรือผู้กล่าวหาต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า การแสดงความคิดเห็นที่ตนได้รับผลกระทบเหล่านั้น กระทำโดยไม่สุจริต ได้รับผลกระทบหรือมีเบื้องหน้าเบื้อหลังที่นำไปสู่ความไม่สุจริตต่อการแสดงความคิดเห็น มิใช่ตัวจำเลยหรือผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้แก้ต่างต่อข้อกล่าวหาเพียงฝ่ายเดียว เผื่อไม่ให้เกิดการใช้ศาลเตี้ย หรือใช้สื่อในการตัดสินไปก่อนที่จะได้รับคำตัดสินอันเป็นที่สุดของศาล เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ถูกกล่าวหาที่จะได้ความเป็นธรรมต่อสังคมโดยรวมด้วย

โดยจากคดีข้างต้น (TripAdvisor) ก็อาจจะเข้าข่ายมาตร 328 “หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา” ในเบื้องต้น แต่แน่นอนว่าผู้ให้บริการอาจจะเข้าข่ายตาม “พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550“ แล้วนั้นมีความผิดร่วมกับจำเลยเช่นกัน

มาตรา 14 ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

(1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
(2) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
(3) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
(4) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามก และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
(5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)

มาตรา 15 ผู้ให้บริการผู้ใดจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดตามมาตรา ๑๔ โดยมีบทลงโทษคือจำคุกไม่เกิน 5 ปี โทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท

แต่แน่นอนว่าในขณะนี้ยังไม่มีตัวบทที่ช่วยให้ผู้ให้บริการพ้นผิดจากเหตุการณ์นี้ได้ ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วเป็นผู้ให้บริการเว็บบอร์ด และชุมชนที่มีคนมากหน้าหลายตาเข้ามาในเว็บอยู่มากมายในการเสนอความคิดเห็นต่างๆ ซึ่งมุมของผู้ให้บริการแล้วนั้น จะมีช่องทางในการติดต่อซึ่งเป็น “หลักการแจ้งเตือนและเอาออก (Notice and Takedown)” ที่สากลนั้นทำกันเป็นปรกติเพื่อป้องกันให้ผู้บริสุทธิ์ได้รับการคุ้มครอง เพราะฉะนั้นส่วนตัวค่อนข้างเห็นด้วยในตัวปัญหาบางประการซึ่งได้กล่าวไว้ใน คู่มือพลเมืองเน็ต: เข้าใจเน็ต และใช้เน็ตให้ปลอดภัย ที่ว่า

ปัญหาหลักของ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ที่ควรถูกแก้ไข คือ

  • ต้องมีการยกเว้นสำหรับการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการอภิปรายถึงกระบวนการเจาะระบบ หรือการส่งต่อโปรแกรมเหล่านี้ที่ผู้ใช้ไม่ควรตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูก ดำเนินคดี
  • ความผิดที่ซ้ำซ้อนกับความผิดในกฎหมายอื่น ไม่ควรมีอยู่ใน พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ อีก การกำหนดความผิดที่ซ้ำซ้อนสร้างความสับสนให้ประชาชนโดยไม่จำเป็น หลายกรณีใน พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ กลายเป็นการเพิ่มโทษให้กับความผิดเดิมที่มีอยู่แล้วอย่างไม่มีเหตุผล
  • ผู้ให้บริการหรือตัวกลางอื่นๆ ต้องมีหน้าที่ที่ชัดเจน และปลอดภัยจากการรับผิดหากทำตามหน้าที่ได้ครบถ้วน

การให้บริการในอินเทอร์เน็ตทุกวันนี้ บริการที่ให้บริการคนจำนวนมาก เช่น อินสตาแกรม ยูทูบ เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ มีจำนวนผู้ดูแลน้อยกว่าจำนวนผู้ใช้ที่มีหลายหมื่นจนถึงหลายล้านเท่า ตัวอย่างเช่น อินสตาแกรมนั้นมีพนักงานเพียง13 คนแต่มีผู้ใช้ถึง 50 ล้านคน จึงแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะสอดส่องข้อมูลทุกอย่างที่ผู้ใช้โพสต์ลงในระบบตลอด เวลา กฎหมายคอมพิวเตอร์ในหลายประเทศได้คำนึงถึงข้อจำกัดข้อนี้ และได้คิดหลักวิธีดูแลเนื้อหาอย่างเข้าใจในข้อจำกัดนี้ หลักการนี้เรียกว่า หลักการแจ้งเตือนและเอาออก (Notice and Takedown)

หลักการแจ้งเตือนและเอาออก คือ การกำหนดให้ผู้ให้บริการมีภาระต้องหยุดการเผยแพร่เนื้อหาที่ผิดกฎหมาย หลังจากที่ได้รับการแจ้งจากเจ้าหน้าที่ภายในเวลาที่ได้กำหนดไว้ หากหยุดเผยแพร่ได้ภายในกำหนด จะถือว่า ไม่มีความผิด แต่หากเกินกำหนด ก็อาจเป็นความผิด

พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับปัจจุบันไม่มีข้อกำหนดเหล่านี้ จึงทำให้ผู้ให้บริการตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดี จากเนื้อหามากมายที่ถูกสร้างขึ้นผ่านตนเองอยู่ตลอดเวลา ผู้ให้บริการหลายรายจึงต้องหาทางลดความเสี่ยงจากความไม่มีหลักเกณฑ์ที่ ชัดเจนเช่นนี้ โดยการลดช่องทางในการให้ผู้ใช้ผลิตเนื้อหา หรือทำให้การผลิตเนื้อหาเป็นไปอย่างยากลำบาก และมีข้อจำกัดมากขึ้น หรือปิดช่องทางผลิตเนื้อหาโดยผู้ใช้ไปเลย

การปล่อยให้อยู่ในดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่และศาลทำให้ผู้ให้บริการหลาย รายถูกดำเนินคดี หลายครั้งที่ผู้ให้บริการเป็นเพียงบุคคลธรรมดาที่ทรัพยากรไม่เพียงพอที่จะ ดำเนินการต่อสู้คดีในชั้นศาลได้ ทำให้ต้องเลิกให้บริการไปโดยปริยายเมื่อถูกดำเนินคดี

ซึ่งตามรูปแบบนี้บทกฎหมายของประเทศไทยแล้วคดีความของ TripAdvisor อาจจะกลายเป็นเว็บ TripAdvisor ถูกตัดสินให้ได้รับความผิดร่วมกับผู้แสดงความคิดเห็นอื่นๆ ร่วมด้วยก็เป็นได้เพราะตัวเนื้อหาสาระในชุดคำถามและความคิดเห็นในหัวข้อดังกล่าวนั้นมีความสุ่มเสี่ยงต่อความผิดฐานหมิ่นประมาทอย่างมากเลยทีเดียว ซึ่งนั้นเท่ากันปิดกั้นและทำให้การเสนอความคิดเห็นที่หลากหลายนั้นถูกจำกัดอยู่ในวงจำกัดและไม่เป็นธรรมไปในทันที

ไม่ใช่แค่ปกป้องคนที่ใช้ แต่คนที่ไม่ได้ใช้งานก็ต้องปกป้องด้วย

จากกรณี Don’t drive on glass! Lawmakers want to ban wearing Google Glass while on the road ซึ่งเป็นเหตุการณ์หลังจากเรื่อง Google Glass กับการถูกละเมิดสิทธิ์ความเป็นส่วนตัว โดยในมุมมองส่วนตัวแล้วนั้น ถึง Google Glass จะยังไม่ได้ถูกใช้จริงในสภาพความเป็นจริงมากนัก แต่เมื่อรู้หรือพอเดาออกว่ามันจะเกิดผลอะไร สิ่งที่ต้องทำคือ “ปกป้องคนที่ใช้และคนที่ไม่ได้ใช้งาน” เราไม่รู้ว่ามันมีผลกระทบอะไรกับคนใช้แค่ไหน แต่การเทียบเคียงกับโทรศัพท์มือถือก็เพียงพอที่จะตีความได้บางส่วน เพราะฉะนั้นมันไม่แปลกที่จะถูกเสนอให้ควบคุมการใช้งานในวงจำกัด นี่ยังไม่รวมไปถึงเรื่องความเป็นส่วนตัวของผู้ที่อยู่รอบตัวผู้ใช้งานที่พวกเค้าพร้อมจะพูดละเมิดสิทธิ์ความเป็นส่วนตัวได้ทุกเมื่ออีกด้วยจากข่าวก่อนหน้านี้

Google Glass กับการถูกละเมิดสิทธิ์ความเป็นส่วนตัว

จากข่าว ร้านอาหารในซีแอทเทิลประกาศแบน Google Glass ห้ามนำมาใช้ภายในร้าน นั้น

ผมอ่านความคิดเห็นหลายคนแล้วมีความรู้สึกว่า “คนอื่นจะละเมิดสิทธิ์ของเราไม่ได้นะ มันสิทธิ์ของเรา บลาๆๆ แต่การกระทำของตัวเองกลับกำลังเข้าค่ายละเมิดสิทธิ์ความเป็นส่วนตัวของคนอื่นอยู่ คำตอบกลับบอกมันเรื่องปรกติ ตูจะทำ จะทำไม”  (╯°□°)╯︵ ┻━┻)

การถ่ายรูปน่ะมันไม่มีปัญหาหรอก ถ้าไม่ได้ไปติดคนอื่นๆ ที่เค้าไม่อยากเข้าในเฟรมของรูปเรา เพราะรูปหรือวิดีโอที่เราบันทึกไปแล้วอาจเอาไปโพส-แชร์ต่อนั้น มันอาจมีปัญหาในภายหลังได้ ซึ่งมันไปละเมิดสิทธิ์คนอื่นเค้าอยู่นะเว้ย

ซึ่งเรื่อง Google Glass ที่โดนแบนก็เพราะเหตุนี้แหละ เพราะถ้ามันถ่ายรูปหรือบันทึกวิดีโอไม่ได้ มันคงไม่มีปัญหาหรอก แต่มันมีปัญหาเพราะมันทำได้ และนั้นแหละคือสิ่ง “อาจ” ถูกนำไปใช้ในการละเมิดสิทธิ์คนอื่นได้ง่ายมากๆ

ผมเคยเขียนเรื่องนี้แบบเต็มๆ ไว้แล้วใน การแอบอ้างหรือนำรูปไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาติ แนะนำให้ตามไปอ่านดูครับ