รีวิว Nitecore USN4 Pro for Sony NP-FZ100

ด้วยความที่ผมใช้กล้อง Nikon มาเป็นสิบปี ซื้อกล้องมาทีไร ได้แท่นชาร์จแยกมาด้วยเสมอ แต่พอได้ Sony ก็ช็อคตรงที่มันไม่มีที่แท่นชาร์จให้ ต้องซื้อแท่นชาร์จแยก คือตอนแรกนึกว่าคนขายเค้าไม่ได้ให้มา แต่กลัวเสียฟอร์ม ก็เปิดคู่มือดูก่อนว่า ในกล่องมันให้มาไหม ซึ่งไม่ได้ให้มาจริงๆ ด้วย

กลายเป็นว่า ถ้าจะชาร์จแบตต้องเสียบกับกล้องแทน ก็แบบ เอ่อ ไม่ชิน แล้วปรกติด้วยความที่ซื้อกล้องมามักซื้อแบตสำรองก้อนที่ 2 อยู่เสมอ และการมีแท่นชาร์จก็ช่วยเรื่องการสลับชาร์จได้ง่ายกว่ามาก รวมไปถึงการเก็บรักษากล้องในตู้กันชื้นไปเลย แล้วเอาแค่แบตออกมาชาร์จแยกก็สะดวกกว่า

ทีนี้ พอไปเช็คราคาเครื่องชาร์จของ Sony โดยตรงก็ช็อคเพิ่มเข้าไปอีก เพราะราคาแพงระดับ 3,2xx บาท ก็เลยเป็นที่มาของการหาที่ชาร์จทางเลือกแทน

ซึ่งก็มาจบที่ Nitecore USN4 Pro (for Sony NP-FZ100) ในราคาไม่ถึง 900 บาท แถมชาร์จได้ 2 ช่องพร้อมกันอีก

เบื้องต้น มันเป็นที่ชาร์จที่รองรับ input แบบ USB-C บนมาตราฐาน QC 2.0 รองรับ input แบบ 5V 2.0A หรือ 9V 2.0A ฉะนั้นสายชาร์จมือถือทั่วไป ที่เป็น PD/QC และกำลังวัตต์ 18-20W ก็ใช้งานกับแท่นชาร์จนี้ได้ทันที ขอให้รองรับ input V/A ตามที่ตัวแท่นชาร์จรองรับก็เพียงพอ

จุดสำคัญ ที่ผมชอบมาก คือมีจอภาพแสดงสถานะการชาร์จของแต่ละช่องว่ามันจ่ายไฟให้แต่ละช่องเท่าไหร่แบบ real time แล้วบอกสถานะว่าชาร์จเต็มแล้วหรือยังแบบชัดเจน ซึ่งสะดวกมาก

โดยรวมแรกเริ่มในการใช้งานก็ประทับใจดีมาก แต่ยังไงก็รอดูยาวๆ อีกทีว่าจะเป็นยังไง ✌️

ลาแล้ว DSLR Nikon สวัสดี Mirrorless Sony

กล้องตัวเก่า Nikon D7200 ซื้อมาใช้ 14 มิถุนายน 2017 จุดประสงค์เอาไว้ถ่ายไอดอล และ 10 กันยายน 2017 ก็จัด Tamron SP 70-200mm f/2.8 Di VC USD มาเพิ่มด้วยจุดประสงค์เดียวกัน 😅

ด้วยความที่ใช้กล้อง Nikon D7200 มานาน 6-7 ปีแหละ หลัง ๆ ไม่ไหว เริ่มโฟกัสวืดบ่อยจนเซง ก็เลยหากล้องตัวใหม่ ซึ่งคงต้องไป Mirrorless แทน DSLR เดิม เพราะ Nikon ก็ไม่ออก DSLR ใหม่กลุ่มที่เราใช้งานมามานานแล้ว

พอไป Mirrorless ปัญหาคือเลนส์ที่มีอยู่ทั้งหมดของ Nikon ก็ใช้งานใน Nikon Z ไม่ได้เลย เพราะเป็น AF-D และเลนส์ Tamron ที่มีอยู่ ไม่รองรับ adapter Z-Mount ของ Nikon เอง ทำให้การเลือก Mirrorless ในครั้งนี้ เหมือนย้ายค่ายยกเซ็ต ฉะนั้นกลายเป็นอิสระในการเลือกเลยว่าจะเอายี่ห้อไหนอีกรอบ

พอมาไล่ดูแต่ละยี่ห้อ โดย Nikon Z แม้จะดูดี เราคุ้นเคยกับการควบคุมและเมนู แต่รอบการออกกล้องค่อนข้างคาบเกี่ยวกับที่เราจะซื้อพอดี ประกอบกับเลนส์ค่ายอิสระที่ทำให้ Nikon Z มีตัวเลือกน้อยมาก ผมจึงต้องหาตัวเลือกใหม่

ตัวเลือกใหม่อย่าง Sony จึงได้เกิดขึ้น เป็นการหาข้อมูลว่าจะอยู่กับ APS-C หรือจะไป Fullframe ไปเลยดี พอไล่ระดับราคา กลายเป็น APS-C หรือ Fullframe ไม่สำคัญเท่า เราจะเอาการจับถือตัวกล้องแบบไหน ระหว่าง Rangefinder (EVF อยู่ด้านข้าง) หรือ DSLR (EVF อยู่ตรงกลาง) ซึ่งก็มาจากที่แบบ DSLR ที่คุ้นเคย แล้วก็เป็น Fullframe ไปโดยสภาพบังคับ

ทีนี้จะซื้อมือหนึ่งหรือมือสองดี เพราะมือหนึ่งราคาโดดไปไกลมากกว่าที่เคยซื้อ 60k – 80k เลยทีเดียว ผมเลยไล่ดูมือสองเพิ่มเติมแทนในระดับราคาเดิมที่เคยซื้อกล้องมาในตัวก่อนๆ คือ 30-40k ไม่เกินนี้ เพราะต้องเผื่องบไปลงกับเลนส์อีก

สุดท้ายมาจบที่ Sony A7 III แทน ด้วยความที่นั่งเทียบข้อมูลใน dxomark แล้ว ถือเป็นรุ่นที่ก้าวกระโดดมาจาก Nikon D7200 ในด้าน dynamic range, low light และ AF ในที่ราคามือสองไม่แพงจนเกินไป โดยคนใช้งาน เค้าใช้ชัตเตอร์ไปแล้ว 30,000 กว่าๆ ซึ่งก็ยอมรับได้ เพราะส่วนตัวใช้กล้องมา 7-8 ปี ถ่ายรูปปีนึง หนักๆ ก็ 10,000 รูป ฉะนั้น ยังมี shutter life ให้ใช้งานไปได้อีก 3 ใน 4 (ตัวนี้ shutter life 200,000) หรือถ้าใช้งานก็สัก 4-5 ปีสวย ๆ ถึงตอนนั้นหารุ่นใหม่มือสองมาหมุนเวียนอีกรอบก็ยังไม่แย่

พอมาที่เลนส์ตอนแรกสนใจ FE 85mm F1.8 มือหนึ่ง ศ. Sony เลย แล้ว ศ. มีลดราคา ซึ่งลดลงมา 30% แต่พอไปถึง ศ. แล้วลอง FE 70-200 mm F4 Macro G OSS Ⅱ แล้วพบว่า เออ เอาจริงๆ ซื้อระยะ 70-200 mm ที่เราใช้กับกล้องตัวเก่า มาใช้งานเลย น่าจะตบโจทย์การใช้งานมากกว่า เพราะใช้บ่อยกว่าระยะ 85mm เลยจัดระยะ 70-200 mm มาแทน ซึ่งก็ได้โปรลดราคา 7% ซึ่งช่วงราคาที่ลดก็ประมาณเกือบๆ 7,000 บาท

จนสุดท้ายได้ Sony A7 III + FE 70-200 mm F4 Macro G OSS Ⅱ มาใช้งานเป็นชุดเริ่มต้น

ระหว่างนี้ก็รอแท่นชาร์จ (ที่ Sony มันไม่แถม) และแบตก้อนใหม่เพิ่มมาอีกก้อน เพราะ A7 III ตัวนี้มันถ่ายได้ประมาณ 600-700 รูปต่อแบต 1 ก้อน เลยคิดว่ามีแบตหลายก้อนแน่ๆ จะกลายเป็นว่ามีแท่นชาร์จเพิ่มสะดวกเวลาต้องชาร์จแบตพร้อมกัน

ส่วน SD Card ใช้ SanDisk Extreme PRO SDXC UHS-I ตัวเก่าก็น่าจะเพียงพอ เพราะ write performance ของ A7 III ยังไม่ถึง 200MB/s เลยไม่ต้องจ่ายเงินส่วนนี้เพิ่มเติม

ส่วนรูปลองถ่ายดู 2 รูป เนื้อไฟล์ประทับใจมาก ขนาดยังไม่ได้ denoise อะไรเลย ยังออกมาดูมากๆ

เอา SSD ใส่ฮีตซิงค์เย็นลงเยอะแค่ไหน?

สวัสดีคนที่ยังติดตามอ่าน blog ผมอยู่ (น่าจะหายหมดแล้วมั้ง)

ไม่ได้เขียน blog มานาน 2 ปีกว่า ซึ่งปีนี้มีเรื่องให้เขียนย้อนหลังเยอะพอสมควรเลยหล่ะ แต่ตอนนี้ขอเขียนสั้น ๆ เพราะเมื่อช่วงเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ผมประกอบคอมฯ เครื่องใหม่มาแทนคอมฯ เครื่องเดิมอายุประมาณ 5 ปี วันนี้ขอเล่าประสบการณ์ในเรื่องใส่ฮีตซิงค์ของ SSD M.2 เพิ่มหลังจากที่ผมซื้อ Lexar NM710 มาใส่เพิ่มเติม เพราะผมพบว่า SSD M.2 มันร้อนเกินไปจนความเร็วตกในบางครั้ง ผมจึงทำการทดลองเปรียบเทียบดูว่าพอใส่ฮีตซิงค์แล้วความร้อนมันสูงแค่ไหน โดยในภาพผมทดสอบให้มันทำงานที่ความเร็วสูงสุด เพื่อดูว่ามันร้อนขนาดไหนหากไม่มีฮีตซิงค์

พอรู้ว่าร้อนขนาดไหน ผมซื้อฮีตซิงค์ Lexar รุ่น LPAH100 มาใส่เพิ่มเติม เป็นฮีตซิงค์เสริมสำหรับ SSD M.2 สล็อตที่ไม่มีฮีตซิงค์มาประกอบแล้วทดสอบดูอีกรอบ

โดยจะเห็นว่าผมทดสอบด้วยความเร็วระดับสูงสุด แต่ความร้อนไม่สูงเกิน 61c ในมุมผมถือว่าลดความร้อนลงมาได้เยอะมาก ๆ และเมื่อความร้อนไม่สูงจนเกินไป ย่อมส่งผลต่อการทำงาน ยังทำให้ตัว controller บน SSD มันก็ไม่ดรอปความเร็วลงเพื่อลดความร้อนอีกด้วย

สำหรับตอนต่อ ๆ ไปจะมาเล่าเรื่องอะไร ติดตามกันได้ครับ จะพยายามมาเขียนต่อเรื่อย ๆ 👍

ติดพัดลมให้ MikroTik CRS326-24G-2S+RM ลดความร้อน รอบที่ 2 ครั้งนี้ดีกว่าครั้งที่แล้ว

จากตอนที่แล้ว ติดพัดลมให้ MikroTik CRS326-24G-2S+RM ลดความร้อน แต่ได้เสียงน่ารำคาญแทน เพราะพัดลมที่การันตีเสียงรบกวนทำงานไม่ได้ตามที่ระบุ คราวนี้เปลี่ยนพัดลมมาใช้ Noctua NF-A4x10 5V PWM ที่มีชุดต่อ USB เพิ่มเติมให้ในกล่องแทน

พัดลมตัวนี้ทำงานที่ระดับความเร็วรอบสูงสุด ที่ 5,000 rpm ระดับความดัง 19.6 dBA เพราะไม่ได้ต่อผ่านตัวควบคุมความเร็ว โดยต่อผ่าน USB power adapter และตัวมันไม่มีชุดปรับความเร็วรอบพัดลมแบบของ AC Infinity

ปัญหาคือ ในการต่อพัดลมรอบก่อนหน้านั้น ผมต่อแบบด้านบนดูดลมเข้าตัวพัดลม ซึ่งผ่านตัวหน้ากากเหล็กทำให้ได้เสียงที่ดังกว่าที่ควรจะเป็นอย่างมาก จากการทดสอบพบไม่ว่าจะใช้ AC Infinity MULTIFAN Mini Compact 40mm x 20mm USB หรือ Noctua NF-A4x10 5V PWM เสียงที่ได้หากต่อจากด้านนอกนั้นจะได้เสียงรบกวนที่มากขึ้น

แต่ถึงจะเป็นแบบนั้น ในระดับเสียงรบกวนของพัดลมทั้งสองตัวแบบระบายความร้อนตามปรกติไม่ได้ติดตั้งไปยังหน้ากากเหล็ก พัดลมของ AC Infinity จะมีเสียงรบกวนที่ยังคงกว่าพอสมควรอยู่ดี

คราวนี้เมื่อรู้ว่าการติดตั้งด้วยการติดจากภายนอกมันได้เสียงรบกวนที่ดังจนรับไม่ได้ ผมจึงแกะเครื่องแล้วตัดตั้งจากด้านในแทน แล้วเดินสายเชื่อมต่อสำหรับ USB ออกข้างนอก

หลังจากติดตั้งตัวชุดพัดลมตัวนี้แล้ว พัดลมตัวนี้ทำงานปล่อยเสียงรบกวนในระดับที่น่าพอใจ

สำหรับระดับความร้อนหลังจากติดตั้งไปแล้ว หากไม่เปิดแอร์จะอยู่ที่ประมาณ 50-52c แต่หากเปิดแอร์จะอยู่ที่ประมาณ 43-48c ซึ่งถือว่าดีกว่าตอนไม่ใส่พัดลม ที่ระดับ 75-80c หากไม่เปิดแอร์และ 60-65c เมื่อเปิดแอร์ ซึ่งกราฟก็สามารถดูได้จากด้านล่างนี้ เพราะระดับความร้อนทั้งสองช่วงนั้นไม่หนีกันมากสำหรับพัดลมทั้งสองตัวนี้

ติดพัดลมให้ MikroTik CRS326-24G-2S+RM ลดความร้อน แต่ได้เสียงน่ารำคาญแทน เพราะพัดลมที่การันตีเสียงรบกวนทำงานไม่ได้ตามที่ระบุ

จากตัว MikroTik CRS326-24G-2S+RM ปัญหาคือมันทำความร้อนได้ 75c เวลาเปิดแอร์ในห้อง หรือระดับ 80-90c หากปิดแอร์ ซึ่งในมุมมองผมค่อนข้างสูงมาก ซึ่งตัว Network Switch ตัวนี้ เป็นรุ่นที่ไม่ได้ติดพัดลมมาให้ ถึงแม้จะมีช่องให้ใส่เพิ่มเติมได้ แต่ก็ไม่มีช่องต่อไฟเลี้ยงพัดลมในตัวแผงวงจร ตามภาพด้านล่าง

MikroTik Routers and Wireless – Products: CRS326-24G-2S+RM

ความอยากถนอมตัวอุปกรณ์นี้จึงเกิดขึ้น คือการตามหาพัดลมขนาด 40mm ที่สามารถต่อผ่าน USB ได้แทน ก็ไปเจอพัดลมที่คาดว่าน่าจะตอบโจทย์คือยี่ห้อ AC Infinity รุ่น MULTIFAN Mini Compact 40mm x 20mm USB Fan

พัดลมตัวนี้เป็น 40mmx20mm ที่ต่อไฟผ่าน USB ได้ ซึ่งตัวมันรองรับการปรับระดับรอบของตัวพัดลมได้ 3 ระดับด้วย ช่วยลดเสียงรบกวนและรอบพัดลมก็จะลดลงตามระดับความดังที่ได้รับด้วย

สเปคตัวพัดลมจากผู้ผลิตระบุระดับเสียงรบกวน 18dB

เมื่อนำมาติดตั้งลงในรูปแบบที่จะไม่ต้องแกะเครื่อง ซึ่งจะทำให้ void ประกันเสียหายแบบด้านล่าง
(เพราะแม้จะใส่เข้าไปด้านในสวยงาม แต่จากภาพแผงวงจร ไม่มีช่องให้ต่อแหล่งจ่ายไฟจากที่ตัวบอร์ด PCB อยู่ดี)

จากผลการทดสอบระหว่างยังไม่มีพัดลมและมีพัดลม จะเห็นความร้อนที่เกิดจากตัวเครื่องลดลงชัดเจนมาก (ช่วง 10:00 – 10:38 เป็นช่วงเปลี่ยนใส่พัดลม)

แม้ความร้อนดีขึ้น แต่เสียงที่ได้กลับน่ารำคาญแทน พัดลมทำงานที่ความดังระดับเกือบ 70dB แม้จะเปิดใช้งานในรอบของพัดลมต่ำสุดก็ตามที 🤦‍♂️

สรุปว่าตัว AC Infinity MULTIFAN Mini Compact 40mm x 20mm USB Fan ไม่ผ่านในแง่สเปคในการลดเสียงรบกวน แม้จะทำงานด้านระบายความร้อนได้ดีก็ตาม คงต้องหาพัดลมตัวอื่นที่ทำงานได้เงียบกว่านี้แทน