ติดพัดลมให้ MikroTik CRS326-24G-2S+RM ลดความร้อน รอบที่ 2 ครั้งนี้ดีกว่าครั้งที่แล้ว

จากตอนที่แล้ว ติดพัดลมให้ MikroTik CRS326-24G-2S+RM ลดความร้อน แต่ได้เสียงน่ารำคาญแทน เพราะพัดลมที่การันตีเสียงรบกวนทำงานไม่ได้ตามที่ระบุ คราวนี้เปลี่ยนพัดลมมาใช้ Noctua NF-A4x10 5V PWM ที่มีชุดต่อ USB เพิ่มเติมให้ในกล่องแทน

พัดลมตัวนี้ทำงานที่ระดับความเร็วรอบสูงสุด ที่ 5,000 rpm ระดับความดัง 19.6 dBA เพราะไม่ได้ต่อผ่านตัวควบคุมความเร็ว โดยต่อผ่าน USB power adapter และตัวมันไม่มีชุดปรับความเร็วรอบพัดลมแบบของ AC Infinity

ปัญหาคือ ในการต่อพัดลมรอบก่อนหน้านั้น ผมต่อแบบด้านบนดูดลมเข้าตัวพัดลม ซึ่งผ่านตัวหน้ากากเหล็กทำให้ได้เสียงที่ดังกว่าที่ควรจะเป็นอย่างมาก จากการทดสอบพบไม่ว่าจะใช้ AC Infinity MULTIFAN Mini Compact 40mm x 20mm USB หรือ Noctua NF-A4x10 5V PWM เสียงที่ได้หากต่อจากด้านนอกนั้นจะได้เสียงรบกวนที่มากขึ้น

แต่ถึงจะเป็นแบบนั้น ในระดับเสียงรบกวนของพัดลมทั้งสองตัวแบบระบายความร้อนตามปรกติไม่ได้ติดตั้งไปยังหน้ากากเหล็ก พัดลมของ AC Infinity จะมีเสียงรบกวนที่ยังคงกว่าพอสมควรอยู่ดี

คราวนี้เมื่อรู้ว่าการติดตั้งด้วยการติดจากภายนอกมันได้เสียงรบกวนที่ดังจนรับไม่ได้ ผมจึงแกะเครื่องแล้วตัดตั้งจากด้านในแทน แล้วเดินสายเชื่อมต่อสำหรับ USB ออกข้างนอก

หลังจากติดตั้งตัวชุดพัดลมตัวนี้แล้ว พัดลมตัวนี้ทำงานปล่อยเสียงรบกวนในระดับที่น่าพอใจ

สำหรับระดับความร้อนหลังจากติดตั้งไปแล้ว หากไม่เปิดแอร์จะอยู่ที่ประมาณ 50-52c แต่หากเปิดแอร์จะอยู่ที่ประมาณ 43-48c ซึ่งถือว่าดีกว่าตอนไม่ใส่พัดลม ที่ระดับ 75-80c หากไม่เปิดแอร์และ 60-65c เมื่อเปิดแอร์ ซึ่งกราฟก็สามารถดูได้จากด้านล่างนี้ เพราะระดับความร้อนทั้งสองช่วงนั้นไม่หนีกันมากสำหรับพัดลมทั้งสองตัวนี้

ติดพัดลมให้ MikroTik CRS326-24G-2S+RM ลดความร้อน แต่ได้เสียงน่ารำคาญแทน เพราะพัดลมที่การันตีเสียงรบกวนทำงานไม่ได้ตามที่ระบุ

จากตัว MikroTik CRS326-24G-2S+RM ปัญหาคือมันทำความร้อนได้ 75c เวลาเปิดแอร์ในห้อง หรือระดับ 80-90c หากปิดแอร์ ซึ่งในมุมมองผมค่อนข้างสูงมาก ซึ่งตัว Network Switch ตัวนี้ เป็นรุ่นที่ไม่ได้ติดพัดลมมาให้ ถึงแม้จะมีช่องให้ใส่เพิ่มเติมได้ แต่ก็ไม่มีช่องต่อไฟเลี้ยงพัดลมในตัวแผงวงจร ตามภาพด้านล่าง

MikroTik Routers and Wireless – Products: CRS326-24G-2S+RM

ความอยากถนอมตัวอุปกรณ์นี้จึงเกิดขึ้น คือการตามหาพัดลมขนาด 40mm ที่สามารถต่อผ่าน USB ได้แทน ก็ไปเจอพัดลมที่คาดว่าน่าจะตอบโจทย์คือยี่ห้อ AC Infinity รุ่น MULTIFAN Mini Compact 40mm x 20mm USB Fan

พัดลมตัวนี้เป็น 40mmx20mm ที่ต่อไฟผ่าน USB ได้ ซึ่งตัวมันรองรับการปรับระดับรอบของตัวพัดลมได้ 3 ระดับด้วย ช่วยลดเสียงรบกวนและรอบพัดลมก็จะลดลงตามระดับความดังที่ได้รับด้วย

สเปคตัวพัดลมจากผู้ผลิตระบุระดับเสียงรบกวน 18dB

เมื่อนำมาติดตั้งลงในรูปแบบที่จะไม่ต้องแกะเครื่อง ซึ่งจะทำให้ void ประกันเสียหายแบบด้านล่าง
(เพราะแม้จะใส่เข้าไปด้านในสวยงาม แต่จากภาพแผงวงจร ไม่มีช่องให้ต่อแหล่งจ่ายไฟจากที่ตัวบอร์ด PCB อยู่ดี)

จากผลการทดสอบระหว่างยังไม่มีพัดลมและมีพัดลม จะเห็นความร้อนที่เกิดจากตัวเครื่องลดลงชัดเจนมาก (ช่วง 10:00 – 10:38 เป็นช่วงเปลี่ยนใส่พัดลม)

แม้ความร้อนดีขึ้น แต่เสียงที่ได้กลับน่ารำคาญแทน พัดลมทำงานที่ความดังระดับเกือบ 70dB แม้จะเปิดใช้งานในรอบของพัดลมต่ำสุดก็ตามที 🤦‍♂️

สรุปว่าตัว AC Infinity MULTIFAN Mini Compact 40mm x 20mm USB Fan ไม่ผ่านในแง่สเปคในการลดเสียงรบกวน แม้จะทำงานด้านระบายความร้อนได้ดีก็ตาม คงต้องหาพัดลมตัวอื่นที่ทำงานได้เงียบกว่านี้แทน

ประสบการณ์ใช้งานมา 1 ปี ของ Lamptan Smart Wi-Fi Bulb และ WiZ by Philips LED Bulb

เป็นประสบการณ์การใช้งานหลอดไฟ LED Bulb W-Fi ในระยะเวลา 1 ปี เป็นรีวิวขนาดสั้น ๆ จาก 2 ยี่ห้อ 3 แบบมาเล่าให้ฟัง เผื่อคนที่ผ่านมาอ่านจะได้นำไปตัดสินใจซื้อ อาจจะยี่ห้อนี้ หรือยี่ห้ออื่น ๆ ที่จะมีมาขายอีกในอนาคต

โดยมีรายการดังต่อไปนี้

  1. Lamptan Smart Wi-Fi Bulb Multi-Colour RGB White (2700K – 6500K) 11W (Tuya OEM)
  2. WiZ by Philips LED Bulb Tunable White (2700K – 6500K) 9W A60
  3. WiZ by Philips LED Bulb Colors/Tunable White (2700K – 6500K) 9W A60

Lamptan Smart Wi-Fi Bulb Multi-Colour RGB White (2700K – 6500K) 11W (Tuya OEM)

ตัวนี้เป็นตัวแรกสุดที่ซื้อมาใช้งานจำนวน 7 หลอด โดยใช้ในพื้นที่ในบ้านคือ

  • ห้องทำงาน 2 ห้อง ห้องละ 2 หลอด
  • ไฟชั้นสอง 2 หลอด
  • โคมไฟในห้องนอน 1 หลอด

WiZ by Philips LED Bulb Colors/Tunable White (2700K – 6500K) 9W A60

โดยใช้ในห้องนอนทั้ง 4 หลอด พร้อม remote

WiZ by Philips LED Bulb Tunable White (2700K – 6500K) 9W A60

จำนวนหลอดที่ใช้อยู่ 3 หลอด

  • ใช้กับไฟหน้าบ้าน จำนวน 1 หลอด
  • ใช้กับไฟในห้องนอนชั้นหนึ่ง จำนวน 2 หลอด พร้อม remote

เหตุผลที่ผมซื้อหลอดไฟแบบ Wi-Fi มาใช้ ไม่ใช่แค่มันเปิด-ปิดผ่านแอปได้เท่านั้น แต่มันยังเปลี่ยนสีได้ตามแต่รุ่น บางรุ่นก็ได้แต่โทนสี Cool Daylight ไปถึง Warm White และรุ่นเป็น Multi-Color แบบ RGB ฉะนั้นการใช้สวิตช์ไฟแบบ smart Wi-Fi จึงไม่ตอบโจทย์ความต้องการนี้

ซึ่งการที่หลอดไฟสามารถปรับเปลี่ยนสีได้หลากหลาย ปิด-เปิดได้ผ่านแอป ทำให้เราสามารถนำไปปรับโทนของห้องได้ โดยเฉพาะก่อนนอน ผมจะปรับโทนของบ้านทั้งหลังให้เป็นไฟ warm เพื่อเลี่ยงแสงสีฟ้า ช่วยทำให้ร่างกายปรับตัวพร้อมนอนได้ดีมากขึ้น ซึ่งช่วยให้เราหลับได้ง่ายกว่าจริง ๆ และในบางครั้งทำงานอ่านหนังสือ ก็ปรับค่า K ให้เหมาะสมกับการทำงาน-อ่านหนังสือได้ หรือบางครั้งดูหนังก็ปรับความสว่างให้เหมาะกับโทนของความบันเทิงได้เช่นกัน

และสำหรับ WiZ ที่ตอนนี้เลือกใช้เป็นหลักแทน Lamptan เพราะ มี WiZ remote ซึ่งเป็นรีโมตคล้าย ๆ กับรีโมตทีวี ช่วยในการเปิด-ปิด และตั้ง profile เฉพาะ 1-4 ช่วยให้เราไม่ต้องเปิดแอปบนมือถือ หรือลุกไปที่สวิตช์ไฟแบบเดิม ๆ ซึ่งในตอนแรกที่ผมใช้หลอดไฟ Lamptan นั้น ไม่มีรีโมตก็มีความไม่สะดวกอยู่บ้างในตอนเช้าที่ต้องหามือถือมาเปิดไฟ แต่พอปรับเป็น WiZ แล้ว มันง่ายขึ้นมาก เราแค่ควานหารีโมตแถว ๆ โต๊ะข้างเตียงแล้วกดปุ่มในจุดที่คุ้นเคยก็เปิดไฟได้แล้ว

จุดที่ผมคิดว่ามีประโยชน์ไม่แพ้กัน คือการนำไปใช้กับไฟหน้าบ้านในจุดที่แสงอาทิตย์เข้าไม่ถึง แล้วต่อกับ Home Assistant ให้เปิด-ปิด และปรับความสว่างไฟตามเวลาที่กำหนด ช่วยให้ประหยัดไฟ และเพิ่มความปลอดภัยให้กับบ้านด้วย เพราะการเปิด-ปิดไฟทำผ่าน Home Assistant โดยตรงไม่ต้องให้คนมาเปิด-ปิดอีก

และสำหรับจุดที่แสงแดดเข้าถึง ผมก็ใช้หลอดไฟ LED light sensor แทนในการให้มันเปิด-ปิดไฟ ซึ่งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของตัวหลอดไฟไปได้กว่า 50% เลยทีเดียว

โดยสรุปในภาพรวมของการใช้งาน

  1. หลอดไฟทั้ง 3 รุ่น 2 ยี่ห้อ ตัวทำงานผ่าน Wi-Fi 2.4GHz ทั้งหมด
  2. สามารถสั่งการผ่านแอปทั้งหมด ไม่ต้องซื้อ Hub ควบคุมเพิ่มเติม
  3. ความสามารถของแอป และการปรับแต่ง WiZ ง่ายกว่า Smart Life (Tuya OEM)
  4. ความเสถียร WiZ มีมากกว่าพอสมควรทั้งแอป และตัวอุปกรณ์
  5. การทำงานร่วมกับ automation อื่น ๆ ไม่หนีกันมาก Tuya เคยทำได้เยอะมากผ่าน IFTTT แต่ตอนนี้น่าจะน้อยลงเยอะ และต้องพึ่งพา Home Assistant แทน แต่ Tuya Cloud ก็เรื่องมากขึ้นทุกวัน ก็คิดว่าหนีไปตัวที่ open มากกว่าก็น่าจะดี
  6. ความสว่าง แม้ว่า Lamptan จะบอกว่า 1,000lm และ WiZ แจ้ง 800lm แต่รู้สึกได้ว่าความสว่างมันพอ ๆ กัน
  7. ราคา WiZ แพงกว่า Lamptan อยู่ที่ 100-200 บาท แต่จากประสบการณ์ที่ใช้งานมา คิดว่า WiZ คุ้มค่ากว่าหากจะซื้อใช้ในหลอดถัด ๆ ไป
  8. สำหรับคนที่ไม่ได้ต้องการเชื่อมต่อหลาย ๆ ยี่ห้อ หรืออุปกรณ์ให้ทำงานร่วมกันได้ ก็ไม่จำเป็นต้องติดตั้งระบบ Home Assistant แต่ใช้ผ่านแอปของยี่ห้อนั้น ๆ ในการควบคุมก็ได้ ซึ่งเหมาะกับคนเริ่มต้นใช้งาน หากเพียงพอก็ไม่ต้องลงทุนเพิ่มเติมในอนาคต
  9. Lamptan ที่ซื้อมา 6 หลอดต้องเอาไปเคลมเปลี่ยนหลอดใหม่ยกชุดภายในเวลา 6 เดือน แต่หลังจากเคลมกลับมาก็ไม่มีเสียอีก (หลังจากใช้งานมา 6 เดือน)
  10. หลอดไฟในรีวิวนี้ผ่าน มอก. ทั้งหมด

เปรียบทียบ Microsoft Pro IntelliMouse และ Microsoft Classic IntelliMouse

ในไทยมี Microsoft Classic IntelliMouse ขายอยู่มาปีกว่า ๆ แล้ว แต่ Microsoft Pro IntelliMouse นั้นยังไม่ได้เอามาขายสักที ส่วนตัวผมสั่ง ตัว Pro IntelliMouse มาใช้งานตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว จนถึงวันนี้ (วันที่ลง blog) ทาง Microsoft ก็ยังไม่เอามาขายสักที จนราคาที่ญี่ปุ่นมันลงมาจนทำราคาได้ดีขึ้นมาก (ถูกลงมากว่า 1,000 บาท รวมค่าส่งและภาษี) ก็เลยเอาข้อมูลมาลงอีกรอบใน blog เปรียบเทียบทั้งสองตัว

  1. ตัว Sensor
    Pro เป็น PixArt PAW 3389PRO-MS รองรับ DPI 16,000 (200-16,000), polling rate 1,000Hz และ refresh rate 12,000 FPS
    การปรับเปลี่ยน DPI ทำผ่านปุ่มด้านซ้ายที่เป็น shortcut key ผ่าน software driver เช่นกัน
    Classic เป็น PixArt PAW 3808EK BlueTrack รองรับ DPI 3,200 (400-3,200) และ polling rate 1,000Hz
  2. ตัว Switch
    Pro ใช้ Omron D2FC-F-7N (การันตี 20 ล้านคลิ๊ก)
    Classic ใช้ Omron 70g (การันตี 10 ล้านคลิ๊ก)
  3. ยางที่ใช้ใช้ทำกริป Pro ใช้ของคุณภาพดีกว่า Classic
  4. ตัวไฟ LED ท้าย mouse ของ Pro เป็น RGB ปรับเปลี่ยนสีได้ผ่าน software driver
  5. สายของ Pro เป็นสายผ้าแบบถัก ส่วนของ Classic เป็นยาง
  6. งานสี งานออกแบบ และงานประกอบ Pro ดีกว่า Classic

ว่ากันง่ายๆ ด้วย sensor และการเลือกใช้ switch ก็พอสรุปได้ว่า “Pro คือ Gaming mouse ส่วน Classic คือ Office mouse”

จากการใช้งานมา 4-5 เดือน Pro IntelliMouse สามารถใช้แทน Gaming mouse ในระดับราคาใกล้ๆ กันได้ดี แน่นอนว่าตัวปุ่ม และลูกเล่นอาจจะเทียบกับกลุ่มที่ทำออกมาเฉพาะได้ยากหน่อย แต่ถ้าคุณชอบแนวการออกแบบของ Pro IntelliMouse ดั่งเดิม ที่มาพร้อมกับ sensor ที่แม่นยำและปุ่มที่ทนทาน เป็นตัวเลือกที่ดีตัวหนึ่ง

สำหรับราคา

  • Microsoft Classic IntelliMouse ราคาขาย $39.99 ราคาในไทยประมาณ 1,390 บาท
  • Microsoft Pro IntelliMouse ราคาขาย $59.99 ยังไม่มีจำหน่ายในไทย ส่วนตัวสั่งผ่าน Amazon JP ซึ่งรวมค่าส่งและภาษีแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 2,3xx บาท ราคาเดือน 8 ปี 2019 (ข้อมูล ณ วันที่ 28/1/2020 ลงมาอยู่ไม่เกิน 1,500 บาทแล้ว โดยรวมค่าส่งและภาษีแล้ว)

รีวิว Xiaomi Mi AirDots

ได้ Xiaomi Mi AirDots มาใช้งานประมาณ 1 เดือน ก็เลยคิดว่ารีวิวจากประสบการณ์ใช้งานจริงสักหน่อยว่าเป็นอย่างไรบ้าง

ผมจะเขียนเป็นข้อ ๆ ไปน่าจะดีกว่า ชอบและไม่ชอบจะปน ๆ กันไป

  1. ตัวนี้ได้ราคามาประมาณ 1,2xx บาทเห็นจะได้ ฝากร้านเค้าหิ้วมาจากจีน
  2. ในกล่องบรรจุภัณฑ์มีจุกหูฟังสำรองมาให้พร้อมกับ USB to micro USB สำหรับชาร์จ ที่เป็นสายเล็ก ๆ มาให้พร้อมใช้งาน
  3. ตัวที่ได้เป็นสีขาว ตัวหูฟังตอนแรกคิดว่าจะสกปรกง่าย พอใช้ไป ก็พอไหว ไม่แย่มาก
  4. หูฟังเป็นแบบ In-Ear ตัวหูฟังกระชับกับหูดี ใส่แล้วไม่หลุดง่าย แต่ขนาดที่มันเล็กไปหน่อย การถอดใส่ เข้า-ออก ลำบากพอสมควรเพราะมือมักไปโดนตัว touch control ทำให้หยุดเล่นเพลงได้ง่ายมาก ก็รำคาญพอสมควร
  5. กล่องใส่เบากว่าที่คิดไว้ ขนาดกำลังดีใส่กระเป๋าเสื้อได้ กระเป๋ากางเกงก็พอไหว โดยภายในช่องใส่หูฟังเป็นแม่เหล็กช่วยดูดหูฟังลงกล่องพร้อมยึดกับกล่องไม่ให้หลุดออกมา
  6. เปิดกล่องเอาหูฟังใส่หูแล้ว pair เสียงพูดเป็นภาษาจีน และเปลี่ยนไม่ได้ แรก ๆ ก็รำคาญ หลัง ๆ เริ่มชิน
  7. การชาร์จให้แบตเตอรี่ที่หูฟังเต็มจากตัวกล่องจะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง สำหรับด้านความจุของแบตเตอรี่ที่ตัวหูฟังรองรับการฟังเพลงได้ประมาณ 4 ชั่วโมง และความจุของแบตเตอรี่ที่ตัวกล่องรองรับชาร์จได้ประมาณ 12 ชั่วโมง
  8. ตัวหูฟังซ้าย-ขวาอิสระจากกันแบบ True Wireless อยากใช้ข้างเดียวก็ได้ หรือทั้งสองข้างก็ได้ จากประสบการณ์ที่ใช้จะ pair ข้างขวาเป็นหลัก ส่วนข้างซ้ายจะมาต่อกับข้างขวาต่ออีกทีหนึ่ง
  9. การฟังเพลง ด้วยความที่ใช้ Sony Xperia XZ1 ที่เป็น Bluetooth 5.0 เช่นเดียวกัน พอใช้ไปแล้วเปิดเชื่อมต่อ มักจะเจอเหตุการณ์เสียงขาด ๆ หาย ๆ อยู่เสมอ ในสภาพแวดล้อมทั้งบนรถไฟฟ้า หรือใน Taxi ระหว่างการเดินทาง แม้แต่นั่งทำงานอยู่ก็ยังเจออยู่บ้าง และหากเจอหนักมาก ๆ บางครั้งหลุดหายไปเลยก็มี ทางแก้ไขที่ทำ ณ ตอนนี้คือ เปิด-ปิดใหม่ บางครั้งต้องเปิด-ปิดซ้ำ 3-4 รอบถึงจะกลับมาเสถียร และเป็นอาการที่เจอได้ทุกวันจนทำใจแล้ว
  10. ระยะทำงานของมันกับมือถือถ้าต่อกันได้แล้วประมาณ 8 – 10 เมตรเห็นจะได้
  11. คุณภาพของไมค์โครโฟนอันนี้สอบตกแทบใช้งานไม่ได้เลย พอจะโทรศัพท์ต้องเปลี่ยนมาใช้ผ่านมือถือเอาแทน ตัวหูฟังให้คุณภาพเสียงส่งให้ผู้ฟังปลายทางได้แย่มาก จับใจความได้ลำบาก
  12. คุณภาพเสียงที่ได้ ก็พอไปวัดไปวาได้ ไม่ได้ดีมากหรอก มีเบสพอตัว กลางกับแหลมก็พอไหว
  13. การควบคุมผ่าน touch control ทำได้ 4 แบบ ซึ่งบางครั้งก็ลำบากในการใช้งาน ด้วยขนาดที่เล็กของมันตามข้อข้างต้น
    • 1 tap คือ เล่นเพลง, หยุดเพลง หรือรับสาย
    • 2 tap คือ ใช้ voice assistant
    • tap ค้าง ประมาณ 3-5 วินาที ไว้คือตัดสายที่กำลังโทรเข้ามา
    • tap ค้าง ประมาณ 10 วินาทีคือปิด

จุดสำคัญที่สร้างความรำคาญที่เป็นจุดใหญ่คือ อาการเสียงขาด ๆ หาย ๆ ที่เจอบ่อย เวลาอารมณ์กำลังดี ๆ แต่เจอเสียงขาด ๆ หาย ๆ จนทำให้อารมณ์เสียก็มี ด้วยความที่ผมมี Sony SBH56 ที่เป็นชุดหูฟัง Bluetooth ซึ่งใช้งานมาก่อนหน้านี้ ก็ไม่เจอมากมายขนาดนี้

สรุป ราคาประมาณพันกว่าบาท กับอะไรประมาณข้างบน ก็คงบ่นอะไรมากไม่ได้ คุณภาพก็ตามราคากันไป ถ้ายอมรับข้อเสียมันได้ ก็ถือว่าไม่แพง คุ้มค่า แต่ถ้ารับไม่ไหว นี่แทบจะโยนทิ้ง (╯°□°)╯︵ ┻━┻