ลิขสิทธิ์ในผลงานรับจ้างฟรีแลนซ์

ปรกติรับจ้างพัฒนาซอฟต์แวร์ในรูปแบบ “ฟรีแลนซ์” ตัวผลงานที่ออกมา จะอ้างอิงจากตัวลิขสิทธิ์ของการ “รับจ้างทำของ” ซึ่งทำให้ตัวผลงานนั้นเป็นของผู้ว่าจ้าง ไม่ใช่ของผู้สร้าง แต่เราก็สามารถทำเอกสารสัญญาเพิ่มเติมได้

ฉะนั้น เวลามีคนมาปรึกษาเรื่องรับจ้างพัฒนาซอฟต์แวร์ ผมจะแนะนำให้ทำเอกสารสัญญาพ่วงท้ายตกลงความเป็นเจ้าของให้ชัดเจนไปเลย ลงรายละเอียดในระดับ library, framework และ UI ด้วยเพื่อป้องกันความฟ้องร้อง หรืออ้างสิทธิ์ที่ไม่ชัดเจนภายหลัง

ตัวอย่าง

  1. ตัว UI โดยเฉพาะ web template มักจะมีประเด็นบ่อย เพราะบางครั้งเราซื้อสำเร็จรูปมา ก็ต้องลงไว้ว่าสำเร็จรูปมาจากที่นี่ ไม่งั้น เวลาคนว่าจ้างไปเห็นเหมือนกับตัวเอง เค้าจะมาฟ้องเราได้ ทั้ง ๆ ที่เราซื้อลิขสิทธิ์เป็นรายครั้งจากเว็บขายต่าง ๆ แยกลูกค้าแต่ละรายต่างหาก และกันความเข้าใจผิดว่าเราเอางานเค้าไปขายต่อ ทั้ง ๆ ที่ work flow ต่าง ๆ ในตัวโปรแกรมคนละอย่างเลย เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องทำไว้กันโดนฟ้อง
  2. library ที่สร้างใช้งานเอง หรือ plugin เฉพาะที่เราสร้างขึ้นมา อันนี้ก็ต้องลงไว้ ว่าเราให้สิทธิ์ใช้งานในโครงการนี้ และมิใช่การขายสิทธิ์ให้ผู้จ้าง รวมไปถึงการกระทำใด ๆ กับ library ชุดนี้จนทำให้เราเสื่อมสิทธิ์ไป เพราะผมเชื่อว่ามีหลายคนทำงานรับงานกันก็มักจะมี library หลายตัวที่มักใช้ซ้ำ ๆ เพื่อความรวดเร็วในการทำงาน ซึ่งบางตัวก็พัฒนาเฉพาะเพื่อให้สะดวกมากขึ้น
  3. ระบุว่า ผู้ว่าจ้าง มีสิทธิในเนื้องานระดับใด เช่น ทำซ้ำ แก้ไข ดัดแปลง เผยแพร่ ต่อยอดผลงาน หรือจำหน่ายจ่ายแจก ได้ไหม ตัวไหนไม่ควรก็ตัดออก เอาเฉพาะที่เค้าควรได้รับสิทธิ์ นอกเหนือจากนั้นก็ตกลงกันว่าจะเพิ่มเงินตามสิทธิ์ที่เพิ่มขึ้น
  4. ในส่วนของตัวซอสโค้ด ตรงนั้นต้องชัดเจนว่าการแก้ไข-ดัดแปลง หากเรารู้สึกว่าควรจะเป็นเราที่ควรแก้ไขได้เพียงผู้เดียวก็ลงไว้ หากมีการแก้ไขโดยไม่ใช่เรา ให้ถือว่าหมดประกัน และละเมิดลิขสิทธิ์
  5. จากข้อที่ 3. – 4. หากในตัวเนื้องานของเรา มีการใช้ library ภายนอกทั้งที่เป็น open source หรือ proprietary นอกเหนือจาก library พื้นฐานของภาษานั้น ๆ ควรตรวจสอบสัญญาณลิขสิทธิ์ให้ดีก่อนใช้งาน และพ่วงสัญญาพวกนี้ลงในสัญญาหลักด้วย เพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต หากเจ้าของลิขสิทธิ์ library นั้น ๆ เค้าขอตรวจสอบ ซึ่งตรงนี้สำคัญ แม้จะเกิดขึ้นได้น้อย แต่ก็มีสิทธิ์ที่จะโดนได้หากใช้งานแล้วไม่ได้ตรวจสอบก่อน

จากที่ยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นว่ามันสำคัญมาก ๆ กับข้อสัญญาก่อนว่าจ้าง ดูเรื่องมากแต่ไม่ชวนปวดหัวภายหลัง เพราะตอนว่าจ้าง ทำงานก็จากกันด้วยดี แต่ตอนมีปัญหานี่ก็อีกเรื่อง

จาก “ซอฟต์แวร์ผิดกฏหมาย” สู่ “แอพตู้” ต้องดราม่าก่อนถึงเปลี่ยนแปลง

จากกระแส ว่าด้วยการซื้อซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์อย่าง Microsoft Office 2007 และตามด้วย ซอพต์แวร์ผิดกฏหมาย (เพราะอย่างนี้ไง ไทยเลยไม่เจริญ) ที่ blognone.com จนเป็นที่มาของ สิ่งที่ห้ามพูดในสังคมคน IT ของไทยตอนนี้ ? มาในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา ก็ได้มาถึง [ดราม่า] รู้จักกับ Activation Lock ฟีเจอร์ใหม่ใน iOS 7 หายนะสำหรับผู้ลงแอพร้านตู้ จนเป็นที่มาของ [Ask Blognone] อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้คนลง “แอพตู้”? ที่ blognone.com

ส่วนตัวแล้วนั้น ตัวเรื่อง “แอพตู้” คงต้องให้เวลาสักพักคงดีขึ้น คนใช้งานคงเริ่มตระหนักกันเพิ่มมากขึ้น แบบเดียวกับ “ซอพต์แวร์ผิดกฏหมาย” ในโลก PC ที่เป็นกระแสเมื่อหลายปีก่อนจนตอนนี้กลายเป็นเรื่องปรกติไปแล้วในสังคมบางส่วน ที่มองว่าซอฟต์แวร์ที่ต้องจ่ายเงินซื้อ เป็นเครื่องมือหนึ่งที่จำเป็นในการคิดเป็นต้นทุนในการทำงาน หรือถ้าต้องการลดต้นทุนก็เลือกซอฟต์แวรทางเลือกใช้งานแทน เพื่อไม่ให้ผิดกฎหมายลิขสิทธิ์มากขึ้น ทำให้ทิศทางต่องานประเภทนี้ดีขึ้นบางส่วน อีกทั้งการหาซอฟต์แวร์ที่เป็นแบบกล่องก็หาได้ง่ายขึ้น มีขายตามหนังสือ-ร้านคอมพิวเตอร์ชั้นนำ ที่ขายหลากหลายประเภทมากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งยังมีงานเปิดตัวในไทยแบบเดียวกับทั่วโลก มีประกาศตามสื่อต่างๆ มองว่าเป็นเป็นทิศทางที่ดีต่อสังคม ไม่ต้องโดนคำถามว่า “ก็ไม่รู้จะซื้อที่ไหน” ให้นั่งปวดหัวแบบเดิมๆ ส่วนการซื้อแบบดาวน์โหลดก็เป็นทิศทางที่ดีขึ้นและเป็นที่นิยมมากขึ้น เพราะซื้อง่าย โหลดใช้สะดวก ราคาถูกกว่าแบบกล่อง โดยมีทั้งแบบเช่าใช้ และแบบ Download version แล้วส่ง CD/DVD ตามหลังมา (จ่ายเงินเพิ่ม) ก็สุดแล้วแต่กำลังทรัพย์และความคุ้มค่าที่แต่ละคนเข้าใจ

สำหรับดราม่า “แอพตู้” จะได้รับการเผยแพร่ และช่วยสร้างมาตรฐานต่อไปในอนาคตในเรื่องของการเปิด Account/ID ที่ผูกติดกับตัวเครื่องที่มีทิศทางที่ดีมากขึ้น ร้านค้าต่างๆ ที่ขายเครื่องที่ต้องเปิด Account/ID เหล่านั้น (ทุกค่าย ทุกยี่ห้อ ที่ใช้หลักการนี้) จะถูกสังคมและบริษัทที่ดูแลเครื่องนั้นๆ สั่งให้ใส่ใจต่อเรื่องนี้เพิ่มมากขึ้น โดยมิใช่แค่มุ่งเน้นเพียงช่วยให้ซื้อและอัพเดทแอพได้สะดวกเท่านั้น แต่ยังช่วยในการสือค้นเครื่องเมื่อหาย ช่วยสำรองข้อมูลเมื่อเครื่องมีปัญหา หรือแม้แต่ช่วยให้การย้ายเครื่องไปใช้เครื่องใหม่ได้อย่างง่ายดายมากขึ้น

เมื่อดราม่าเกิดแล้ว ถ้าปล่อยเลยไปก็คงน่าเสียดาย ส่วนตัวควรใช้เหตุการณ์นี้ให้เป็นโอกาส โดยการออกเอกสารแนะนำการสมัครใช้งานอย่างถูกต้องที่อธิบายแบบง่ายๆ รวมถึงอบรมพนักงานและออกระเบียบในการช่วยลูกค้าสมัคร Account/ID เหล่านั้น เพื่อความต่อเนื่อง ทั้งยังใช้กระแสเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ ซึ่งแน่นอนว่าต้องช่วยลูกค้าที่ไม่เป็น หรือไม่เข้าใจในการสมัครใช้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งจะเป็นมาตรฐานของการซื้อสินค้าแนวนี้ต่อไปในอนาคตอย่างแน่นอน (ใครโดนคิดเงินเพิ่มก็คงมีการฟ้องต่อโลก social network เป็นดราม่ากันต่อไปแน่นอน) ซึ่งข้อดีอีกอย่างของเรื่องนีต่อตัวร้านค้าคือการที่ลูกค้ามี Account/ID ที่ถูกต้องจะช่วยให้ได้รับการสนับสนุนด้านการสำรองข้อมูลกับระบบ Cloud ที่มือถือที่ผูกติดกับ Account/ID ในปัจจุบันนั้น มีความสามารถในการสำรองข้อมูลสำคัญเหล่านี้ไว้พร้อมแล้ว ซึ่งช่วยให้ร้านค้าและผู้ให้บริการไม่ต้องกังวลต่อข้อมูลสำคัญส่วนใหญ่ที่จะเสียหายเมื่อเข้ารับบริการกับตนอีกด้วย โดยข้อมูลส่วนใหญ่ที่มักจะได้รับการสำรองข้อมูลบน Cloud นั้นได้แก่ Contact, Calendar, Message, App และค่า Settings ต่างๆ ซึ่งบางรุ่นหรือการตั้งค่าเพิ่มเติมสามารถสำรองข้อมูลพวกรูปภาพ ฯลฯ ได้อีกด้วย

ก็หวังว่า “แอพมือถือ” และกระแส “เปิดใช้งาน Account/ID อย่างถูกต้อง” จะมีทิศทางที่ดีขึ้นหลังจากกระแสดราม่าดังกล่าวเช่นเดียวกับกระแสดราม่า “ซอพต์แวร์ผิดกฏหมาย” เมื่อหลายปีก่อนเช่นกัน ;)

เราซื้อ "สิทธิ์" ในการใช้งานสื่อนั้นๆ เป็นหลัก เราไม่ได้เป็นเจ้าของทั้งหมด

จาก [ลือ] ไมโครซอฟท์อาจบังคับให้ร้านขายเกมจ่ายค่า Activate เกมมือสองแทนผู้เล่น เป็นวิธีคิดที่ดีในสภาพตลาดที่บัญชีผู้ใช้งานเกม หรือระบบต่างๆ ยึดเข้ากับตัวซอฟต์แวร์เป็นเรื่องปรกติไปแล้ว เพราะต้องย้อนกลับมาว่าวิธีคิดในการซื้อ-ขายซอฟต์แวรนั้นบนฐานแบบซื้อ-ขายรถ บ้านหรือสิ่งของที่มีค่าเสื่อมไม่ได้ เนื่องจากพวกซอฟต์แวร์ ภาพยนตร์ เพลง และรูปภาพนั้นไม่มีค่าเสื่อมของสิ่งที่คัดลอกข้อมูลมาเลย ซึ่งต้องอย่าลืมว่าเมื่อเราคัดลอกมานั้นทุกๆ ฟังค์ชั่นและการทำงานทุกๆ อย่างยังทำงานได้สมบูรณ์ตามต้นฉบับทั้งหมด และรวมไปถึง “สิทธิ์” การใช้งานยังคงอยู่ครบเสมอ แม้จะมีคนแย้งว่าสื่อดิจิตอลเหล่านั้นมันเก่าแล้ว มันล้าสมัย แต่มันต้องให้กลไกตลาดทำให้สื่อเหล่านั้นลดราคาลงเองโดยไม่เกี่ยวกับค่าเสื่อมในแบบมุมคิดของสิ่งของตามปรกติ แต่ให้มองเป็นค่าเสื่อมจากความนิยมในตัวมันเองเป็นสำคัญ ดูง่ายๆ ว่าเพลงที่ยังคงมีความนิยมอยู่เรื่อยๆ จะราคาไม่แตกต่างจากเมื่อวันที่ออกมากนัก ใครซื้อเพลงจะพอทราบ และถ้าได้เคยซื้อพวก stock photo มาใช้งานจะเข้าใจได้ดี เพราะเราซื้อ “สิทธิ์” ในการใช้งานสื่อนั้นๆ เป็นหลัก เราไม่ได้เป็นเจ้าของทั้งหมด

ถ้าเข้าใจหลักคิดข้างบอกนนี้ จะพอเข้าใจว่าทำไมเกมมือสองในอนาคตตามข่าวข้างต้นถึงคิดแบบนี้ เพราะตลาดสื่อดิจิตอลที่การคัดลอกจะเอาไปทุกๆ บิตข้อมูลและเหมือนต้นฉบับทุกประการ ราคาการซื้อ-ขายจึงได้อยู่ในช่วงของราคามือหนึ่งหรือลดลงบ้างแต่มีค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนมือแทนจากการโอนย้ายจากบัญชีผู้ใช้งานคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่งแทน

ความคุ้มค่าของ Software แบบ Subscription

ผมซื้อและแนะนำคนซื้อ Software แบบ Retail มาก่อน เลยมีประสบการณ์ว่าราคาแบบ Subscription นั้นคุ้มค่ากว่า

ส่วนตัวแล้วนั้นพอเห็น Subscription ผมก็แนะนำตัวนี้แทนมากกว่า ลองนึกภาพตามนะว่า ถ้าคุณซื้อแบบ Retail จะคุ้มก็ต่อเมื่อคุณซื้อตอนมันเริ่มออกมาใหม่ๆ หรือไม่เกิน 6 เดือนแรกที่มันขาย และนำมาใช้งานอย่างจริงจัง แต่ถ้าจะเอาให้คุ้มจริงๆ ต้องฝึกใช้งานตั้งแต่มันออก Public Beta เลย แล้วพอมัน Release ขายจริงคุณค่อยไปซื้อมาใช้ตอนเปิดตัวเลย แต่นั้นหมายความว่า Software ที่คุณซื้อต้องสร้างผลกำไรต่องานคุณได้มากจนสามารถคืนทุนตัว Software เหล่านี้ได้ภายใน 3-6 เดือน และนั้นหมายถึงเนื้องานของคุณมีต้นทุนแบบเดียวกับอุปกรณ์รอบตัวคุณเช่นกัน

ประเด็นคือ Software แบบ Subscription นั้นไม่ใช่ให้มาแค่ลงติดตั้งและใช้งานเหมือน Retail เท่านั้น แต่ส่วนใหญ่ Subscription จะมาพร้อมกับความยืดหยุ่นในการใช้งานที่สูงกว่าเช่น การย้าย Platform, การย้ายเครื่อง, ภาษาที่สนับสนุน และบริการอื่นๆ ที่ช่วยในการย้ายไฟล์ระหว่างเครื่องผ่าน Cloud และบางบริการให้พื้นที่เก็บข้อมูลบน Cloud อีกด้วย ซึ่ง Retail โดยส่วนใหญ่จะไม่มี หรือต้องซื้อเพิ่มเป็นการเช่ารายเดือนต่างหากอีกรอบเช่นกัน

ถ้ามองในภาพรวมทั้งหมดแล้ว Subscription นั้นจะค่อยๆ จ่ายไปเรื่อยๆ โดยรวมแล้วถูกกว่าแบบ Retail พอสมควร และทำให้เราเอาเงินส่วนต่างที่ต้องจ่ายหนักๆ นำกลับไปสร้างมูลค่าเพิ่มในด้านอื่นๆ ได้

Software เป็นแบบ Subscription (เช่าใช้งาน) ทางออกของการขาย Software ในปัจจุบันและอนาคต

Office 365 และ Office 2013 วางขายผ่านเว็บไมโครซอฟท์ประเทศไทยแล้ว หรือล่าสุดอย่าง Adobe ยกเลิก Creative Suite ต่อไปนี้จะกลายเป็น Creative Cloud ส่วนตัวผมก็รอ Creative Cloud แบบ End User อยู่ เอาแบบไม่ต้องกรอกหลอกระบบว่าอยู่สิงค์โปร์เนี่ยแหละครับ

ส่วนตัวแล้วจ่ายได้นะเดือนละ 100-1,500 บาทโดยประมาณกับการได้ software ครบชุดแบบนี้ จ่ายสบายๆ เดือนแค่นี้ กับการรับงานแล้วได้เงินมากกว่านี้หลายเท่าตัว (ก่อนหน้านี้จ่าย Office 365 Small Business Premium ไปแล้วเดือนละประมาณ 400-450 บาท)

การที่ Software เป็นแบบ Subscription (เช่าใช้งาน) เป็นการมองว่าต่อไป Software จะเป็นเหมือนองค์ประกอบหนึ่งของการทำธุรกิจที่ไม่ต่างจาก น้ำ, ไฟฟ้า หรืออาคารสำนักงานให้เช่าใจกลางเมือง อะไรแบบนั้น

แนวโน้มของ Software จะไปในแนวทาง Subscription (เช่าใช้งาน) มากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อลดปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ การ update/upgrade ที่ทำให้ Software ทำงานได้สมบูรณ์ที่สุด ตัดช่องทางการขายผ่าน Dealer ที่ช้าและมัก Support ไม่ดี ใช้การ Support แบบ online แทน ทำให้บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์เห็นถึงความต้องการของผู้ใช่งานได้มากขึ้นด้วย (เจอมาเยอะ เบื่อมาก กว่าจะได้คำตอบ ทวงแล้วทวงอีก)

ใครใช้เถื่อนก็เตรียมปรับตัวกันได้แล้วแหละ เพราะของเก่าๆ ทำงานได้ ยัง crack ได้ มันก็ยังใช้งานได้แหละ แต่ถ้าคุณต้องการอะไรใหม่ๆ ทำงานได้ราบรื่นกับลูกค้า หรือทีมงานบริษัทอื่นๆ ที่ทำงานบน Software ตัวล่าสุดเสมอผ่าน Subscription program พวกนี้ ผมว่าคุณคงต้องจ่ายกันแล้วหล่ะครับ