เกือบ 2 ปี กับการย้ายจาก Notebook มาเป็น Desktop + Notebook เป็นอย่างไรบ้าง

จาก blog เก่าที่เขียนไว้เมื่อช่วงปลายปี 2020 เรื่อง Desktop PC ตัวใหม่ เพื่อปรับการทำงานเป็น Desktop + Notebook แทน ซึ่งจากวันนั้นจนถึงวันนี้ ถือเป็นการตัดสินใจที่ค่อนข้างถูกต้อง และถูกเวลาพอสมควรในช่วงนั้น

เพราะหลังจากช่วงนั้น ก็เข้าสู่ช่วงโควิดในอีกไม่นานนัก ทำให้ต้องทำงานแบบ WFH และการใช้งาน desktop ที่สเปคแรงกว่า คือด้วย performance ณ วันที่ซื้อ ตัว CPU notebook กับ desktop นั้น ตัว desktop มันแรงต่างกันเกือบ 4 เท่าได้ ประกอบกับการดูแลรักษา และการปรับแต่งต่างๆ ก็ทำได้ง่ายกว่า หากเสีย หรือต้องซ่อม ตัวอย่างคือ ะช่วงปีที่ผ่านมา desktop PC เจอว่า power supply เสียพอดี เลยได้เวลาเปลี่ยนทั้ง case ไปด้วยในตัว คราวนี้ใส่พัดลมมีไฟตามสมัยนิยมไปเลย ก็แปลกตา ตอนแรกไม่ชอบ แต่ก็เบื่อความจำเจ ก็เลยใส่ ๆ ไปสักหน่อย แก้เบื่อ ซึ่งก็ซ่อมผ่านมาได้ด้วยดี เพราะซ่อมและประกอบย้าย case เอง ทำให้เราแก้ไขเรื่อง power supply เสียได้ในเวลาเพียง 1 วันเท่านั้น

ซึ่งหากจะว่าไป ชีวิตผมก็อยู่กับ notebook มาอย่างยาวนานตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยรวม ๆ แล้วใช้ชีวิตกับ notebook ประมาณ 17 ปี โดยประมาณ ไล่ ๆ เอาจากรายการที่ซื้อใช้งานเองก็ 5 เครื่อง (ที่เค้าให้ยืมมาไม่นับนะ)

  1. Compaq Presario,Presario 715 ใช้ประมาณ 1 ปี
  2. ThinkPad R40 ใช้ประมาณ 3 ปี 6 เดือน
  3. ThinkPad Z61t ใช้ประมาณ 4 ปี
  4. ThinkPad T420 ใช้ประมาณ 5 ปี 2เดือน
  5. Dell Latitude E7470 ผ่านมา 5 ปี กับอีก 2 เดือนแล้ว

ซึ่งเวลา notebook เสียทีก็จะต้องภาวนาว่ามันจะเปิดติดเพื่อสามารถสำรองข้อมูลล่าสุดออกมาได้ เพราะแม้ว่าผมจะ daily backup ทุกวัน แต่การได้ข้อมูลล่าสุดมันก็ดีกว่าข้อมูลล้าหลังไปอีก 1 วัน แต่พอมี desktop อีกตัวข้างๆ ทำให้เวลา notebook เสีย ผมเอา SSD M.2 หรือ HDD 2.5″ เสียบเอาข้อมูลจาก notebook ใน desktop PC ได้เลย ส่วนเครื่องก็ยกไปให้ช่างซ่อมต่อ ได้ทันที สบายกว่ามาก

ถึงแม้ว่า notebook ที่ใช้งานมา 4 ตัวล่าสุด ทุกตัวจะ onsite warranty ทั้งหมด แต่ก็มีระยะเวลาในการรออะไหล่ หรือการเข้าซ่อม แม้ทุกตัวจะเป็น Next Business Day ซึ่งบางครั้งเสียในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ เราก็ต้องรอวันจันทร์แทน หากไม่มีเครื่องสำรองก็ลำบากไปอีก แล้วด้วยความเคยตัวของ onsite warranty ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ผมแทบไม่สนใจ notebook ที่ไม่สามารถให้การรับประกันแบบ onsite ได้ เพราะถ้าเป็น carry-on ลำบากกว่านี้อีก เพราะต้องแบกไป ศ. ต่าง ๆ แล้วยังต้องรออะไหล่ เสียการเสียงานกว่ามาก

ซึ่งจากที่อยู่กับ desktop PC มาจะ 2 ปี ก็พบว่า desktop PC มันมีที่ทางของมัน และการปรับแต่งต่าง ๆ ก็มีความหลากหลายมากขึ้น เราจะเลือกใช้ form factor เดิม ๆ ก็ยังพอมี หรืออยากได้แต่งไฟ แต่งสวย ใส่ระบบระบายความร้อนแบบชุดหม้อน้ำปิด-เปิดการใส่อุปกรณ์แปลก ๆ ต่าง ๆ จัดเต็มได้ไม่ยาก อยากได้ CPU แรงแบบไหนก็จัดได้ เลยทำให้กลับมาสนใจแนวทาง desktop PC มากขึ้น เพราะมีความหลากหลาย และบ่งบอก lifestyle ตัวเองได้มากขึ้นไปอีก

ปล. เครื่อง notebook 2-4 ที่เป็นเครื่องเก่า ตอนนี้ถ้าเอามาเปิด ก็น่าจะยังเปิดติดอยู่ เพียงแต่ถอดเอาแบตและ HDD ออก เพราะ notebook เมื่อก่อน มันถอดแบตออกมาได้หมด มี Latitude E7470 ตัวล่าสุดนี่แหละ ที่ปวดหัวว่าจะจัดการมันยังไงถ้าต้องเก็บสะสม เพราะแบตมันอยู่ในเครื่องเลย ถอดแบตออก-ใส่กลับลำบาก

ย้ายเครื่องกับ LINE ก็ยังเจอปัญหาเดิม ๆ

เรื่องปัญหา LINE ที่เวลาย้ายเครื่อง หรือ ย้าย platform แล้วข้อความ รูป หรือ contact หาย มันไม่ควรเกิดขึ้นในปี 2021 แล้วหรือเปล่า แอปแชทแบบทั่วไป (ไม่ใช่ e2e chat) เค้าแก้ไขมันได้ไปตั้งนานแล้ว

อย่ามาบอกว่า มันก็มี function ชื่อ auto backup นะ เพราะอันนั้นไม่ใช่ทางแก้ มันแค่ปะผุ แถมเวลาย้ายข้าม platform ก็ไม่ได้ด้วย เพราะ android ก็ backup ลง google drive ส่วน ios ก็ไปไว้บน icloud แล้วตอนย้ายสลับกันก็เรียกข้อมูลข้าม cloud storage provider ไม่ได้ (ไม่รู้ใครมันคิด)

ส่วนตัวเปลี่ยนเครื่อง หรือย้าย platform ไปมาบ่อย iOS/Android นี่ปรกติมาก มีไอ้ LINE เนี่ยมีปัญหาสุด

ทางแก้ส่วนตัวตอนนี้คือ หากติดต่อผ่าน LINE ข้อความ-รูปภาพ ผมพร้อมทิ้งเสมอ หรือจำเป็นจริงๆ จะพยายามให้ใช้อีเมลอีกทางให้ได้มากที่สุด หรือ capture ข้อความที่จำเป็นไว้ (เคสสำคัญจริงๆ เพราะมันรก)

สิ่งที่ชวนคิดคือ เราจะอยู่กับแอปที่จัดการความสามารถพื้นฐานได้แย่ แล้วก็อยู่กับการแสดงผลโฆษณา และอ่านข่าว clickbait ในแอปไปแบบนี้จริงๆ เหรอ?

เรื่องเล่า myujikkii.com และ music48voter.com ฉบับปี 2020

สำหรับเว็บ music48voter.com ตัวเว็บใช้บริการ DigitalOcean ด้วยเหตุผลการเข้าถึงได้ดีจากนอกประเทศ ราคาไม่แพง รวมทั้ง 6 อย่างที่เห็น จ่ายเดือนละ 30USD โดยให้ B/W ค่อนข้างเยอะ สเปคก็ค่อนข้างดี เร็วใช้ได้ (ปีก่อนมีปัญหา ตปท เข้าได้ยาก เพราะระบบอยู่ในไทย)

ใช้ VM จำนวน 4 ตัว เป็น LBx1 (HAProxy), Webx2 (docker-compose),DBx1 (MariaDB+Redis) ส่วนไฟล์สลิปไปฝากที่บริการ Spaces คล้ายๆ S3 ของ AWS เก็บแยกไปต่างหาก

เว็บพัฒนาบน .NET Core 3.1 (C#) ต่อยอดจากปีก่อน (ปีที่แล้ว .NET Core 2.0) docker image build บน Docker Hub
เหตุผลที่มี Webx2 เพราะกลัว deploy แก้ไขจะได้ไม่ล่มแบบปีก่อน ทำ auto deploy ร่วมด้วย (ปีก่อนแก้หรือ deploy แล้วเว็บจะ down แป็บนึง เพราะ start/stop Kestrel manual) และเหตุผลที่ไม่ใช้ K8s เพราะเครื่องมันจะเยอะขึ้นอีกตัว บวกกับขี้เกียจ (จบ ?)

myujikkii.com อันนี้อีกทีมนึงทำ ซึ่งด้านการ sync ยอด progress ดึงจาก music48voter อีกที (cache 5 นาที) ทีม myujikkii ก็จะได้ไม่ปวดหัวกับระบบหลังบ้าน เลยรวมที่เดียว และ myujikkii เอา cloudflare ทำ proxy cache ด้วยเพื่อให้โหลดเร็วขึ้นประหยัด B/W

ระบบหลังบ้านในการตรวจสลิป มีทีมตรวจแล้วแจ้งสถานะ approve/reject แล้วส่งอีเมลแจ้งสมาชิกในเว็บ (ปีก่อนไม่มีอีเมลแจ้ง) ถือว่าโอเค เพราะทีมหลังบ้านไม่ต้องคอยแจ้งหรือลุ้นว่าเค้าจะกลับมาแก้ไขไหม และทำให้ทีมงานเช็คยอดง่ายขึ้น (ตัวอีเมลใช้บริการ mailgun ส่งอีเมลฟรี 5,000 ฉบับ)

ส่วนฝั่งโค้ดโหวตก็เหมือนปีก่อน และสุดท้าย last word ตอนแรกจะใช้ Google Form แต่คิดว่าลำบากตรงเอาข้อความมาแปะ และตรวจยอด เลยเขียนเพิ่มให้ทีมงานบริการจัดการได้จากจุดเดียว โดยข้อมูลโดเนทและข้อความก็อยู่ฐานข้อมูลเดียวกันทั้งหมด เอาเวลาไปโฟกัสเรื่องยอดกับบิ้วโหวตดีกว่า

สุดท้าย ปีนี้เราพยายามให้แฟนคลับ ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกที่โหวตเอง โดเนทกับกิจกรรม หรือรู้สึกยุ่งยากแต่อยากโดเนทแบบไม่ระบุตัวตน ก็ทำได้หมด เราพยายามให้ทุกคนมีส่วนรวมกับกิจกรรมให้เยอะที่สุด

หวังว่าจะสนุกกับกิจกรรมของทีมงานที่ทำกันทุกคน ^^

ส่งท้ายปีเก่า – เล่าเรื่องจอประสาทตาบวมน้ำจากการพักผ่อนน้อย และใช้ยาสเตียรอยด์มากเกิน

เมื่อประมาณวันที่ 23 มกราคม 2562 เกิดอาการตาซ้ายมองภาพแล้วไม่ชัด และบางส่วนของภาพที่ผ่านตาซ้ายมีสภาพสีเพี้ยนเป็นสีเหลืองนิด ๆ จึงไปหาหมอที่โรงพยาบาล แล้วทำการสแกนวิเคราะห์จอประสาทตา และขั้วประสาทตา (OTC หรือ Optical coherence tomography) เพื่อดูสภาพ ตอนทำก็วัดค่าความดันตา โดยรวมทุกอย่างปรกติ แล้วก็ไปหยอดขยายม่านตาให้ขยายให้มาก ๆ เพื่อจะได้ถ่ายรูปภายในจอประสาทตาและฉีดสีเพื่อดูเส้นเลือดในตาทั้งสองข้างบริเวณจอประสาทตา ว่ามีจุดรั่วตรงไหนบ้าง เมื่อคุณหมอตรวจสอบ แล้วพบบอาการรบมน้ำบริเวณจอประสาทตา (อาการ CSC หรือ Central Serous Chorioretinopathy) ซึ่งคุณหมอแนะนำว่า อาการนี้ทำได้แต่รอให้มันยุบไปเอง ไม่สามารถกินยา หรือฉีดยาให้ยุบได้ นอกจากจะยิงเลเซอร์ปิดจุดรั่วของสารน้ำ แต่วิธีนี้ไม่อยากแนะนำ เพราะจุดบวมน้ำสามารถหายเองได้ และไม่ใช่จุดที่ที่เป็นอันตรายมากนัก อาศัยความอดทนเป็นหลัก

อาการนี้ช่วงแรกจะแค่สีเพี้ยน ๆ ในข้างที่มีปัญหา แต่สักพักจะเริ่มมองภาพแล้วบวมตรงกลางภาพ (สังเกตจากตาราง Excel) การมองเห็นแย่ลงในตาข้างใดข้างหนึ่ง แรก ๆ จะปวดตา มึนหัว และเป็นไมเกรน เพราะสมองสับสนกับการมองเห็นที่เปลี่ยนไป แล้วจะปวดกระบอกตามาก ต้องใช้ยาลดอาการแสบ-ปวดที่ตาอยู่หลายวัน ถึงจะเริ่มชินกับการมองนี้ที่มีปัญหา

ผมเข้า-ออกโรงพยาบาลช่วงต้นปี 2562 อยู่หลายเดือน เพื่อตรจสอบสภาพของจอประสาทตาประมาณ 2 เดือน ซึ่งส่วนตัวไม่เคยเจออาการแบบนี้ จึงค่อนข้างกังวล และกลัวจะมีปัญหาในการทำงานไปมากกว่านี้ (ทำงานด้านไอที สายตาเป็นสิ่งสำคัญ) จึงปรึกษาคุณหมออีกครั้ง คุณหมอแนะนำให้ฉีดสี และขยายม่านตาเพื่อดูจุดที่แน่นอน และหากว่ามันยังรั่วอยู่ ก็แนะนำให้การยิงเลเซอร์แบบเย็นปิดจุดตรงนั้น อาการจะหายเร็วกว่า แต่ค่าใช้จ่ายจะสูงกว่ามาก และมีความเสี่ยงเล็กน้อย

ด้วยความที่เป็นโรงพยาบาลรัฐ จึงต้องนัดอีกครั้ง และมาในช่วงเช้า เพราะการฉีดสีต้องทำในช่วงเช้า และเข้าตรวจดูผลช่วงบ่าย หากผลตรวจต้องเลเซอร์ปิดจุดรูรั่วจริง ๆ ก็ทำภายในช่วงเวลาราชการได้เลย ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า โดยจากการฉีดสี และเข้าไปฟังผลตรวจ คุณหมอแจ้งว่าเส้นเลือดที่เป็นต้นเหตุมของอาการรั่วได้รักษาตัวเองแล้ว และไม่มีการรั่วของสารน้ำออกมาอีก อาการบวมที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้ก็ยุบลงมาพอสมควรแล้ว คุณหมอจึงไม่ยิงเลเซอร์อุดจุดที่รั่วให้ และให้กลับบ้าน ทำใจให้สบาย เพราะอาการดีขึ้น และเป็นสัญญาณดีว่ากำลังจะหาย นัดตรวจใหม่อีกครั้งใน 3 อาทิตย์

ระหว่างนี้คุณหมอแจ้งว่าให้งดสัมผัสกับสเตียรอยด์ทุกทาง (กิน, ทา หรือหยอด) และให้นอนวันละ 7-8 ชั่วโมงให้ได้ทุกวัน แบบนอนรวดเดียว ไม่ใช่นอนหลายรอบสะสม น่าจะทำให้อาการหายได้เองภายใน 1-2 เดือนโดยไม่ทำอะไรเพิ่มเติม

ช่วง 3 อาทิตย์นั้น อาการดีขึ้นตามลำดับ การมองเห็นค่อย ๆ กลับมาปรกติ และการตรวจในรอบถัดมาก็ได้ผลออกมาดีเยี่ยมอาการบวมไม่มีแล้ว คุณหมอจึงนัดตรวจอีกครั้งใน 6 เดือนให้หลัง ซึ่งผลตรวจก็เป็นในแนวทางเดิม คือไม่มีอาการบวมใด ๆ ขึ้นมาอีก แต่คุณหมอก็ยังกำชับเช่นเดิม ให้ งดสัมผัสกับสเตียรอยด์ทุกทาง (กิน, ทา หรือหยอด) และให้นอนวันละ 7-8 ชั่วโมงให้ได้ทุกวันเช่นเดิม เพราะแม้ว่าอาการนี้จะหาย แต่โอกาสกลับมาเป็นอีกสำหรับคนที่เคยเป็นแล้วจะสูงกว่าคนที่ยังไม่เคยเป็นมาก

ทิ้งท้าย สำหรับคนที่นอนดึก ทำงานหนัก และเป็นผู้ชาย อาการแบบที่ผมเป็นนี้ มีโอกาสเกิดได้มากกว่าผู้หญิง 7-8 เท่า และมักเกิดกับคนที่นอนพักผ่อนไม่เพียงพอ (พวกนอน 4-6 ชั่วโมงเป็นประจำต้องระวัง) ทำงานมีความเครียดสูง เป็นโรคเบาหวาน หรือใช้สเตียรอยด์มาเป็นเวลานาน อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือผสมกัน ใครกำลังอยู่ในความเสี่ยงแบบนี้แนะนำให้ปรับการนอน และการใช้ยาเพื่อไม่ให้เกิดโรคซ้ำซ้อนแบบนี้ ซึ่งมันทำให้ productivity ลดลงเยอะมากในช่วงนั้น

Desktop PC ตัวใหม่ เพื่อปรับการทำงานเป็น Desktop + Notebook แทน

ปีนี้ผมซื้อ Desktop PC เครื่องใหม่ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายทั้งหมดประมาณ 38,000 บาท เป็น Desktop PC ในราคา 31,800 บาท และ UPS 6,200 บาท เหตุที่แพงกว่าที่คาดการณ์ไว้ 12,000 บาท เพราะการ์ดจอ และ UPS เป็นหลัก

โดยรวมค่อนข้างประทับใจ จะปวดหัวหน่อยตรง TPM ที่ต้องซื้อเพิ่มเติม กับ M/B ที่สายไฟมันไปบังช่อง 5.25″ เลยใส่ optical drive ของเก่าไม่ได้ และสายไฟที่เดินเข้า M/B มันไปดันช่องใส่ HDD ตัวล่าง เลยใส่ HDD ตั้งนั้นได้ 1 ตัวแทนที่จะได้ 2 ตัว (เพื่ออนาคตมีเพิ่ม) แม้มันจะมีช่องให้แขวน HDD ได้อีกตัว แต่ตอนขันน็อตมันลำบากมาก

สำหรับ power supply เหตุผลใช้เลือกแค่ 650W 80+ bronze เพราะหากไปไกลกว่านี้ UPS จะราคาโดดไปไกลมาก (ต้องไปเล่น pure sine wave ไม่งั้นมันทำงานกับ Active PFC watt สูง ๆ แล้วจะมีปัญหา) โดยรวมโหลดไฟของเครื่องไม่เกิน 500W อยู่แล้ว แต่ด้วยความที่เป็น 80+ bronze ก็ต้องเผื่อไปอีกนิด เช่นเดียวกับ UPS ก็ต้องบวกโหลดสูงสุดจาก power supply ออกไปประมาณ 10-25%

ส่วน monitor, keyboard และ mouse ใช้ของเดิมที่มีอยู่แล้วก็ไม่ต้องจ่ายส่วนนี้

สำหรับ OS ก็ซื้อ Windows 10 Pro OEM มาใช้งาน ราคาก็เกือบๆ 4,700 บาท การจ่ายเงินซื้อ OS เมื่อก่อนจะคิดเยอะ แต่เดี่ยวนี้ เหมือนเดินไปซื้อการ์ดจอ หรือ CPU นั่นแหละ เหตุที่ใช้ Pro เพราะเรื่อง Hyper-V และ BitLocker เป็นหลัก เพราะต้องทำงานกับพวก container orchestration เลยจำเป็นต้องใช้พวกนี้

จากที่ว่ามาทั้งหมด จุดประสงค์ในการประกอบเครื่องเองครั้งนี้ คือปรับแนวการทำงานในปีหน้า เป็น Desktop + Notebook แทนการใช้ Notebook อย่างเดียว เพราะสเปคที่เท่ากัน Desktop ราคาถูกกว่าครึ่งหนึ่ง โดยตั้งต้นสเปคเน้น RAM 32GB และ SSD 512GB เป็นที่ตั้ง ส่วน CPU ก็หาตัวที่เข้ากันได้ ใส่ HDD ที่มีอยู่เดิมเข้ามา เพราะในปีหน้าคงต้องทำงานเป็นแบบ container orchestration มากขึ้น เวลาใช้ Notebook ที่มี RAM 16GB เปิด docker-desktop ทำงานก็โดนจองไป 4GB ขั้นต่ำ เวลา LAB อะไรซับซ้อนมันลำบากต้องไปวุ่นวายบน Cloud ที่แพงพอสมควร ซึ่งจากที่ว่ามา ต้องขอบคุณเทคโนโลยี Cloud Storage + Git repository ที่ทำให้การทำงานระหว่าง Desktop และ Notebook สบายขึ้นมาก

ท้ายสุดก็มีติดเรื่องเดียว LINE นิดนึง เพราะฝั่ง Desktop จะใช้ desktop app ปรกติไม่ได้ ต้องใช้ผ่าน Chrome extension แทน ก็พอถูไถไปได้บ้าง

ในด้าน Hardware โดยรวม และ Software จบไป ก็เป็นเรื่องของการจัดระเบียบสายเชื่อมต่อใหม่ เพื่อให้แชร์ จอภาพ, keyboard, mouse และลำโพง USB ระหว่าง Desktop และ Notebook ได้อย่างสะดวกมากขึ้น โดยหัวใจสำคัญ คือ Ugreen USB 3.0 Switcher 2 PC share 4 port USB (ต่อไปเรียก USB Switcher) ซึ่งทำงานร่วมกับจอ Dell ที่ตัวมันรับ input ได้ 4 input เป็น DP x 2 และ HDMI x 2 พร้อม USB 3.0 Hub 4 port ในตัว

เริ่มต้นที่จอ Dell ทำการต่ออุปกรณ์ที่ต้องการแชร์ไปมาระหว่าง Desktop และ Notebook คือ keyboard, mouse และลำโพง USB เข้ากับ USB 3.0 ของจอ แล้วเอาสาย USB 3.0 ของจอภาพต่อกับ USB Switcher

เสร็จแล้วก็เอาสาย USB Switcher ฝั่ง input PC ไปต่อกับ Desktop และ Notebook เวลาสลับก็กดปุ่ม 1 – 2 สลับไปมา ก็ทำให้เราสลับตัว input ระหว่าง Desktop กับ Notebook ได้แล้ว

สำหรับการแสดงผล จอรองรับ 4 input เราให้ Notebook ต่อเข้า input HDMI ส่วน Desktop ก็ต่อเข้า input DP แทน เวลาสลับจอก็ทำผ่านคอนโซลของจอภาพเอา

สำหรับ Notebook มีการต่อ external HDD 2TB x2 ก็ต่อผ่าน USB 3.0 Hub แบบมีแหล่งจ่ายไฟแยกอีกช่องแยกออกไป เพราะเวลาสลับผ่าน USB Switcher จะได้ไม่สลับไปด้วย

จากทั้งหมดที่พยายามทำมา ก็ใช้เวลาอาทิตย์กว่า ๆ ในการทยอยปรับแก้จนออกมาได้อย่างที่เห็น ปีใหม่ในปีหน้า น่าจะทำให้การทำงานสะดวกราบรื่นขึ้นไปอีก