เอา SSD ใส่ฮีตซิงค์เย็นลงเยอะแค่ไหน?

สวัสดีคนที่ยังติดตามอ่าน blog ผมอยู่ (น่าจะหายหมดแล้วมั้ง)

ไม่ได้เขียน blog มานาน 2 ปีกว่า ซึ่งปีนี้มีเรื่องให้เขียนย้อนหลังเยอะพอสมควรเลยหล่ะ แต่ตอนนี้ขอเขียนสั้น ๆ เพราะเมื่อช่วงเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ผมประกอบคอมฯ เครื่องใหม่มาแทนคอมฯ เครื่องเดิมอายุประมาณ 5 ปี วันนี้ขอเล่าประสบการณ์ในเรื่องใส่ฮีตซิงค์ของ SSD M.2 เพิ่มหลังจากที่ผมซื้อ Lexar NM710 มาใส่เพิ่มเติม เพราะผมพบว่า SSD M.2 มันร้อนเกินไปจนความเร็วตกในบางครั้ง ผมจึงทำการทดลองเปรียบเทียบดูว่าพอใส่ฮีตซิงค์แล้วความร้อนมันสูงแค่ไหน โดยในภาพผมทดสอบให้มันทำงานที่ความเร็วสูงสุด เพื่อดูว่ามันร้อนขนาดไหนหากไม่มีฮีตซิงค์

พอรู้ว่าร้อนขนาดไหน ผมซื้อฮีตซิงค์ Lexar รุ่น LPAH100 มาใส่เพิ่มเติม เป็นฮีตซิงค์เสริมสำหรับ SSD M.2 สล็อตที่ไม่มีฮีตซิงค์มาประกอบแล้วทดสอบดูอีกรอบ

โดยจะเห็นว่าผมทดสอบด้วยความเร็วระดับสูงสุด แต่ความร้อนไม่สูงเกิน 61c ในมุมผมถือว่าลดความร้อนลงมาได้เยอะมาก ๆ และเมื่อความร้อนไม่สูงจนเกินไป ย่อมส่งผลต่อการทำงาน ยังทำให้ตัว controller บน SSD มันก็ไม่ดรอปความเร็วลงเพื่อลดความร้อนอีกด้วย

สำหรับตอนต่อ ๆ ไปจะมาเล่าเรื่องอะไร ติดตามกันได้ครับ จะพยายามมาเขียนต่อเรื่อย ๆ 👍

เกือบ 2 ปี กับการย้ายจาก Notebook มาเป็น Desktop + Notebook เป็นอย่างไรบ้าง

จาก blog เก่าที่เขียนไว้เมื่อช่วงปลายปี 2020 เรื่อง Desktop PC ตัวใหม่ เพื่อปรับการทำงานเป็น Desktop + Notebook แทน ซึ่งจากวันนั้นจนถึงวันนี้ ถือเป็นการตัดสินใจที่ค่อนข้างถูกต้อง และถูกเวลาพอสมควรในช่วงนั้น

เพราะหลังจากช่วงนั้น ก็เข้าสู่ช่วงโควิดในอีกไม่นานนัก ทำให้ต้องทำงานแบบ WFH และการใช้งาน desktop ที่สเปคแรงกว่า คือด้วย performance ณ วันที่ซื้อ ตัว CPU notebook กับ desktop นั้น ตัว desktop มันแรงต่างกันเกือบ 4 เท่าได้ ประกอบกับการดูแลรักษา และการปรับแต่งต่างๆ ก็ทำได้ง่ายกว่า หากเสีย หรือต้องซ่อม ตัวอย่างคือ ะช่วงปีที่ผ่านมา desktop PC เจอว่า power supply เสียพอดี เลยได้เวลาเปลี่ยนทั้ง case ไปด้วยในตัว คราวนี้ใส่พัดลมมีไฟตามสมัยนิยมไปเลย ก็แปลกตา ตอนแรกไม่ชอบ แต่ก็เบื่อความจำเจ ก็เลยใส่ ๆ ไปสักหน่อย แก้เบื่อ ซึ่งก็ซ่อมผ่านมาได้ด้วยดี เพราะซ่อมและประกอบย้าย case เอง ทำให้เราแก้ไขเรื่อง power supply เสียได้ในเวลาเพียง 1 วันเท่านั้น

ซึ่งหากจะว่าไป ชีวิตผมก็อยู่กับ notebook มาอย่างยาวนานตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยรวม ๆ แล้วใช้ชีวิตกับ notebook ประมาณ 17 ปี โดยประมาณ ไล่ ๆ เอาจากรายการที่ซื้อใช้งานเองก็ 5 เครื่อง (ที่เค้าให้ยืมมาไม่นับนะ)

  1. Compaq Presario,Presario 715 ใช้ประมาณ 1 ปี
  2. ThinkPad R40 ใช้ประมาณ 3 ปี 6 เดือน
  3. ThinkPad Z61t ใช้ประมาณ 4 ปี
  4. ThinkPad T420 ใช้ประมาณ 5 ปี 2เดือน
  5. Dell Latitude E7470 ผ่านมา 5 ปี กับอีก 2 เดือนแล้ว

ซึ่งเวลา notebook เสียทีก็จะต้องภาวนาว่ามันจะเปิดติดเพื่อสามารถสำรองข้อมูลล่าสุดออกมาได้ เพราะแม้ว่าผมจะ daily backup ทุกวัน แต่การได้ข้อมูลล่าสุดมันก็ดีกว่าข้อมูลล้าหลังไปอีก 1 วัน แต่พอมี desktop อีกตัวข้างๆ ทำให้เวลา notebook เสีย ผมเอา SSD M.2 หรือ HDD 2.5″ เสียบเอาข้อมูลจาก notebook ใน desktop PC ได้เลย ส่วนเครื่องก็ยกไปให้ช่างซ่อมต่อ ได้ทันที สบายกว่ามาก

ถึงแม้ว่า notebook ที่ใช้งานมา 4 ตัวล่าสุด ทุกตัวจะ onsite warranty ทั้งหมด แต่ก็มีระยะเวลาในการรออะไหล่ หรือการเข้าซ่อม แม้ทุกตัวจะเป็น Next Business Day ซึ่งบางครั้งเสียในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ เราก็ต้องรอวันจันทร์แทน หากไม่มีเครื่องสำรองก็ลำบากไปอีก แล้วด้วยความเคยตัวของ onsite warranty ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ผมแทบไม่สนใจ notebook ที่ไม่สามารถให้การรับประกันแบบ onsite ได้ เพราะถ้าเป็น carry-on ลำบากกว่านี้อีก เพราะต้องแบกไป ศ. ต่าง ๆ แล้วยังต้องรออะไหล่ เสียการเสียงานกว่ามาก

ซึ่งจากที่อยู่กับ desktop PC มาจะ 2 ปี ก็พบว่า desktop PC มันมีที่ทางของมัน และการปรับแต่งต่าง ๆ ก็มีความหลากหลายมากขึ้น เราจะเลือกใช้ form factor เดิม ๆ ก็ยังพอมี หรืออยากได้แต่งไฟ แต่งสวย ใส่ระบบระบายความร้อนแบบชุดหม้อน้ำปิด-เปิดการใส่อุปกรณ์แปลก ๆ ต่าง ๆ จัดเต็มได้ไม่ยาก อยากได้ CPU แรงแบบไหนก็จัดได้ เลยทำให้กลับมาสนใจแนวทาง desktop PC มากขึ้น เพราะมีความหลากหลาย และบ่งบอก lifestyle ตัวเองได้มากขึ้นไปอีก

ปล. เครื่อง notebook 2-4 ที่เป็นเครื่องเก่า ตอนนี้ถ้าเอามาเปิด ก็น่าจะยังเปิดติดอยู่ เพียงแต่ถอดเอาแบตและ HDD ออก เพราะ notebook เมื่อก่อน มันถอดแบตออกมาได้หมด มี Latitude E7470 ตัวล่าสุดนี่แหละ ที่ปวดหัวว่าจะจัดการมันยังไงถ้าต้องเก็บสะสม เพราะแบตมันอยู่ในเครื่องเลย ถอดแบตออก-ใส่กลับลำบาก

Desktop PC ตัวใหม่ เพื่อปรับการทำงานเป็น Desktop + Notebook แทน

ปีนี้ผมซื้อ Desktop PC เครื่องใหม่ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายทั้งหมดประมาณ 38,000 บาท เป็น Desktop PC ในราคา 31,800 บาท และ UPS 6,200 บาท เหตุที่แพงกว่าที่คาดการณ์ไว้ 12,000 บาท เพราะการ์ดจอ และ UPS เป็นหลัก

โดยรวมค่อนข้างประทับใจ จะปวดหัวหน่อยตรง TPM ที่ต้องซื้อเพิ่มเติม กับ M/B ที่สายไฟมันไปบังช่อง 5.25″ เลยใส่ optical drive ของเก่าไม่ได้ และสายไฟที่เดินเข้า M/B มันไปดันช่องใส่ HDD ตัวล่าง เลยใส่ HDD ตั้งนั้นได้ 1 ตัวแทนที่จะได้ 2 ตัว (เพื่ออนาคตมีเพิ่ม) แม้มันจะมีช่องให้แขวน HDD ได้อีกตัว แต่ตอนขันน็อตมันลำบากมาก

สำหรับ power supply เหตุผลใช้เลือกแค่ 650W 80+ bronze เพราะหากไปไกลกว่านี้ UPS จะราคาโดดไปไกลมาก (ต้องไปเล่น pure sine wave ไม่งั้นมันทำงานกับ Active PFC watt สูง ๆ แล้วจะมีปัญหา) โดยรวมโหลดไฟของเครื่องไม่เกิน 500W อยู่แล้ว แต่ด้วยความที่เป็น 80+ bronze ก็ต้องเผื่อไปอีกนิด เช่นเดียวกับ UPS ก็ต้องบวกโหลดสูงสุดจาก power supply ออกไปประมาณ 10-25%

ส่วน monitor, keyboard และ mouse ใช้ของเดิมที่มีอยู่แล้วก็ไม่ต้องจ่ายส่วนนี้

สำหรับ OS ก็ซื้อ Windows 10 Pro OEM มาใช้งาน ราคาก็เกือบๆ 4,700 บาท การจ่ายเงินซื้อ OS เมื่อก่อนจะคิดเยอะ แต่เดี่ยวนี้ เหมือนเดินไปซื้อการ์ดจอ หรือ CPU นั่นแหละ เหตุที่ใช้ Pro เพราะเรื่อง Hyper-V และ BitLocker เป็นหลัก เพราะต้องทำงานกับพวก container orchestration เลยจำเป็นต้องใช้พวกนี้

จากที่ว่ามาทั้งหมด จุดประสงค์ในการประกอบเครื่องเองครั้งนี้ คือปรับแนวการทำงานในปีหน้า เป็น Desktop + Notebook แทนการใช้ Notebook อย่างเดียว เพราะสเปคที่เท่ากัน Desktop ราคาถูกกว่าครึ่งหนึ่ง โดยตั้งต้นสเปคเน้น RAM 32GB และ SSD 512GB เป็นที่ตั้ง ส่วน CPU ก็หาตัวที่เข้ากันได้ ใส่ HDD ที่มีอยู่เดิมเข้ามา เพราะในปีหน้าคงต้องทำงานเป็นแบบ container orchestration มากขึ้น เวลาใช้ Notebook ที่มี RAM 16GB เปิด docker-desktop ทำงานก็โดนจองไป 4GB ขั้นต่ำ เวลา LAB อะไรซับซ้อนมันลำบากต้องไปวุ่นวายบน Cloud ที่แพงพอสมควร ซึ่งจากที่ว่ามา ต้องขอบคุณเทคโนโลยี Cloud Storage + Git repository ที่ทำให้การทำงานระหว่าง Desktop และ Notebook สบายขึ้นมาก

ท้ายสุดก็มีติดเรื่องเดียว LINE นิดนึง เพราะฝั่ง Desktop จะใช้ desktop app ปรกติไม่ได้ ต้องใช้ผ่าน Chrome extension แทน ก็พอถูไถไปได้บ้าง

ในด้าน Hardware โดยรวม และ Software จบไป ก็เป็นเรื่องของการจัดระเบียบสายเชื่อมต่อใหม่ เพื่อให้แชร์ จอภาพ, keyboard, mouse และลำโพง USB ระหว่าง Desktop และ Notebook ได้อย่างสะดวกมากขึ้น โดยหัวใจสำคัญ คือ Ugreen USB 3.0 Switcher 2 PC share 4 port USB (ต่อไปเรียก USB Switcher) ซึ่งทำงานร่วมกับจอ Dell ที่ตัวมันรับ input ได้ 4 input เป็น DP x 2 และ HDMI x 2 พร้อม USB 3.0 Hub 4 port ในตัว

เริ่มต้นที่จอ Dell ทำการต่ออุปกรณ์ที่ต้องการแชร์ไปมาระหว่าง Desktop และ Notebook คือ keyboard, mouse และลำโพง USB เข้ากับ USB 3.0 ของจอ แล้วเอาสาย USB 3.0 ของจอภาพต่อกับ USB Switcher

เสร็จแล้วก็เอาสาย USB Switcher ฝั่ง input PC ไปต่อกับ Desktop และ Notebook เวลาสลับก็กดปุ่ม 1 – 2 สลับไปมา ก็ทำให้เราสลับตัว input ระหว่าง Desktop กับ Notebook ได้แล้ว

สำหรับการแสดงผล จอรองรับ 4 input เราให้ Notebook ต่อเข้า input HDMI ส่วน Desktop ก็ต่อเข้า input DP แทน เวลาสลับจอก็ทำผ่านคอนโซลของจอภาพเอา

สำหรับ Notebook มีการต่อ external HDD 2TB x2 ก็ต่อผ่าน USB 3.0 Hub แบบมีแหล่งจ่ายไฟแยกอีกช่องแยกออกไป เพราะเวลาสลับผ่าน USB Switcher จะได้ไม่สลับไปด้วย

จากทั้งหมดที่พยายามทำมา ก็ใช้เวลาอาทิตย์กว่า ๆ ในการทยอยปรับแก้จนออกมาได้อย่างที่เห็น ปีใหม่ในปีหน้า น่าจะทำให้การทำงานสะดวกราบรื่นขึ้นไปอีก

มีแฟนเป็นโปรแกรมเมอร์ต้องทำใจ -_-‘

1. ไม่มีเวลาให้เหมือนคนทำงานอาชีพอื่นเขามีกัน – เพราะเขียนโปรแกรมไม่เสร็จซวย !!! งานใช้ logic สูงสมาธิต้องมากตาม แถมต้องเอาใจเจ้านาย (ลูกค้า) แก้งานก็ต้องแก้ บ่ายเบี่ยงไม่ได้ เดี่ยวไม่มีกิน T_T
2. พูดอะไรจะออกนอกโลกไปหมดแล้ว มนุษย์(แฟนเก่า) เขาฟังไม่รู้เรื่อง – เออ มีแต่คนบอกผมแบบนี้เหมือนกัน หลังๆ เลยต้องมานั่งนึกก่อนพูดเสมอ ไม่งั้นกลายเป็นศัพท์คอมฯ ออกมาหมด -_-‘
3. ทำงานจนเช้า ทำบ้าทำบออะไรนักหนา ไม่หลับไม่นอน – -‘ มันด่าได้ดี – ก็จริง นะเนี่ย T_T แต่กลับไปดูข้อหนึ่งซะ
4. เวลาเข้าร้านหนังสือ มันก็พุ่งไปแต่มุมคอมฯ ซื้อที ๆ นึง ปาไปเป็นพัน ๆ หนังสือจะท่วมห้องอยู่แล้ว อ่านหมดจริง ๆ รึงัย (ดูมันด่าสิ) – อ้าววว ไม่พัฒนาความรู้ก็โดยเด็กรุ่นหลังแซงหมดซิครับ โลกของโปรแกรมเมอร์มันไม่มี senior กับ junior นะ คุณช้าทุกอย่างก็ล้าสมัย

ตอนนี้หลังจากเป็นโสดมาได้เกือบ ๆ 2 เดือน มีความคิดว่าถ้ามีตอนนี้ ก็หาอาชีพเดียวกัน น่าจะจบ อย่างน้อย ๆ ก็คอเดียวกัน น่าจะเข้าใจว่ามันลำบากยังไงมั่ง นั่งทำงานหัวฟูเนี่ย

ไปต่อได้ที่ http://www.pantip.com/tech/developer/topic/DN1998879/DN1998879.html

Programmer Life Style

  1. ค่าของคน อยู่ที่ผลของงาน
  2. โอกาศในวันพรุ่งนี้ขึ้นอยู่กับการกระทำในวันนี้
  3. จงรักและเชื่อในงานทีทำ ดูแลมันให้เหมือนลูกเหมือนเมีย
  4. สมดุลของชีวิตส่วนตัวและชีวิตงาน ห้ามทำงานเกิน 10ชม. เด็ดขาด
  5. ชีวิตคุณอาจจะมีแค่วันพรุ่งนี้ ดังนั้นทำวันนี้ให้ดีที่สุด
  6. เราเกิดมาเพื่ออะไร คุณค่าต่อสังคมของเราคืออะไร เราทำอะไรให้สังคมบ้าง
  7. คิดก่อนทำ
  8. ทำเสียวันนี้ ไม่ต้องรอวันพรุ่งนี้
  9. อย่ายึดติดกับภาษา มันก็แค่ฆ้อน ตะปู ที่ใช้สร้างบ้าน วิธีการสร้างบ้านต่างหากที่สำคัญ
  10. หมั่นศึกษาหาความรู้ใหม่ๆ โลก IT เปลี่ยนแปลงทุกนาที
  11. ค้นคว้าศึกษาด้วยตัวเองก่อนถามผู้อื่น ความรู้ที่เกิดจากการประมวลผลขึ้นมาเอง จะอยู่ติดเราไปจนตาย
  12. ให้ความสำคัญกับคุณภาพของงานที่ทำให้มากที่สุด มันคือสิ่งวัดคุณค่าของเรา
  13. ชีวิตคือของเรา แต่งานทำให้เรามีคุณค่า และผลงานคือสิ่งที่ทำให้เราอยู่ในความทรงจำ
  14. จงเป็นถูกเลือก ไม่ใช่ถูกลืม
  15. ธุรกิจคอมพิวเตอร์เหมือนเลขฐานสอง เป็น 1 หรือเป็น 0 อยู่รอดหรือดับสูญ
  16. จงทำมากกว่าพูด แต่เมื่อพูดแล้วต้องทำให้ได้ ถ้าไม่ได้อย่าพูดออกมา