ประสบการณ์ใช้งานมา 1 ปี ของ Lamptan Smart Wi-Fi Bulb และ WiZ by Philips LED Bulb

เป็นประสบการณ์การใช้งานหลอดไฟ LED Bulb W-Fi ในระยะเวลา 1 ปี เป็นรีวิวขนาดสั้น ๆ จาก 2 ยี่ห้อ 3 แบบมาเล่าให้ฟัง เผื่อคนที่ผ่านมาอ่านจะได้นำไปตัดสินใจซื้อ อาจจะยี่ห้อนี้ หรือยี่ห้ออื่น ๆ ที่จะมีมาขายอีกในอนาคต

โดยมีรายการดังต่อไปนี้

  1. Lamptan Smart Wi-Fi Bulb Multi-Colour RGB White (2700K – 6500K) 11W (Tuya OEM)
  2. WiZ by Philips LED Bulb Tunable White (2700K – 6500K) 9W A60
  3. WiZ by Philips LED Bulb Colors/Tunable White (2700K – 6500K) 9W A60

Lamptan Smart Wi-Fi Bulb Multi-Colour RGB White (2700K – 6500K) 11W (Tuya OEM)

ตัวนี้เป็นตัวแรกสุดที่ซื้อมาใช้งานจำนวน 7 หลอด โดยใช้ในพื้นที่ในบ้านคือ

  • ห้องทำงาน 2 ห้อง ห้องละ 2 หลอด
  • ไฟชั้นสอง 2 หลอด
  • โคมไฟในห้องนอน 1 หลอด

WiZ by Philips LED Bulb Colors/Tunable White (2700K – 6500K) 9W A60

โดยใช้ในห้องนอนทั้ง 4 หลอด พร้อม remote

WiZ by Philips LED Bulb Tunable White (2700K – 6500K) 9W A60

จำนวนหลอดที่ใช้อยู่ 3 หลอด

  • ใช้กับไฟหน้าบ้าน จำนวน 1 หลอด
  • ใช้กับไฟในห้องนอนชั้นหนึ่ง จำนวน 2 หลอด พร้อม remote

เหตุผลที่ผมซื้อหลอดไฟแบบ Wi-Fi มาใช้ ไม่ใช่แค่มันเปิด-ปิดผ่านแอปได้เท่านั้น แต่มันยังเปลี่ยนสีได้ตามแต่รุ่น บางรุ่นก็ได้แต่โทนสี Cool Daylight ไปถึง Warm White และรุ่นเป็น Multi-Color แบบ RGB ฉะนั้นการใช้สวิตช์ไฟแบบ smart Wi-Fi จึงไม่ตอบโจทย์ความต้องการนี้

ซึ่งการที่หลอดไฟสามารถปรับเปลี่ยนสีได้หลากหลาย ปิด-เปิดได้ผ่านแอป ทำให้เราสามารถนำไปปรับโทนของห้องได้ โดยเฉพาะก่อนนอน ผมจะปรับโทนของบ้านทั้งหลังให้เป็นไฟ warm เพื่อเลี่ยงแสงสีฟ้า ช่วยทำให้ร่างกายปรับตัวพร้อมนอนได้ดีมากขึ้น ซึ่งช่วยให้เราหลับได้ง่ายกว่าจริง ๆ และในบางครั้งทำงานอ่านหนังสือ ก็ปรับค่า K ให้เหมาะสมกับการทำงาน-อ่านหนังสือได้ หรือบางครั้งดูหนังก็ปรับความสว่างให้เหมาะกับโทนของความบันเทิงได้เช่นกัน

และสำหรับ WiZ ที่ตอนนี้เลือกใช้เป็นหลักแทน Lamptan เพราะ มี WiZ remote ซึ่งเป็นรีโมตคล้าย ๆ กับรีโมตทีวี ช่วยในการเปิด-ปิด และตั้ง profile เฉพาะ 1-4 ช่วยให้เราไม่ต้องเปิดแอปบนมือถือ หรือลุกไปที่สวิตช์ไฟแบบเดิม ๆ ซึ่งในตอนแรกที่ผมใช้หลอดไฟ Lamptan นั้น ไม่มีรีโมตก็มีความไม่สะดวกอยู่บ้างในตอนเช้าที่ต้องหามือถือมาเปิดไฟ แต่พอปรับเป็น WiZ แล้ว มันง่ายขึ้นมาก เราแค่ควานหารีโมตแถว ๆ โต๊ะข้างเตียงแล้วกดปุ่มในจุดที่คุ้นเคยก็เปิดไฟได้แล้ว

จุดที่ผมคิดว่ามีประโยชน์ไม่แพ้กัน คือการนำไปใช้กับไฟหน้าบ้านในจุดที่แสงอาทิตย์เข้าไม่ถึง แล้วต่อกับ Home Assistant ให้เปิด-ปิด และปรับความสว่างไฟตามเวลาที่กำหนด ช่วยให้ประหยัดไฟ และเพิ่มความปลอดภัยให้กับบ้านด้วย เพราะการเปิด-ปิดไฟทำผ่าน Home Assistant โดยตรงไม่ต้องให้คนมาเปิด-ปิดอีก

และสำหรับจุดที่แสงแดดเข้าถึง ผมก็ใช้หลอดไฟ LED light sensor แทนในการให้มันเปิด-ปิดไฟ ซึ่งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของตัวหลอดไฟไปได้กว่า 50% เลยทีเดียว

โดยสรุปในภาพรวมของการใช้งาน

  1. หลอดไฟทั้ง 3 รุ่น 2 ยี่ห้อ ตัวทำงานผ่าน Wi-Fi 2.4GHz ทั้งหมด
  2. สามารถสั่งการผ่านแอปทั้งหมด ไม่ต้องซื้อ Hub ควบคุมเพิ่มเติม
  3. ความสามารถของแอป และการปรับแต่ง WiZ ง่ายกว่า Smart Life (Tuya OEM)
  4. ความเสถียร WiZ มีมากกว่าพอสมควรทั้งแอป และตัวอุปกรณ์
  5. การทำงานร่วมกับ automation อื่น ๆ ไม่หนีกันมาก Tuya เคยทำได้เยอะมากผ่าน IFTTT แต่ตอนนี้น่าจะน้อยลงเยอะ และต้องพึ่งพา Home Assistant แทน แต่ Tuya Cloud ก็เรื่องมากขึ้นทุกวัน ก็คิดว่าหนีไปตัวที่ open มากกว่าก็น่าจะดี
  6. ความสว่าง แม้ว่า Lamptan จะบอกว่า 1,000lm และ WiZ แจ้ง 800lm แต่รู้สึกได้ว่าความสว่างมันพอ ๆ กัน
  7. ราคา WiZ แพงกว่า Lamptan อยู่ที่ 100-200 บาท แต่จากประสบการณ์ที่ใช้งานมา คิดว่า WiZ คุ้มค่ากว่าหากจะซื้อใช้ในหลอดถัด ๆ ไป
  8. สำหรับคนที่ไม่ได้ต้องการเชื่อมต่อหลาย ๆ ยี่ห้อ หรืออุปกรณ์ให้ทำงานร่วมกันได้ ก็ไม่จำเป็นต้องติดตั้งระบบ Home Assistant แต่ใช้ผ่านแอปของยี่ห้อนั้น ๆ ในการควบคุมก็ได้ ซึ่งเหมาะกับคนเริ่มต้นใช้งาน หากเพียงพอก็ไม่ต้องลงทุนเพิ่มเติมในอนาคต
  9. Lamptan ที่ซื้อมา 6 หลอดต้องเอาไปเคลมเปลี่ยนหลอดใหม่ยกชุดภายในเวลา 6 เดือน แต่หลังจากเคลมกลับมาก็ไม่มีเสียอีก (หลังจากใช้งานมา 6 เดือน)
  10. หลอดไฟในรีวิวนี้ผ่าน มอก. ทั้งหมด

สิ่งที่ต้องเข้าใจก่อนซื้อเก้าอี้สุขภาพ

  1. การมีพนักพิงศีรษะไม่เกี่ยวกับ ergonomic มีไว้ช่วยตอนแอนตัวพักนอน ซึ่งการนอนบนเก้าอี้ไม่ถูกสุขลักษณะอยู่แล้ว เอาไว้เพิ่มความสะดวกสบายเฉย ๆ
  2. เก้าอี้ gaming อาจไม่ได้ออกแบบให้ตรงตาม ergonomic ฉะนั้นควรตรวจสอบ และนั่งพร้อมจัดท่าให้เหมาะกับ “การทำงาน” จริง ๆ เสียก่อน แต่ส่วนใหญ่มักไม่ใช่ บางรุ่นแพงกว่าแบบ ergonomic เสียอีก
  3. ควรลองนั่ง-ปรับให้เข้ากับร่างกายเราก่อนซื้อ แต่ละรุ่นเหมาะสมกับเราไม่เท่ากัน ให้คนอื่นแนะนำ อาจจะไม่เหมาะกับเรา
  4. วัสดุที่เหมาะคือพวกผ้า และตาข่าย ที่ระบายอากาศได้ดี เก้าอี้ที่เป็นหนังหุ้มทั้งร้อน อับชื้นง่าย ไม่ระบาย ควรเลี่ยง ยิ่งราคาไม่แพง เป็นหนัง PU ความทนทานน้อยกว่าแบบผ้าและตาข่าย
  5. ราคาเก้าอี้ ergonomic แพง ราคาหลายหมื่นบาท แต่ถ้าเป็นโรคเกี่ยวกับหมอนรองกระดูก ค่าใช้จ่ายหลักหมื่นต้องมา ถ้าต้องผ่าตัด หลักแสนต้องมี ฉะนั้นควรใส่ใจ ยังไม่รวมกายภาพด้วย แพงกว่าเก้าอี้ดีๆ แน่นอน
  6. การรับประกันของเก้าอี้ ergonomic แม้ราคาแพง แต่ก็รับประกันยาวนาน ยี่ห้อระดับ top อยู่มายาวนาน เค้าให้ความมั่นใจกับลูกค้าระดับรับประกัน 10-12 ปี หารเป็นหลักปีแล้ว อาจจะถูกกว่าซื้อเก้าอี้ทั่วไปที่รับประกัน 1-2 ปี ด้วยซ้ำ เหมาะกับการลงทุนระยะยาว

ฉะนั้นเวลามีคนถามว่าลงทุนกับเก้าอี้หรือโต๊ะก่อนดี ผมจะแนะนำให้ลงทุนกับเก้าอี้ก่อน โต๊ะตามมาทีหลัง เพราะเรานั่งอยู่ที่เก้าอี้ ส่วนโต๊ะลงทุนภายหลังเป็นทางออกที่ดีสำหรับคนที่เก็บสะสมเงินเพื่อสุขภาพของตัวเองในการทำงาน

ลิขสิทธิ์ในผลงานรับจ้างฟรีแลนซ์

ปรกติรับจ้างพัฒนาซอฟต์แวร์ในรูปแบบ “ฟรีแลนซ์” ตัวผลงานที่ออกมา จะอ้างอิงจากตัวลิขสิทธิ์ของการ “รับจ้างทำของ” ซึ่งทำให้ตัวผลงานนั้นเป็นของผู้ว่าจ้าง ไม่ใช่ของผู้สร้าง แต่เราก็สามารถทำเอกสารสัญญาเพิ่มเติมได้

ฉะนั้น เวลามีคนมาปรึกษาเรื่องรับจ้างพัฒนาซอฟต์แวร์ ผมจะแนะนำให้ทำเอกสารสัญญาพ่วงท้ายตกลงความเป็นเจ้าของให้ชัดเจนไปเลย ลงรายละเอียดในระดับ library, framework และ UI ด้วยเพื่อป้องกันความฟ้องร้อง หรืออ้างสิทธิ์ที่ไม่ชัดเจนภายหลัง

ตัวอย่าง

  1. ตัว UI โดยเฉพาะ web template มักจะมีประเด็นบ่อย เพราะบางครั้งเราซื้อสำเร็จรูปมา ก็ต้องลงไว้ว่าสำเร็จรูปมาจากที่นี่ ไม่งั้น เวลาคนว่าจ้างไปเห็นเหมือนกับตัวเอง เค้าจะมาฟ้องเราได้ ทั้ง ๆ ที่เราซื้อลิขสิทธิ์เป็นรายครั้งจากเว็บขายต่าง ๆ แยกลูกค้าแต่ละรายต่างหาก และกันความเข้าใจผิดว่าเราเอางานเค้าไปขายต่อ ทั้ง ๆ ที่ work flow ต่าง ๆ ในตัวโปรแกรมคนละอย่างเลย เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องทำไว้กันโดนฟ้อง
  2. library ที่สร้างใช้งานเอง หรือ plugin เฉพาะที่เราสร้างขึ้นมา อันนี้ก็ต้องลงไว้ ว่าเราให้สิทธิ์ใช้งานในโครงการนี้ และมิใช่การขายสิทธิ์ให้ผู้จ้าง รวมไปถึงการกระทำใด ๆ กับ library ชุดนี้จนทำให้เราเสื่อมสิทธิ์ไป เพราะผมเชื่อว่ามีหลายคนทำงานรับงานกันก็มักจะมี library หลายตัวที่มักใช้ซ้ำ ๆ เพื่อความรวดเร็วในการทำงาน ซึ่งบางตัวก็พัฒนาเฉพาะเพื่อให้สะดวกมากขึ้น
  3. ระบุว่า ผู้ว่าจ้าง มีสิทธิในเนื้องานระดับใด เช่น ทำซ้ำ แก้ไข ดัดแปลง เผยแพร่ ต่อยอดผลงาน หรือจำหน่ายจ่ายแจก ได้ไหม ตัวไหนไม่ควรก็ตัดออก เอาเฉพาะที่เค้าควรได้รับสิทธิ์ นอกเหนือจากนั้นก็ตกลงกันว่าจะเพิ่มเงินตามสิทธิ์ที่เพิ่มขึ้น
  4. ในส่วนของตัวซอสโค้ด ตรงนั้นต้องชัดเจนว่าการแก้ไข-ดัดแปลง หากเรารู้สึกว่าควรจะเป็นเราที่ควรแก้ไขได้เพียงผู้เดียวก็ลงไว้ หากมีการแก้ไขโดยไม่ใช่เรา ให้ถือว่าหมดประกัน และละเมิดลิขสิทธิ์
  5. จากข้อที่ 3. – 4. หากในตัวเนื้องานของเรา มีการใช้ library ภายนอกทั้งที่เป็น open source หรือ proprietary นอกเหนือจาก library พื้นฐานของภาษานั้น ๆ ควรตรวจสอบสัญญาณลิขสิทธิ์ให้ดีก่อนใช้งาน และพ่วงสัญญาพวกนี้ลงในสัญญาหลักด้วย เพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต หากเจ้าของลิขสิทธิ์ library นั้น ๆ เค้าขอตรวจสอบ ซึ่งตรงนี้สำคัญ แม้จะเกิดขึ้นได้น้อย แต่ก็มีสิทธิ์ที่จะโดนได้หากใช้งานแล้วไม่ได้ตรวจสอบก่อน

จากที่ยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นว่ามันสำคัญมาก ๆ กับข้อสัญญาก่อนว่าจ้าง ดูเรื่องมากแต่ไม่ชวนปวดหัวภายหลัง เพราะตอนว่าจ้าง ทำงานก็จากกันด้วยดี แต่ตอนมีปัญหานี่ก็อีกเรื่อง

เกือบ 2 ปี กับการย้ายจาก Notebook มาเป็น Desktop + Notebook เป็นอย่างไรบ้าง

จาก blog เก่าที่เขียนไว้เมื่อช่วงปลายปี 2020 เรื่อง Desktop PC ตัวใหม่ เพื่อปรับการทำงานเป็น Desktop + Notebook แทน ซึ่งจากวันนั้นจนถึงวันนี้ ถือเป็นการตัดสินใจที่ค่อนข้างถูกต้อง และถูกเวลาพอสมควรในช่วงนั้น

เพราะหลังจากช่วงนั้น ก็เข้าสู่ช่วงโควิดในอีกไม่นานนัก ทำให้ต้องทำงานแบบ WFH และการใช้งาน desktop ที่สเปคแรงกว่า คือด้วย performance ณ วันที่ซื้อ ตัว CPU notebook กับ desktop นั้น ตัว desktop มันแรงต่างกันเกือบ 4 เท่าได้ ประกอบกับการดูแลรักษา และการปรับแต่งต่างๆ ก็ทำได้ง่ายกว่า หากเสีย หรือต้องซ่อม ตัวอย่างคือ ะช่วงปีที่ผ่านมา desktop PC เจอว่า power supply เสียพอดี เลยได้เวลาเปลี่ยนทั้ง case ไปด้วยในตัว คราวนี้ใส่พัดลมมีไฟตามสมัยนิยมไปเลย ก็แปลกตา ตอนแรกไม่ชอบ แต่ก็เบื่อความจำเจ ก็เลยใส่ ๆ ไปสักหน่อย แก้เบื่อ ซึ่งก็ซ่อมผ่านมาได้ด้วยดี เพราะซ่อมและประกอบย้าย case เอง ทำให้เราแก้ไขเรื่อง power supply เสียได้ในเวลาเพียง 1 วันเท่านั้น

ซึ่งหากจะว่าไป ชีวิตผมก็อยู่กับ notebook มาอย่างยาวนานตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยรวม ๆ แล้วใช้ชีวิตกับ notebook ประมาณ 17 ปี โดยประมาณ ไล่ ๆ เอาจากรายการที่ซื้อใช้งานเองก็ 5 เครื่อง (ที่เค้าให้ยืมมาไม่นับนะ)

  1. Compaq Presario,Presario 715 ใช้ประมาณ 1 ปี
  2. ThinkPad R40 ใช้ประมาณ 3 ปี 6 เดือน
  3. ThinkPad Z61t ใช้ประมาณ 4 ปี
  4. ThinkPad T420 ใช้ประมาณ 5 ปี 2เดือน
  5. Dell Latitude E7470 ผ่านมา 5 ปี กับอีก 2 เดือนแล้ว

ซึ่งเวลา notebook เสียทีก็จะต้องภาวนาว่ามันจะเปิดติดเพื่อสามารถสำรองข้อมูลล่าสุดออกมาได้ เพราะแม้ว่าผมจะ daily backup ทุกวัน แต่การได้ข้อมูลล่าสุดมันก็ดีกว่าข้อมูลล้าหลังไปอีก 1 วัน แต่พอมี desktop อีกตัวข้างๆ ทำให้เวลา notebook เสีย ผมเอา SSD M.2 หรือ HDD 2.5″ เสียบเอาข้อมูลจาก notebook ใน desktop PC ได้เลย ส่วนเครื่องก็ยกไปให้ช่างซ่อมต่อ ได้ทันที สบายกว่ามาก

ถึงแม้ว่า notebook ที่ใช้งานมา 4 ตัวล่าสุด ทุกตัวจะ onsite warranty ทั้งหมด แต่ก็มีระยะเวลาในการรออะไหล่ หรือการเข้าซ่อม แม้ทุกตัวจะเป็น Next Business Day ซึ่งบางครั้งเสียในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ เราก็ต้องรอวันจันทร์แทน หากไม่มีเครื่องสำรองก็ลำบากไปอีก แล้วด้วยความเคยตัวของ onsite warranty ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ผมแทบไม่สนใจ notebook ที่ไม่สามารถให้การรับประกันแบบ onsite ได้ เพราะถ้าเป็น carry-on ลำบากกว่านี้อีก เพราะต้องแบกไป ศ. ต่าง ๆ แล้วยังต้องรออะไหล่ เสียการเสียงานกว่ามาก

ซึ่งจากที่อยู่กับ desktop PC มาจะ 2 ปี ก็พบว่า desktop PC มันมีที่ทางของมัน และการปรับแต่งต่าง ๆ ก็มีความหลากหลายมากขึ้น เราจะเลือกใช้ form factor เดิม ๆ ก็ยังพอมี หรืออยากได้แต่งไฟ แต่งสวย ใส่ระบบระบายความร้อนแบบชุดหม้อน้ำปิด-เปิดการใส่อุปกรณ์แปลก ๆ ต่าง ๆ จัดเต็มได้ไม่ยาก อยากได้ CPU แรงแบบไหนก็จัดได้ เลยทำให้กลับมาสนใจแนวทาง desktop PC มากขึ้น เพราะมีความหลากหลาย และบ่งบอก lifestyle ตัวเองได้มากขึ้นไปอีก

ปล. เครื่อง notebook 2-4 ที่เป็นเครื่องเก่า ตอนนี้ถ้าเอามาเปิด ก็น่าจะยังเปิดติดอยู่ เพียงแต่ถอดเอาแบตและ HDD ออก เพราะ notebook เมื่อก่อน มันถอดแบตออกมาได้หมด มี Latitude E7470 ตัวล่าสุดนี่แหละ ที่ปวดหัวว่าจะจัดการมันยังไงถ้าต้องเก็บสะสม เพราะแบตมันอยู่ในเครื่องเลย ถอดแบตออก-ใส่กลับลำบาก

ย้ายเครื่องกับ LINE ก็ยังเจอปัญหาเดิม ๆ

เรื่องปัญหา LINE ที่เวลาย้ายเครื่อง หรือ ย้าย platform แล้วข้อความ รูป หรือ contact หาย มันไม่ควรเกิดขึ้นในปี 2021 แล้วหรือเปล่า แอปแชทแบบทั่วไป (ไม่ใช่ e2e chat) เค้าแก้ไขมันได้ไปตั้งนานแล้ว

อย่ามาบอกว่า มันก็มี function ชื่อ auto backup นะ เพราะอันนั้นไม่ใช่ทางแก้ มันแค่ปะผุ แถมเวลาย้ายข้าม platform ก็ไม่ได้ด้วย เพราะ android ก็ backup ลง google drive ส่วน ios ก็ไปไว้บน icloud แล้วตอนย้ายสลับกันก็เรียกข้อมูลข้าม cloud storage provider ไม่ได้ (ไม่รู้ใครมันคิด)

ส่วนตัวเปลี่ยนเครื่อง หรือย้าย platform ไปมาบ่อย iOS/Android นี่ปรกติมาก มีไอ้ LINE เนี่ยมีปัญหาสุด

ทางแก้ส่วนตัวตอนนี้คือ หากติดต่อผ่าน LINE ข้อความ-รูปภาพ ผมพร้อมทิ้งเสมอ หรือจำเป็นจริงๆ จะพยายามให้ใช้อีเมลอีกทางให้ได้มากที่สุด หรือ capture ข้อความที่จำเป็นไว้ (เคสสำคัญจริงๆ เพราะมันรก)

สิ่งที่ชวนคิดคือ เราจะอยู่กับแอปที่จัดการความสามารถพื้นฐานได้แย่ แล้วก็อยู่กับการแสดงผลโฆษณา และอ่านข่าว clickbait ในแอปไปแบบนี้จริงๆ เหรอ?