Shipping, Refund และ Payment สิ่งที่คนจะทำ Web E-Commerce ส่วนใหญ่ในไทยไม่ได้คิด

คัดและปรับใหม่จาก twitter นิดหน่อย

ส่วนใหญ่ที่ผมรับทำเว็บ e-commerce ทุกรอบจะสอบถามคนอยากทำคือ เรื่อง shipping และการ refund ของทางลูกค้าว่าจะทำได้อย่างไร มีนโยบายอย่างไร แน่นอนว่าสิ่งที่ผมได้ตอบในครั้งแรกนั้นไม่มีเลย ส่วนใหญ่คือกลับไปนั่งคิดกันแล้วค่อยมาตอบ ซึ่งก็คือลูกค้าที่อยากทำนั้นไม่ได้คิดไว้ด้วยซ้ำว่ามันจำเป็นต้องมี

การคิดเงินค่าจัดส่ง (Shipping) นั้นสำคัญมาก นั่นหมายถึงกำไรหรือขาดทุน รวมไปถึงการจตัดสินใจซื้อของลูกค้าเลยทีเดียว บางรายใช้การบอกว่า ค่าจัดส่งฟรี ซึ่งแน่นอนว่าก็ดีเพราะบวกลงไปในตัวสินค้าแล้ว แต่สินค้าบางอย่างนั้นไม่ใช่แบบนั้น เพราะมีขนาดใหญ่ หรือมีระยะทางไกล ค่าจัดส่งแพงกว่าปรกติจนหลายๆ ครั้งการจัดส่งนั้นมีราคามากกว่าราคาที่คิดเผื่อไว้ขายบนเว็บที่รวมค่าจัดส่งในตัวสินค้าด้วยซ้ำ

สำหรับการเรียกคืนสินค้า หรือขอเงินคืน (Refund) อันนี้ไม่มีใครคิดเลย เพราะธรรมชาติคนไทยไม่เคยคิดว่าการซื้อของแล้วสามารถคืนสินค้า หรือขอเงินคืนได้ ซึ่งถ้าคิดจะขายคนต่างชาติหรือขายนอกประเทศแล้วเนี่ย อันนี้จำเป็นอย่างมาก

จริงๆ เอาแค่ระบบจ่ายเงิน (Payment) ในเว็บ e-commcerce อยากตัดบัตรเครดิต พอให้ดูข้อกำหนด ก็หงายหลังทุกราย เพราะเกือบทุกรายคิดว่าทำแล้วไม่มีค่าธรรมเนียม ข้อกำหนด หรือเอกสารสำหรับทำเรื่องแรกเข้า  สุดท้ายลูกค้าเกือบทุกรายหันไปโอนเงินเอาหมด เพราะเริ่มต้นง่าย และแน่นอนว่าค่าธรรมเนียมนั้นตัวเองไม่ต้องเสีย และยังผลักภาระ รวมถึงความเสี่ยงให้ลูกค้าตอนโอนเงินเสียด้วยซ้ำ เพราะจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิตนั้น โดยส่วนตัวแล้ว มัน win-win กับทุกฝ่ายนะ เพราะฝ่ายผู้ซื้อสามารถ refund และ hold เงินได้ในรอบบิลตัวเองในกรณีที่สินค้ามีปัญหาได้ ซึ่งผมใช้บ่อยมากๆ และมักไม่มีปัญหาด้วย รวมไปถึงได้เงินคืนตลอด ถ้าโอนเงินมันเป็นเงินสดวิ่งไปอีกบัญชี การขอเงินคืนมันคือการทวงเงินที่ยืมจากเพื่อน ได้เมื่อไหร่อันนี้ไม่รู้ได้ สำหรับทางฝั่งคนขายก็สบายใจตรงที่ตรวจสอบรายรับได้ง่าย ไม่มีตกหล่น ไม่เหมือนกับการโอนเงินไป-มา ที่มันมีแต่ยอดเงินเข้า-ออก ซึ่งมันไม่มีชื่อที่ผูกกับตัวหมายเลขสั่งซื้อ หรือรหัสอ้างอิง ทำให้ยอดเงินตกหล่นได้ง่าย ซึ่งถ้าทำไม่กี่รายการต่อวันยังพอโอเค แต่ถ้าหลักสิบหลักร้อยขึ้นก็เตรียมตัวปวดหัวได้เลย

บันทึก Thailand Mobile Expo 2013

เมื่อวานกับวันนี้พาคุณแฟนไปลองและซื้อมือถือ Motorola RAZR MAXX ซึ่งดูๆ แล้วน่าจะเป็นเครื่องท้ายๆ ของงานแล้ว (ณ วันที่ 10 ก.พ. 2556) ด้วยราคาที่ถือว่าไม่แพงมากที่ 11,900 บาท ของแถมที่ได้คือ Power Bank 3,000mAh (แถมมาทำไม มือถือพี่ก็แบต 3,300mAh แล้วนะ) แถม smalltalk Bluetooth มาให้ด้วย (จริงๆ แถม micro SD แต่ของหมดเลยแถมตัวนี้แทน) ซึ่งโดยรวมคุณแฟนบอกว่าไม่ได้ใช้ทั้ง power bank กับ smalltalk ที่แถมมาให้อยู่แล้ว เลยกะขายออกไปแทน สรุปก็น่าจะได้มือถือรุ่นนี้มาในราคาที่ถูกลงไปอีก

WP_20130210_002 

มือถือ RAZR MAXX เป็นมือถือที่เน้นแบตที่ใช้ได้ยาวนานเป็นพิเศษและน่าจะมากที่สุดในตลาดแล้วมั้ง แน่นอนว่า smartphone ในปัจจุบัน ผมเห็นว่าควรปรับปรุงเรื่องแบตที่ใช้งานได้ยาวนานขึ้นมากกว่าอัดความบ้าพลังแต่ไม่ได้ใช้ หรืออัดมาแล้วใช้งานได้ไม่นานแล้วก็วิ่งหาที่ชาร์จแบตกันได้แล้ว การจะเพิ่มความจุแบต (ที่แก้ปัญหาได้ตรงจุดและมีเหตุผลมากสุด) หรือใช้วัสดุที่กินไฟน้อยลง (ลงทุนเยอะขึ้น ราคาแพงและเห็นผลช้ากว่า) ก็ได้แต่คิดว่าเมื่อไหร่จะเห็นมือถือแนวๆ นี้ออกมาเยอะๆ

ซึ่งแน่นอนว่า RAZR MAXX นั้นมาพร้อมกับจอภาพ Super AMOLED ขนาด 4.3 นิ้ว 540 x 960 pixels (~256 ppi) ก็ยังสวยงามดี กล้องหลัง 8 ล้าน กล้องหน้า 1.3 ล้าน เป็นอดีต flagship ที่น่าใช้ตัวหนึ่งในตลาดเครื่องราคาถูกตอนนี้เลย คุณแฟนบอกว่าไม่ซื้อมือถือราคาแพงเกิน 13,000 บาทแล้ว คล้ายๆ ผมที่ตั้งธงว่าจะไม่ซื้อเกิน 15,000 บาท (แต่ Lumia 920 นี่มันอะไรวะครับ)

คำแนะนำหลังจากไปงานนี้สักนิดคือ ซื้อมือถือในงาน TME แนะนำว่าให้ดูเรื่องของแถมและโปรด้านการผ่อน 0% เป็นสำคัญนะ เพราะถ้าไม่เน้นพวกนี้ ก็ซื้อหลังงานก็ได้นะ (เผลอๆ หลังงานพี่ลดราคาหักหลังคนซื้อก็มีให้เห็นอยู่บ่อยๆ) แต่ถ้าอยากไปเดินดูของใหม่ ก็พอไหวนะ แต่นานๆ จะมีแบบนี้มาสักที อย่างที่ไปดูมาก็ BB Z10 ส่วนตัวก็ดีนะ ได้สัมผัสของใหม่ (แม้จะงงๆ กับการใช้อยู่สักพัก) แต่ถ้ากะไปงานแบบนี้แนวเดินชิลๆ แนะนำว่าอย่าไปครับ คนเยอะมากพาลหงุดหงิดเปล่าๆ งานนี้เหมาะกับคนตั้งมั่นว่าอยากได้มือถือ หรือต้องการเลือกครั้งสุดท้าย ในการเปรียบเทียบที่เดียวแล้วซื้อเลยมากกว่า

สำหรับความคิดเห็นส่วนตัวในด้านคุณสมบัติของมือถือในปัจจุบัน ไม่รู้ว่ามือถือมันจะทำมาบางๆ ออกมาทำไม ผมยังหาข้อดีของมันไม่เจอว่าบางมากๆ ระดับที่ว่าใช้ได้แต่ port microUSB ตัด 3.5mm headphone ออก ใส่แบตมาให้จำนวนพอใช้งานได้แบบมึนๆ คือบางและเบา เพราะลดแบตให้น้อยลง มันก็ไม่ใช่เรื่อง แต่สุดท้ายต้องพก mobile booster มาอีกตัวว่ามันดีจริงๆ เหรอ?

แต่ก็ไม่แน่นะ มือถือบางๆ อาจจะสร้างความฟินให้คนใช้ ออกแนวบางเหมือนไม่ใส่อะไรเลยแบบนั้น

แต่ส่วนตัวผม ผมมาลองคิดดูว่าถ้าชีวิตเรามันต้องใช้ของที่ตัดออกไป แต่ต้องไปหาหัวแปลง หรือใช้งานได้อย่างใดอย่างหนึ่งในเวลาเดียวกัน แถมทำบางๆ แล้วมันจับไม่ถนัดมือ ผมก็ขอบาย ซื้อตัวอื่นดีกว่าครับ

อดทนได้แค่ไหน?

ในอีกมุมหนึ่งสำหรับคนที่ดู Zero Dark Thirty มาแล้ว อยากบอกว่า คนดูหนังหรือตัวเดินเรื่องชื่อ “มายา” ซึ่งเป็นชื่อจริงของเจ้าหน้าที่ในเรื่องและโลกความเป็นจริง (มั้ง) จะแน่กว่ากันในการตามหาบินลาเดน แน่นอนว่าคนดูมากมายยอมแพ้และเดินออกไปจากโรง บ้างก็นอนหลับเพราะเบื่อ

ผมมานั่งคิดว่าคนดูใช้เวลา 2 ชั่วโมงในการตามหาแล้วได้ฟินกับตอนท้ายใน 30 นาทีที่ถือว่าทำได้ตามเนื้อผ้า แต่มายาใช้เวลาถึง 10 ปีในการตามหา แน่นอนว่าเนื้อหา วิธีคิดบางอย่างดูขาดๆ เกินๆ ไปบ้าง คงเพราะอย่าลืมว่าเป็นภารกิจที่ลับสุดยอด ใช้คนมากมาย กับงบประมาณประเทศหลายหมื่นล้านที่เป็นความลับ ขนาดเครื่องบินที่บินเข้าไปจนทุกวันนี้ยังไม่มีใครเห็นหน้าตาที่แท้จริงเลย แต่บางคนแค่นั่ง 2 ชั่วโมงกว่าๆ ก็ทนไม่ได้แล้ว แต่ส่วนตัวก็ถือว่าดำเนินเรื่องประติดประต่อดีบนพื้นฐานที่ว่าไม่รู้อะไรเลยในการเขียนบทในขั้นต้น

ผมก็มานั่งคิดว่า ถ้าเป็นเราหล่ะ เราต้องทำงานซ้ำแล้วซ้ำเล่า ล้มเหลวนับครั้งไม่ถ้วน โดนทำลายสิ่งที่ยึดมั่นว่าใช่กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง บอกตรงๆ ว่า ลองคิดถึงในมุมคนที่อยู่ในเหตุการณ์นั้นว่าต้องโดนแรงต้านขนาดไหน แล้วก็ย้อนกลับมานึกว่า ถ้าเป็นเราที่ต้องไปทำงานที่ไม่รู้จะไปทางไหน อยู่ตรงไหน และจะตายเมื่อไหร่ เราจะทำได้นานขนาดนั้นไหมนะ

ความหมาย uptime guarantee ของ 99%, 99.9% หรือ 99.99%

ใน 100% ของ uptime guarantee ของทางด้าน computer system/network นั้นหมายถึง 1 ปี (คิดที่ 518,400 นาที หรือ 43,200 นาทีต่อเดือน)

ในทุกๆ 0.1% ของ downtime ทางด้าน computer system/network มีค่าเท่ากับ 8-9 ชั่วโมงต่อปี

เพราะฉะนั้นใน 1 ปีนั้น
– 99% หมายถึง ยอมให้ downtime ได้ 86.4 ชั่วโมง (หรือ 3 วัน 6 ชั่วโมง)
– 99.9% หมายถึง ยอมให้ downtime ได้ 9 ชั่วโมง
– 99.99% หมายถึง ยอมให้ downtime ได้ 52 นาที (หรือประมาณ 1 ชั่วโมง)

ในองค์กรทั่วไปมักใช้ 99% เป็นหลัก เพราะมักมีช่วงเวลาที่แน่นอนที่สามารถปิดระบบเพื่อทำ System Maintenance ได้ชัดเจนและยาวนาน ซึ่งไม่กระทบต่อการให้บริการอื่นๆ โดยมักทำในช่วงวันหยุดนอกเวลาทำงานปรกติ

ส่วนที่มักใช้ 99.9% นั้นจะเป็น Web hosting หรือบริการ Online โดยทั่วไป เพราะมักใช้ตอน System Maintenance ที่อาจจะทำตอนช่วงคนใช้งานน้อยเพื่อนำไปปรับปรุงระบบ หรือเปลี่ยนแปลงตัว hardware บางส่วนที่เสียหาย

สำหรับ 99.99% มักใช้ในงานด้าน Cloud/CDN services ที่มีการเข้าถึงได้จากทั่วโลกและมักจะไม่มีช่วงที่มีการใช้งานน้อยให้สามารถหยุดการ System Maintenance ได้บ่อยครั้งและนานมากนัก เพราะฉะนั้นจึงมีการใช้ตัวเลขตรงนี้ แต่นั้นหมายถึงราคาที่แพงมากขึ้น เพราะต้องคัดตัว hardware ที่สามารถรองรับการแก้ไขปัญหาโดยที่ไม่ต้องปิดระบบทั้งหมดรวมไปถึงระบบที่รองรับการล่มแล้วสลับไปใช้งานระบบอื่นๆ ได้เกือบจะในทันที

ตัวอย่างเช่น SLA ของ Google Apps for Business นั้นระบุ uptime ที่ 99.9% (อ้างอิง http://www.google.com/apps/intl/th/terms/sla.html ข้อมูล ณ วันที่ 24 ม.ค. 2013)

โดยจากรายงานของ blog ของ google แจ้งว่าในปี 2010 Gmail มี uptime ที่ 99.984% ใกล้เคียง 99.99% uptime มากๆ (อ้างอิง Official Google Enterprise Blog: Destination: Dial Tone — Getting Google Apps to 99.99%)

โดยใน SLA ของ Google Apps for Business นั้นยังมีการระบุระยะเวลาที่ชดเชยถ้า uptime น้อยกว่าที่กำหนดไว้ตามสัดส่วนดังนี้

น้อยกว่า 99.9% ถึง 99.0% ชดเชย 3 วัน
น้อยกว่า 99.0% ถึง 95.0% ชดเชย 7 วัน
น้อยกว่า 95.0% ชดเชย 15 วัน

บ่นๆๆ กับการเขียน blog รีวิวสินค้าของตัวเอง และถ้าออกข่าวว่าจะขายของ ก็ควรมีของขายให้เร็วที่สุด!

ในรอบ 1-2 ปีที่ผ่านมา ไปงาน blogger หลายๆ ยี่ห้อ ได้ของมารีวิวก็เยอะ เขียนขึ้นบ้าง ไม่ได้เขียนบ้าง ซึ่งบางตัวไม่เขียนนี่ก็เยอะนะ

คือบางครั้งเราก็ไม่รู้จะเขียนอะไร ด้วยเหตุผลว่า มันไม่มีอะไรใหม่จากตัวเก่าเท่าไหร่ หรือไม่รู้จะเล่าอะไรให้ต่างจากคนอื่นๆ ที่เค้าได้ไปก่อนหน้านี้แล้วก็เขียนไปหมดแล้ว คือจะบอกว่าลงๆๆ แล้วบอกไปอ่านต่อที่โน้นที่นี่ ผมเห็นตรงกับคนนั้น แม่มก็ดูจะยืมมือคนอื่นมากไป สรุปก็ไม่ได้เขียน ><”

เอะ! เดี่ยวนะ เขียนแบบนี้เค้าก็ไม่เชิญไปหรอก เออ นั้นดิ ก็ไม่รู้ดิคือจะให้เรามานั่งปั้นเรื่องให้ดูสวยงามมันก็ใช่ที่ เค้าอ่านรีวิวเราเพราะเราเขียนในแนวของเรา บางอันดองกับข้ามเดือนเยอะแยะไป คือบางครั้งเราก็เขียนมันออกไปผิดเยอะ แล้วก็ต้องกลับมาแก้ก็มี บางครั้งเขียนแล้วจาก draft แล้วก็มาโละทิ้งใหม่ก็มี เพราะมันลำดับความห่วยแตกก็มาก คือรีวิวบางอันเขียน 3-4 รอบแล้วไม่เอา ติสแตก ลบๆๆ เขียนใหม่ก็หลายตัว บางตัวที่ไม่ได้ลงเพราะหมดแรง เขียนใหม่รอบที่ 3-4-5 ก็เยอะนะ ฮาๆ

แต่สิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกได้เวลาเขียนรีวิวจบแล้วคือ “สินค้าที่รีวิวขายเมื่อไหร่ ราคาเท่าไหร่” อืมมมม นี่แหละที่ผมเจอ เจอประจำ เจอตลอด บางคนอ่านแล้ว “อยากได้ ซื้อที่ไหน ราคาแพงไหม อยากลองเล่นมีที่ไหนให้เลน” ก็เยอะ บางตัวผมเขียนรีวิวช้ามากๆ กว่าจะขึ้นเป็นหลักเดือน แต่ของเพิ่งได้ขายก็มี (บาวตัวขายจนหมดช่วงชีวิตสินค้านั้นๆ ยังหาซื้อยากหรือไม่ได้เลยก็มี) ลองคิดดูว่าถ้าเขียนเร็ว แล้วลูกค้าเห็นแล้วกิเลสมาอยากได้ แต่มันไม่มีของ แต่อีกยี่ห้อก็มาไล่ๆ กัน อ่านรีวิวแล้วของมีเลย อันไหนมันเพิ่มโอกาสการขายมากกว่ากัน

ส่วนตัวเชื่อว่า ความอยากของคนในปัจจุบันมันฉายฉวยขึ้นเยอะ เพราะฉะนั้นใช้โอกาสตรงนี้ทำให้ยอดขายมันเพิ่มขึ้นจากความไวของการขายสินค้าจะทำให้ได้เปรียบมากกว่ามานั่งทำให้คนซื้ออยากจนเบื่อแบบบรอกันไร้จุดหมาย จนความอยากหมด มันเหมือนคนหิวจนเลิกหิวอะไรแบบนั้น

สิ่งที่คนทำตลาดและขายสินค้าในปีนี้ต้องทำการบ้านคือ ข่าวสินค้าเปิดตัวออกมาแล้ว ก็ควรจะมีของขายในเกือบจะทันที หรืออย่างเลวร้ายที่สุดก็ควรจะบอกไปเลยว่าขายวันไหนเมื่อไหร่ ช่องทางขายมีที่ไหนบ้างอย่างชัดเจน ปักมันเลย แล้วทำให้ได้ตามนั้น ส่วนราคาอาจจะคาดการณ์ช่วงแทนบอกราคาแบบตรงตัว ถ้าคิดว่ามันทำให้คู่แข่งปรับตัวเลขราคาสู้ ไม่งั้นเงินในกระเป๋าคนซื้อมันจะไปซื้อยี่ห้ออื่นที่แน่นอนในด้านเวลาและการโฆษณาที่มากกว่าแทน และถ้าเลื่อนขายก็บอกไปเลยว่าเลื่อนขายไปเมื่อไหร่ แต่ไม่ควรเลื่อนบ่อยๆ ไม่งั้นจะโดดด่าแทน คือต้องพูดกันตรงๆ ไปว่าคุณไม่ใช่ยี่ห้อผลไม้ที่ใครจะมานั่งรอ (ถึงแม้หลายๆ คนเลิกเป็นสาวกค่ายนี้ไปแล้ว) คือคุณไม่ได้เป็นยี่ห้อที่คนมานั่งรอกันครึ่งปีหรือเป็นปีเพื่อสินค้าตัวใหม่ที่จะออก เพราะฉะนั้นก็ควรทำให้มันได้เปรียบในด้านอื่นๆ แทนมากกว่านะ