วันนี้ที่นครสวรรค์ เมืองที่ถูกบังคับให้แห้ง! (29/10/2554)

วันนี้เป็นวันแรกที่ได้ออกไปขี่รถเพื่อดูสภาพในเมืองหลังน้ำถูกสูบออกไป โดยที่น้ำในตัวเมืองเทศบาลนครสวรรค์ลดและแห้งลงไป เพราะโดนบังคับด้วยการสูบน้ำออก เพราะซ่อมพนังกั้น 6 จุดได้แหละครับ ไม่งั้นก็ยังจมน้ำอยู่เช่นเดิมเหมือนจังหวัดอื่นๆ อยู่ในตอนนี้แน่นอน

Pak Nam Pho-20111029-00390

สภาพของแถวๆ สี่แยกไปรษณีย์ ยังเห็นซากของขยะกองสูงๆ อยู่ตามถนน แน่นอนว่าคุณจะเห็นภาพแบบนี้ตลอดถนนในตัวเทศบาลตัวเมืองนครสวรรค์อยู่โดยทั่วไปในตอนนี้ครับ ซึ่งจากที่ขี่รถไปเรื่อยๆ จะเห็นร้านค้า และบ้านคนก็ยังคงทำความสะอาดบ้าน และสิ่งของที่จมน้ำอยู่ตามท้องอยู่ตลอดแนวทางถนนครับ

Pak Nam Pho-20111029-00391

พนังกั้นน้ำริมแม้น้ำเจ้าพระยาในตัวเมืองจังหวัดนครสวรรค์ครับ ยังคงความแข็งแรงอยู่เช่นเดิมครับ และแม่ผมบอกว่าเค้าเสริมเพิ่มเติมอีกบางส่วนด้วย โดยภาพรวมน้ำด้านนอกในตัวแม่น้ำยังคงสูงเมื่อเทียบกับด้านในตัวเมืองอยู่ครับ

Pak Nam Pho-20111029-00392

พนังกั้นน้ำในช่วงตัวเมืองเทศบาลนั้นสูงประมาณ 4-5 เมตรได้ (ผมกะเอา) ด้านซ้ายคือฝั่งตัวเมืองเทศบาล ส่วนด้านขวาคือแม่น้ำ (ดูได้จากระดับเรือที่จอดอยู่) จะเห็นว่ายังสูงอยู่มากครับ เพราะฉะนั้นจึงยังไม่น่าไว้ใจอยู่ต่อไปในตอนนี้

ทำงานที่บ้าน เพราะอพยพครั้งที่ 2 จากกรุงเทพฯ มานครสวรรค์

จากบันทึก บันทึกน้ำท่วมบ้านที่นครสวรรค์ 15/10/2554 ผมต้อง “อพยพ” ออกจากบ้านที่นครสวรรค์ในวันที่ 12 ตุลาคม 2554 มาแล้วครั้งนึง และตอนนี้ตัวเมืองเทศบาลที่ท่วมในตอนนั้น ในวันนี้กลับมาอยู่ในสภาพที่ดีขึ้นกว่า 70% ได้แล้ว ทำให้บ้านผมสามารถที่จะเข้าอยู่ได้ 100% แล้ว และในวันนี้ 28 ตุลาคม 2554 ผมก็ต้อง “อพยพ” ออกจากแมนชั่นที่กรุงเทพฯ อีกครั้งในวันนี้

สิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึงคือต้องสามารถ “ทำงานที่บ้าน” ได้ในสภาพการณ์แบบนี้ ในวันที่ 26 ตุลาคม 2554 ผมได้ ขอติดตั้ง Internet ADSL ของ 3BB ความเร็ว 6Mbps เข้าที่บ้านที่นครสวรรค์ แน่นอนโดนบังคับทำสัญญา 1 ปีไปโดยสภาพบังคับ แต่เอาเหอะ ต้องใช้ มันไม่มีเหตุผลที่จะปฎิเสธได้แล้ว

วันนี้มาถึงที่บ้าน Internet ก็สามารถใช้งานได้ทันที เพราะ 3BB มาติดตั้งให้พร้อมใช้งานแล้ว ที่บ้านผมมี Wireless ADSL Router อยู่ตัวนึงไม่ได้ใช้งานค้างอยู่ เลยไม่ต้องแบกจากกรุงเทพฯ รวมถึงเช่าหรือซื้อใหม่

ซึ่งพอหมดเรื่อง Internet ก็มาถึงเรื่องไฟฟ้า ในบ้าน ทั้งหมดก็โอเคสภาพไฟฟ้าในบ้านทำงานได้ปรกติทั้งหมด และผมก็เตรียมปลั๊กไฟฟ้าทุกอย่างขนมาจากกรุงเทพฯ กล้องถ่ายรูปที่ขนมาครบชุด (กลัวโดนขโมย) ข้อมูลที่จำเป็นอยู่ใน Notebook ทั้งหมด และข้อมูลของวันนี้ทั้งหมดถูก Backup ไว้ที่ External HDD ที่ห้องเรียบร้อย โดยที่ผมไม่ได้เอามาด้วย เพราะมีความเสี่ยงที่จะเสียหายมากกว่าระหว่างการเดินทางเพราะผมไม่มีรถส่วนตัวแต่อย่างใด (น้ำมันไม่ท่วมถึงชั้น 7 แมนชั่นแน่นอน)

สำหรับการรับข้อมูลข่าวสาร ตอนเย็นวันนี้ได้ขอติดตั้ง Cable TV ท้องถิ่นเพื่อให้เค้าเข้ามาติดตั้งในวันพรุ่งนี้ทันทีเช่นกัน

ตอนนี้พูดได้ว่าตอนนี้พร้อมทำงานต่อเนื่องได้ทันที และตอนนี้ก็กำลังโหลดข้อมูลจาก Server ที่ IDC ทั้งหมดมา Backup ที่บ้านนี้เช่นกัน รออีกสักพักคงเสร็จ (ข้อมูลไม่เยอะ) ตอนนนี้ทุกอย่างเตรียมพร้อมไว้หมดแล้ว ลุย!!!

Pak Nam Pho-20111028-00387

อุปกรณ์ที่ควรติดตัวใส่ในกระเป๋าเสมอตอนน้ำท่วมบ้าน

สรุปแยกออกจาก บันทึกน้ำท่วมบ้านที่นครสวรรค์ 15/10/2554 เพื่อง่ายต่อการอ่าน

  • ไฟฉายพร้อมถ่านไฟฉาย (มีไฟฉาย 3 ชุด)
  • มีดพกอเน็กประสงค์
  • เครื่องตรวจสอบไฟฟ้ารั่วแบบอิเล็คทรอนิกส์ (90-1,000V ไวระดับแค่สัญญาณมือถือเข้ายังดัง)
  • กุญแจบ้านและรถ
  • เงินจำนวณนึง
  • ค้อน (เอาไว้เผื่อจำเป็นต้องทุบประตูบ้านถ้าบ้านเข้าไม่ได้ เพราะประตูเป็นประตูไม้ มันบวมน้ำแล้ว)
  • ท่อพลาสติกยาวประมาณ 1.5 เมตร ไว้สำหรับเคาะพื้นไล่สัตว์ร้ายใต้น้ำ และไว้หาหลุ่ม/ป่อใต้น้ำ และเอาไว้ให้ให้เครื่องตรวจสอบไฟรั่วผูกเพื่อตรวจสอบไฟรั่วระยะไกล และยังไม่เป็นสื่อน้ำไฟฟ้าด้วย เอาไว้สะกิดปิดหรือเปิดสะพานไฟในบ้านได้ด้วย ซึ่งจะใช้ไม้ก็ได้ แต่ว่าถ้าเปียกน้ำจะทำให้แห้งยากกว่า แต่ดีกว่าที่ทนความร้อนได้เยอะ ส่วนถ้าเป็นโลหะจะเป็นสื่อน้ำไฟฟ้าแทน แต่แข็งแรงทนทาน เหมาะเอาไว้สู้กับสัตว์ร้ายได้ดีกว่า
  • ถังน้ำ 6 ลิตร บรรจุน้ำสะอาดไว้ล้างขาเวลาขึ้นชั้นสอง เพราะเราต้องการให้ชั้นสองสะอาดที่สุด ไม่งั้นจะมีปัญหาที่ว่าเราจะอยู่และกินข้าวด้านบนไม่ได้
  • โทรศัพท์มือถือจะห้อยคอไว้ตลอดเวลา การสื่อสารสำคัญมากในสภาพแวดล้อมแบบนี้

อุปกรณ์ในกระเป๋าพร้อมสำหรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันและทำให้ผ่านช่วงเวลายากลำบากมาได้ตลอดเวลา 3-4 วันที่ผ่านมาในตอนเหตุการณ์น้ำท่วมครับ

ส่วนอื่นๆ เพิ่มเติมกรณีน้ำท่วมเยอะ (ผมเอาไปใช้ 1-2 รอบ ไม่ได้ใส่กระเป๋าติดตลอดเวลา)

  • เสื้อชูชีฟ (ป้องกันตกน้ำตอนอยู่บนเรือ)
  • หมวก (กันแดดกรณีเดินทางไกลๆ จะได้ไม่ล้า)
  • เสื้อกันฝน และร่มกันฝน
  • ยาทาหรือขี้ผึ้งกันน้ำกัดเท้า และยาทากันบาดแผลหรือแก้คัน
  • นกหวีด (ไว้เป่าเรียกคนในกรณีที่เกิดเหตุร้าย)

แชร์การป้องกันความเสียหายภายในบ้านในสภาวะน้ำท่วมจากประสบการณ์ตรง!

จั่วหัวจากประสบการณ์ตรง! เพราะทำมาหมดแล้วครับ

1. กระสอบทรายกันน้ำไม่ได้ 100% อย่าไว้ใจ ก่ออิฐและปูนไปเลย แล้วใช้กระสอบทรายเสริมแนวด้านหลังช่วยรับแรงที่ฐานของอิฐที่ก่อแทน

2. ส่วนที่เปราะบางที่สุดในบ้านไม่ใช่หน้าบ้าน แต่คือหลังบ้านและท่อระบายน้ำในบ้านชั้นล่างต้องอุดให้หมด ใช้การระบายน้ำจากชั้นสองเท่านั้น ไม่งั้นน้ำดันเข้ามาตามท่อทั้งหมด โดยเฉพาะส้วมชั้น 1 โบกบูนปิดทับไปเลย ไม่งั้นส้วมแตกแน่นอน!!! (ที่บ้านโดนมาแล้ว) น้ำสูงเกิน 50cm ที่หน้าบ้าน มีแรงมหาศาลจากใต้ดินเพียงพอจะดันให้ส้วมแตกได้ถ้าทำส้วมไม่แข็งแรงพอ ควรวางกระสอบทรายกดทับส้วมของบ้านชั้น 1 วันให้มีแรงกดสู้กับน้ำใต้ดินสัก 4-6 อันเป็นอย่างน้อย แต่ถ้าเป็นไปได้ถอดส้วมออกเลยแล้วโบกบูนปิดตายไปก่อน!!! (บ้านผมวาง 4 กระสอบยังเอาไม่อยู่เลย น้ำที่หน้าแนวกั้นหน้าบ้านสูงไม่ถึงเมตร) ถ้ามาถึงข้อนี้ทำไม่ได้มีทางเดียว ขนของหนีน้ำเท่านั้น! เกือบ 100% น้ำท่วมบ้านเพราะข้อนี้ทั้งหมด

3. การอุดทุกทางตามข้อที่ 1-2 แต่ตามตะเข็บบ้านมีการรั่วเข้ามาแน่นอน ถ้าอุดได้จงอุดด้วยปูนเท่านั้นที่ช่วยได้ ดินน้ำมันแค่ชั่วคราว เตรียมเครื่องสูบ/ดูดน้ำออกจากบ้านไว้ได้เลย น้ำสูงประมาณ 30cm-50cm ยังไม่เท่าไหร่ ช่วยๆ กันวิวได้ แต่ถ้าสูงกว่านั้นไม่ทันกินแน่นอน ถ้าไม่มีเครื่องสูบ/ดูดน้ำก็ขนของหนีน้ำได้เลยเช่นกัน!

4. ให้คิดไว้เสมอว่าการป้องกันน้ำเข้าบ้านที่บ้านที่บอกมา 3 ข้อบนใช้เพื่อการถ่วงเวลาเวลาเป็นหลัก และมันอยู่ได้ไม่นานนักครับ อย่างน้อยๆ “จงขนของหนีน้ำอย่างน้อยสูงจากชั้น 1 ประมาณ 3-5 เมตรเป็นอย่างน้อย” เอาขึ้นชั้น 2 เป็นดี และชั้น 3 จะดีมาก

5. สำรวจจุดที่มีการเชื่อมต่อกับกระแสไฟฟ้าทุกชุดให้แน่ชัด เช็คให้ครบทุกจุด ย้ำว่าทุกจุด โดยเฉพาะจุดไหนต่ำ มีสองทางคือปิดสะพานไฟจุดนั้น หรือกระชากมันออกมาแล้วแขวนไว้ซะสูงจากระดับน้ำ 1-2 เมตรให้ได้ (ผมกระชากมาแล้วจุดนึง ทำไม่ยาก ถ้าคุณเป็นบ้านแบบไม่ได้รอยสายตามท่อในผนังบ้าน) อย่าเสี่ยงกับจุดพวกนี้เด็ดขาดและควรมีเครื่องวัดไฟฟ้ารั่วติดตัวเสมอเมื่อน้ำเริ่มเข้าบ้านในจุดเสี่ยงที่ไฟฟ้ารั่ววัดก่อนจับหรือสัมผัส

6. อย่าเอารถยนต์ มอเตอร์ไซต์ หรือของใหญ่ๆ ยกยากๆ ไว้หลังแนวป้องกัน โดยเฉพาะไว้ในบ้านชั้น 1 เด็ดขาด มีสองทางคือเอาขึ้นชั้น 2-3 หรือเอาออกไปไว้ที่สูงนอกบ้านซะ โดยเฉพาะรถ รถจมน้ำเพราะคิดว่าป้องกันได้มานักต่อนักแล้ว

7. เอกสารสำคัญและของมีค่ากองรวมกันไว้จัดไว้ให้พร้อม ถ้าต้องออกจากพื้นที่ต้องสามารถหยิบออกมาได้ทันที

8. ไฟฉายสำคัญมาก ควรมีติดตัวทุกคนในบ้านอย่างน้อยคนละกระบอก แม้ในตอนกลางวัน แต่ถ้าน้ำท่วมแล้วการโดนตัดไฟฟ้า จนในบ้านไม่มีไฟ อาจทำให้มองอะไรไม่เห็นเสี่ยงต่อการบาดเจ็บได้

9. เวลาขึ้นชั้น 2 หรือบันไดราวต่างๆ ควรเช็คเท้าให้แห้งหรือระวังให้มาก เพราะน้ำทำให้เท้าเราลื้นได้ บาดเจ็บมาไม่คุ้มกัน

10. เตรียมถังน้ำไว้ในบ้านเผื่อฉุกเฉินน้ำไม่ไหล และจำเป็นต้องใช้น้ำ

11. ควรมีท่อพลาสติกความยาวสัก 1.5 เมตร กว้างสัก 1 นิ้ว เผื่อไว้เดินทางหรือสะกิดสะพานไฟ (เผื่อเอาไว้เคาะๆ ตอนเดินในที่น้ำท่วมป้องกันตกหลุ่มหรือสัตว์ร้ายต่างๆ)

12. ถ้าน้ำสูงเกิน 2 เมตร คุณจะโดนตัดไฟฟ้าแน่นอน ตู้เย็น เตาอบ อุปกรณ์สำหรับยังชีพที่ใช้ไฟฟ้าของคุณจะใช้งานไม่ได้อีกต่อไป เพราะงั้นไม่ต้องรอให้ถึงแค่เมตรกว่าๆ ก็ออกมาได้แล้ว (ประมาณเอว)

13. ถ้าจะก่อไฟในบ้านให้แน่ใจว่าเอาไฟที่ก่ออยู่ ไฟไหม้บ้านซ้ำเติมบ้านน้ำท่วมมีให้เห็นบ่อยๆ ก่อนจะทำระวังให้ดี เพราะไม่มีใครช่วยคุณได้ในสภาวะน้ำท่วมสูง (รถดับเพลิงเข้าไปไม่ถึงแน่นอน)

14. ถ้าออกจากบ้านแน่นอน ให้ตัดสะพานไฟบ้านด้วย อย่าออกมาจากบ้านโดยไม่ตัดสะพานไฟในบ้านลง เพราะอาจจะมีคนที่เข้าไปสำรวจในภายหลังโดนไฟฟ้าช็อตตายได้เพราะคุณไม่ตัดสะพานไฟ อาจจะเพราะตอนออกมาลืมเพราะไฟฟ้าโดยตัด แต่ตอนขากลับเข้าไปไฟฟ้ามาแล้วแต่น้ำยังลดไม่หมดและมีไฟฟ้ารั่วด้วย ต้องระวังให้มาก

บริการ Cloud ที่ใช้อยู่ตอนนี้

  • Google Apps for Business : $50 (1 user account / year)
  • Flickr PRO : $24.95 (1 user account / year)
  • Multiply Premium : $19.95 (1 user account / year)
  • Xmarks Premium: $12 (1 user account / year)

กำลังคิดว่าจะเพิ่มอีก 2 ตัวในตอนนี้ กำลังดูถึงความคุ้มค่า

  • Dropbox Pro 50 : $50 (1 user account / year)
  • Google additional storage 20 GB : $5 (1 user account / year)