แนวคิดการ Backup ทั้งบน Cloud และที่บ้าน

จากที่ผมเขียน แนวทางการ Backup ข้อมูล และ มาทำ Backup ไฟล์สำคัญจากมือถือและโน๊ตบุ๊ก ไปไว้บน Cloud กันดีกว่า!!! (Online Sync) จนผมมักพูดว่า “Backup พันวัน เอาไว้ใช้วันสำคัญวันเดียว … วันที่ข้อมูลมีปัญหา!!!” ซึ่งมีใจโดยสรุปดังนี้

  1. เพื่อป้องกันทั้งการ “ลบ” หรือ “ทำข้อมูลสูญหาย” ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ
  2. “กู้ข้อมูลเก่า” เนื่องจากแก้ไขข้อมูลปัจจุบันแล้วมีปัญหา หรือไฟล์ที่มีใช้งานไม่ได้ จึงต้องการกลับไปใช้ต้นฉบับก่อนหน้านี้
  3. ป้องกัน “สื่อเก็บข้อมูลเสียหาย” อันนี้สำคัญเก็บดีแค่ไหน ไอ้ตัวที่เก็บข้อมูลดันเสียเองก็จบกัน
  4. “โดนขโมย” อันนี้ปัจจัยควบคุมได้ยากสุดแต่เกิดขึ้นได้น้อยแต่ก็ต้องระวัง

ซึ่งเป็นการสรุปมา 4 ข้อ เจอกันบ่อยๆ คงจะเริ่มเห็นความสำคัญของการ Backup กันบ้างแล้ว ซึ่งแน่นอนว่า ก่อนทำการ Backup ต้องมีการแบ่ง และจัดระเบียบไฟล์ข้อมูลต่างๆ เพื่อจัดลำดับ ประเภท และความบ่อย ในการ Backup เป็นส่วนๆ เพื่อง่ายต่อการตั้งรูปแบบการ Backup ได้หลากหลาย รวดเร็ว และช่วยให้การ Restore ไฟล์กลับมานั้นรวดเร็วมากขึ้น

รูปแบบการ Backup นั้นมีหลายแบบ ตั้งแต่ระดับคนทั่วไปใช้ จนระดับบริษัทขนาดใหญ่โตนับพันล้านใช้ แต่เอาเหอะ เอาระบบบ้านๆ คนทั่วไปใช้งานดีกว่า ซึ่งผมขอแบ่งง่ายๆ 4 แบบ ที่คุ้นเคยกัน

  1. Unstructured หรือ Full (พวก Data Sync ก็แนวๆ นี้เหมือนกัน) – เป็นแบบง่ายๆ ตรงไปตรงมาครับ อย่างที่ผมบอกไปตั้งแต่ต้น copy ไว้หลายๆ ชุด แต่ต้องระวังว่าไฟล์ไหนเป็นไฟล์ล่าสุด ต้องจัดระเบียบไม่ดี เดี่ยวไป merge/replace ทับไฟล์ล่าสุดจะงานเข้าซะ ปรกติคนทั่วไปที่ไม่มีความรู้ทางเทคนิคมาก จะชอบใช้กัน เพราะที่ง่ายสุด และไม่ต้องใช้ซอฟต์แวร์พิเศษใดๆ ให้ยุ่งยาก แค่รู้วิธีการ copy-paste เป็นก็ทำงานได้แล้ว
  2. Full and Incrementals – คล้ายๆ ข้อแรก แต่มีซอฟต์แวร์มาช่วยจัดการให้ โดยจะมีการทำ copy ข้อมูลไว้เป็นไฟล์ๆ (ตามรูปแบบของแต่ละซอฟต์แวร์จัดการ อาจจะเป็นไฟล์เดียวใหญ่ๆ หรือแบ่งเป็นหลายๆ ไฟล์ก็ได้) แล้วเมื่อมีการสำรองข้อมูลครั้งต่อไปก็จะตรวจสอบเฉพาะไฟล์ที่มีการเปลี่ยนแปลง หรือถูกลบออกไปจากการ Backup ครั้งที่แล้ว แล้วทำการ mark/update เพื่อ Backup ไว้เป็นวัน และเวลานั้นๆ ต่อไปเรื่อยๆ เป็นลูกโซ่ ซึ่งช่วยประหยัดพื้นที่ในการจัดเก็บได้มาก ถ้ามีการ Backup ทุกวัน ไฟล์ที่ได้จากการ Backup แบบนี้มันเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ เวลาจัดเก็บไฟล์พวกนี้ต้องอยู่ครบทุกไฟล์ ต้องระวังให้ครั้งทำ Full-Incrementals ซ้ำไปซ้ำมาเป็นชุดๆ เพราะการเชื่อมไฟล์ Backup แบบนี้ ยิ่งเยอะจะยิ่งช้า และอ่านนานมาก ปรกติโดยส่วนตัวจะพยายามไม่ให้เกิน 14 ไฟล์ หรือขนาดไม่ใหญ่เกินไป (สัก 100GB – 150GB กำลังพอไหว) เพราะป้องกันไฟล์บางไฟล์เสียหาย หรือซอฟต์แวร์เปิดไฟล์ทั้งหมดไม่ได้ เพราะมีขนาดใหญ่เกินไป
  3. Full and Differential – อันนี้คล้ายกับตัวที่สอง ต่างกันเล็กน้อยตรงที่ เมื่อมีการสำรองข้อมูลครั้งต่อไปก็จะตรวจสอบเฉพาะไฟล์ที่มีการเปลี่ยนแปลง หรือถูกลบออกไปล่าสุดจากการ Backup ตัว Full แล้วทำการ mark/update เพื่อ Backup ไว้เป็นวัน และเวลานั้นๆ ไปเรื่อยๆ เวลากู้คืนกลับมาใช้ไฟล์ Full และตัวไฟล์ที่ Backup ตัวล่าสุด หรือวันที่ต้องการ แค่ 2 ส่วนก็กู้คืนได้แล้ว ซึ่งข้อดีคือ เร็วทั้งการอ่าน และเขียนไฟล์ รวมไปถึงลดความเสี่ยงต่อการสูญหายของไฟล์แต่ละส่วนก็น้อยกว่า แต่มีข้อเสียที่ เสียพื้นที่เยอะกว่าแบบข้อที่ 2 มาก
  4. Versioning with File System – อันนี้เป็นแบบที่ไม่ค่อยมีใครใช้กันสักเท่าไหร่ เพราะมันถูกจัดการด้วยตัว OS เองเป็นหลักเลย โดยผมขอยกตัวอย่างใน Windows 8 ชือ File History และใน Windows 7 ชื่อ Previous Versions โดยหลักการง่ายๆ คือระบบจะทำการสำรองข้อมูลของเราเป็น restore point หรือ snapshot  เมื่อเรา save ข้อมูลไว้อีกชุดนึงไว้ เวลาจะเรียกกลับมาก็แค่คลิ้กขวา restore กลับไปตามวันและเวลาที่มัน Backup ไว้ล่าสุด วิธีนี้ง่ายๆ แต่ผมนานๆ ใช้ที ดูแล้วมันทำงานบ้างไม่ทำงานบ้าง ยัง งงๆ อยู่ว่าทำไม อาจจะเพราะตั้งค่ามันเก็บข้อมูลให้ใช้พื้นที่น้อยไปหน่อยเลยมีค่าเฉลี่ยของ ครั้งที่สำรองข้อมูลของไฟล์บางชนิดน้อยลงไปเรื่อยๆ ส่วนใหญ่ผมจะใช้ตอนรีบเร่งจริงๆ เท่านั้น ออกแนวมีไว้อุ่นใจเป็นหลัก

จากข้อมูลสรุปๆ ผมก็เขียนเรื่องแนวๆ นี้ซึ่งก็มี แนวทางการ Backup ข้อมูล (ฉบับปรับใหม่) และ วิธีเก็บไฟล์รูปภาพให้อยู่กับเรานานๆ อีกด้วย

แน่นอนว่าในยุคที่เรามีการใช้ Cloud Storage กันอย่างกว้างขวาง ส่วนตัวแล้วไม่ได้ใช้ Cloud Storage  แค่ช่วยในการ Backup ข้อมูลเท่านั้น แต่ผมยังใช้ในการทำงานระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์ และมือถือที่ทุกๆ เครื่องสามารถเข้าถึงไฟล์ใน Cloud Storage ได้เหมือนๆ กันทุกเครื่อง ทำให้ไม่ต้องพก Flash Drive หรือ External Hard drive ไปๆ มาๆ ลดโอกาสสูญหาย และหลงลืมได้ ขอให้มี internet เพื่อเข้าถึง Cloud Storage ที่ใช้อยู่ได้ก็เพียงพอ

โดยปรกติตอนนี้ผมใช้ Cloud Storage อยู่หลักๆ 3 ตัวคือ SkyDrive เป็นตัวหลัก SkyDrive Pro เป็นที่เก็บไฟล์สำคัญบางอย่าง และ Dropbox เป็นส่วนสำหรับแชร์ทำงานกับลูกค้า โดยไม่ว่าจะมือถือหรือคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องจะสามารถเข้าถึง Cloud Storage ทั้ง 3 ตัวนี้ได้ทั้งหมด แน่นอนว่าจะมีส่วนหนึ่งที่ใช้ Cloud Storage แบบเฉพาะ ที่ไว้จัดเก็บ Source code ซึ่งผมจะใช้ BitBucket.org ในการเป็น source code revision control (Git) ในการช่วยแบ่งเบาภาระของ SkyDrive, SkyDrive Pro และ Dropbox ไปอีกชั้นหนึ่ง

แน่นอนว่ามี Cloud Storage ในการจัดเก็บ แชร์ไฟล์งานระหว่างเครื่อง และกลุ่มการทำงานแล้ว ก็ต้องมีการ Backup ส่วนนี้ไว้เองที่บ้านด้วย (ต่อไปจะใช้คำว่า Local backup) ด้วยเช่นกัน เพราะต้องนึกถึงความเสี่ยงที่ระบบ Cloud Storage จะล่ม ซึ่งผมได้แบ่งกลุ่มไว้กว้างๆ อยู่ 3 กลุ่มคือ

1. กลุ่มสำคัญสูงสุด จะใช้  Cloud Storage และทำ Local backup ไปพร้อมๆ กัน โดยแยกไว้ 2 พวกย่อย คือ
– ไฟล์งานเอกสารที่หายไม่ได้ จะ backup ไว้ 2 ส่วน คือ ไว้บน Cloud Storage (SkyDrive/Dropbox ) และ HDD External ที่ตั้ง daily backup ทุกวัน (เปิดเครื่องทิ้งไว้ตอนกลางคืน ให้ Acronis True Image ทำการ Full and Incrementals backup)
– ไฟล์ source code และต้องทำ source code revision control จะ Backup ไว้ 2 ส่วน คือ ไว้บน BitBucket.org และ HDD External ที่ตั้ง daily backup ทุกวัน (เปิดเครื่องทิ้งไว้ตอนกลางคืน ให้ Acronis True Image ทำการ Full and Incrementals backup)

2. กลุ่มสำคัญมาก จะทำ Local backup เท่านั้น ได้แก่พวกไฟล์รูปภาพ หรือไฟล์ความทรงจำต่างๆ มักจะให้ความสำคัญสูงมาก หายไม่ได้ มีขนาดใหญ่ที่ไว้บน Cloud Storage ลำบาก ต้องมี 2 สำเนาเสมอบน HDD External โดยใช้ลักษณะการ Full data sync ต่าง HDD External ทุกครั้งที่มีข้อมูลใหม่ (ทำ Full data sync ผ่าน SyncToy)

3. กลุ่มสำคัญ จะทำ Local backup เท่านั้น ได้แก่พวกพวกไฟล์วิดีโอ (จำพวก เอ็มวีหายาก ไฟล์หนังหายากที่ rip จากแผ่นที่เก็บไว้ ป้องกันแผ่นเสีย), ไฟล์อีบุ๊ค, ซอฟต์แวร์ที่คัดลอกไว้เพื่อไว้สำหรับติดตั้งในอนาคต มีขนาดใหญ่ที่ไว้บน Cloud Storage ลำบาก ซึ่งส่วนใหญ่จะมี 2 สำเนาบน HDD External เสมอ และ Full data sync ต่าง HDD External เดือนละครั้ง (ทำ Full data sync ผ่าน SyncToy)

จากทั้งหมดที่กล่าวมา จะเห็นว่าผมพยายามปรับปรุงการ backup ให้รัดกุมที่สุด และถ้าได้ติดตามในตอนก่อนๆ จะเห็นว่ามีการปรับปรุงให้เรียบง่ายมากขึ้น ไม่ซับซ้อนเหมือนตอนก่อนๆ แน่นอนว่า หลายๆ คนคงให้เหตุผลว่าทำไมไม่ใช้ RAID ร่วมด้วย คือต้องอธิบายก่อนว่า RAID นั้นช่วยเรื่อง uptime เป็นหลัก ซึ่งเหมาะกับ Server และการให้บริการอย่างต่อเนื่อง การนำมาใช้ในการสำรองข้อมูลที่เน้นคงทน และสามารถกู้ข้อมูลกลับมาในวันก่อนๆ ได้นั้นยังคงเป็นจุดอ่อน รวมไปถึงมีจุดอ่อนในส่วนของ RAID Controller มีปัญหา หรือ File System เสียหายจนใช้งานไม่ได้ด้วย ซึ่ง RAID นั้นไม่ช่วยอะไรในกรณีนี้ ฉะนั้นการสำรองข้อมูลต่าง HDD แบบแยกออกเป็นอุปกรณ์ และทำ Full data sync จะดีกว่าสำหรับไฟล์แนวๆ ตัวอย่างที่ผมใช้ประจำคือ Server ที่ผมดูแลนั้นมีการใช้ RAID และยัง backup ข้อมูลต่างชุด HDD รวมไปถึงงานที่ซีเรียสมากๆ ผมจะ backup ต่างเครื่อง ด้วยซ้ำไป

สรุปผลจากทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ช่วยชีวิตผมมาหลายต่อหลายครั้งแล้ว แม้ใช้งบเยอะหน่อย แต่ไฟล์งานสำคัญปลอดภัยผมถือว่าคุ้มค่าครับ

บางครั้ง RAID ก็ไม่ช่วยอะไร

คนส่วนใหญ่ที่ซื้อ Harddisk มาเพื่อเก็บข้อมูลต่างๆ และมีไม่น้อยที่ใส่ใจต่อการเก็บข้อมูลมากๆ ไม่อยากให้ข้อมูลหายก็มักจะซื้อแบบ RAID และนำมาทำเป็น RAID 1 (Mirror) เพื่อหวังว่าจะทำให้ข้อมูลของเรานั้นอยู่รอดปลอดภัยไปตราบนานเท่านาน

ก่อนอื่นเลยต้องบอกก่อนว่ามี RAID แบบเดียวเท่านั้นที่ไม่เกี่ยวกับการสำรองข้อมูลในเรื่องนี้เลยคือ RAID 0 (Strip) ซึ่งในตอนนี้คงไม่ได้พูดถึง (อย่าคิดว่าพูดถึงตัวนี้เด็ดขาด)

แต่ความเข้าใจเรื่องการสำรองข้อมูลด้วย RAID นั้นก็ไม่ได้ถูกต้องเสียทั้งหมด เพราะความเข้าใจผิดที่ว่า RAID คือการป้องกันและสำรองข้อมูลนั้น แท้จริงแล้ว RAID ช่วยในเรื่องของความผิดพลาดหรือความเสียหายทางด้าน Hardware เป็นหลัก ซึ่งหมายความว่า ระบบ Harddisk ที่ต่อบน RAID นั้นจะยังคงทำงานได้แม้ Harddisk บางส่วนในระบบนั้นเสียหายอยู่เท่านั้นและ Performance ต่างๆ จะตกลงด้วยซ้ำไปถ้ามี Harddisk ตัวใดเสีย หรือเกิดความผิดพลาดขึ้น (หรือมากเท่าที่ระบบ RAID ที่ Setup จะยอมรับได้) ซึ่งก็แน่นอนว่ายังพอที่จะทำงานและสำรองข้อมูลออกมาจากระบบต่อไปได้ แต่ยังไงก็ต้องนำ Harddisk ตัวใหม่ใส่กลับเข้าระบบเพื่อ Rebuild ใหม่

ซึ่งข้อควรระวังอันดับแรกและคนไม่ค่อยคิดคือ RAID Controller ก็มีสิทธิ์เสียได้เช่นกัน ซึ่ง Harddisk ทั้งระบบอาจจะไม่เสีย แต่ RAID Controller เสียแทนก็มีให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง คราวนี้ก็เอาข้อมูลออกมาจากระบบไม่ได้ทั้งระบบเลย เพราะหัวใจสำคัญในการติดต่อมันอยู่ที่ Controller พวกนี้แหละ (ซึ่งในระบบใหญ่ๆ เท่านั้นที่มี RAID Controller อยู่ 2 ชุดเพื่อรองรับเหตุการณ์นี้)

ต่อมาคือเรื่องของ RAID ไม่ได้ช่วยกรณีมีการลบไฟล์หรือ Software มีปัญหาเลย ตัวอย่างที่มักไม่ค่อยเจอแต่ถ้าเจอก็ร้องกรี๊ดแน่ๆ คือการที่ File System พัง ซึ่งมักจะเจอบ่อยๆ ในกรณีที่ไฟดับและเครื่องคอมพิวเตอร์ดับทันที จนทำให้ Harddisk โดนไฟฟ้ากระชากเข้าระบบ (รวมไปถึงไฟฟ้าตก ไปเกิน ไปกระชากแบบไฟฟ้าไม่ดับด้วย) ทำให้การอ่านเขียน File Record บน File System เกิดความเสียหายแต่ถ้าตัว Journaling มันทำงานได้ดีก็จะ recovery ส่วนที่เสียหายกลับมาได้ แต่หนักกว่านั้นก็ได้เวลาลาบ้านเก่า ซึ่งทำให้ Harddisk เกิดอาการ RAW File System ไปเลย ซึ่งเป็นอาการที่เราไม่สามารถอ่านข้อมูล Harddisk/Partition นั้นๆ ได้เพราะตัว File Record หายหรือพัง ซึ่งการ recovery จาก RAW File System นั้นคือการ scan full drive ทั้งหมดเพื่อ build ตัว File Record ใหม่ทั้งหมด ซึ่งก็ใช้เวลานานมากๆ อย่างเช่น Harddisk ความจุ 2TB ก็ใช้เวลาประมาณ 24 ชั่วโมง บนความเร็ว Interface แบบ USB 3.0 (ความเร็ว B/W อยู่ที่ ~90-100MB/s) ถ้าเป็น USB 2.0 ก็คูณไปอีก 2-4 เท่า ความช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับความจุและความเร็วของ Interface ของ Harddisk ในการอ่าน/เขียนเป็นสำคัญ

สุดท้ายไม่มีระบบใดที่ดีไปกว่าการ Backup แบบหลาย copy บนอุปกรณ์หรือระบบมากกว่า 1 ระบบเสมอครับ ถ้าทำสำรองข้อมูลไว้หลายๆ สถานที่ก็คงดี แต่ก็…. (มีคนทำนะครับ)

ฝากไว้เหมือนเดิม

Backup พันวัน เอาไว้ใช้วันสำคัญวันเดียว … วันที่ข้อมูลมีปัญหา!!!

มาทำ Backup ไฟล์สำคัญจากมือถือและโน๊ตบุ๊ก ไปไว้บน Cloud กันดีกว่า!!! (Online Sync)

จาก วิธีเก็บไฟล์รูปภาพให้อยู่กับเรานานๆ และ แนวทางการ Backup ข้อมูล (ฉบับปรับใหม่) ทั้งสองตอนเป็นเรื่องราวของการ Backup แบบ Local Drive อยู่ที่บ้านของแต่ละคนเป็นสำคัญ มารอบนี้เน้นแบบ Cloud Storage Service หรือบริการพื้นที่รับฝากไฟล์แบบ Sync ระหว่างเครื่องของเรากับตัว Service ที่อยู่บน Internet ซึ่งตรวจสอบและทำการ copy ไฟล์เราขึ้นไปอยู่บน Internet อยู่เรื่อยๆ เมื่อมีการเพิ่มขึ้นของไฟล์ เปลี่ยนแปลงข้อมูล ทั้งแก้ไขหรือลบ โดยเราแทบไม่ต้องสนใจเลยว่ามันทำงานอย่างไร แถมยังมีสำรองข้อมูลเราแบบ Snapshot ซึ่งจะเก็บไฟล์เราไว้เป็นช่วงๆ เวลาที่เราแก้ไขเป็นเวลาเรียงต่อไปว่าเราเคยแก้ไขไปเมื่อไหร่บ้างและสามารถเรียกกลับมาอ่านหรือแก้ไขใหม่แทนที่ตัวปัจจุบันได้ด้วย แต่ระยะเวลามากสุดก็แล้วแต่พื้นที่หรือวันเวลาที่ระบบตั้งไว้สูงสุดเท่าไหร่ ซึ่งขึ้นกับผู้ให้บริการ

สำหรับบริการที่ผมใช้นั้นมี 3 Cloud Storage Service

  1. SugarSync (มีพื้นที่ใช้อยู่ 36.5GB ซึ่งเช่าเพิ่มเติมมาอีก 30GB)
  2. Dropbox (มีพื้นที่ใช้อยู่ 4GB ใช้ฟรี)
  3. SkyDrive (มีพื้นที่ใช้อยู่ 25GB ใช้ฟรี)

และเครื่องที่ผมมีไฟล์ข้อมูลเก็บอยู่ ซึ่งแน่นอนว่ามันก็คือโน๊ตบุ๊กของผมและมือถือของผมครับ

สำหรับตัวโน๊ตบุ๊กนั้น ผมแบ่งเป็น 3 Folder หลัก คือ

  1. Dropbox เป็น Folder หลักและสำคัญที่สุด เพราะเก็บไฟล์งานสำคัญต่างๆ และเอกสารทั้งหมด โดยจะใช้ Sync กับบริการของทั้ง Dropbox และ SugarSync แบบพร้อมๆ กันเลย คือทั้งสอง Service จะมีไฟล์เหมือนกัน (เผื่อมันล่มหรือมีปัญหายังมีอีกที่ที่ทำงานได้)
  2. SkyDrive เป็นตัวแยกต่างหาก ใช้เก็บไฟล์ที่ไม่สำคัญมาก หรือเอาไว้ Public/Share คนทั่วไปเป็นหลัก อันนี้เพิ่งเริ่มใช้งาน แต่โดยรวมประทับใจมาก แต่ Dropbox และ SugarSync ก็ใช้ไม่หมดแล้ว
  3. Magic Briefcase เป็นบริการส่วนของ SugarSync เอาไว้ Backup สำหรับมือถือเป็นหลัก โดยจะ Sync จากมือถือขึ้น Cloud และจาก Cloud ลงมาใส่บนโน๊ตบุ๊กอีกรอบนึง เป็นแบบ Auto/Interval Sync ทุก 12 ชั่วโมง (เลือกตั้งได้ถี่กว่านี้ก็ได้ผ่านภายในตัวมือถือ)

ด้านล่างเป็นแผนภาพรวมที่ใช้อยู่ตอนนี้

Backup Plans

ตัว SugarSync จะยืดหยุ่นกว่า Dropbox ในการเลือก Folder ต่างๆ ในเครื่องเราได้มากกว่า อย่าง Dropbox แม้จะมี Selective Sync แต่ก็ต้องเลือกจากภายใน Folder หลัก ไม่ใช่คนละ Location แบบ SugarSync

หน้าตาของ SugarSync File Manager

2012-06-21_205353

หน้าจอ Dropbox Preferences ที่เลือก Selective Sync

2012-06-21_210408

สำหรับมือถือนั้น ผมใช้ Android Phone เพราะงั้นผมมีอิสระในการเข้าถึงไฟล์ต่างๆ บนเครื่อง และจัดการไฟล์ได้เยอะกว่าทั้ง Internal Storage, Internal SD Card, External SD Card (เครื่องผมมันมี 3 Storage) เลยทำให้ SugarSync ตอบโจทย์ในเรื่องของความยืดหยุ่นของการ Backup ทั้ง 3 Storage เพราะผมเลือก Location ต่างๆ ในเครื่องทั้งหมดให้ Sync ลง Mobile Folders ใน Magic Briefcase ได้ทันที เพราะงั้น ถ้ามือถือหาย หรือไฟล์หาย ผมยังเรียกคืนจาก Cloud ได้หรือแม้แต่บนโน๊ตบุ๊กที่ผมก็ตั้ง Sync ตัว Magic Briefcase ไว้ได้ทั้งสองที่ครับ

SCR_20120621_205053 SCR_20120621_210028

หวังว่าประสบการณ์ในการแบ่งบันครั้งนี้คงทำให้หลายๆ คนรอดพ้นจากไฟล์ข้อมูลสำคัญๆ หายจากเหตุการณ์ไม่คาดฝันจากทั้งโน๊ตบุ๊กและโทรศัพท์มือถือครับ

ฝากไว้เหมือนเดิม

Backup พันวัน เอาไว้ใช้วันสำคัญวันเดียว … วันที่ข้อมูลมีปัญหา!!!

วิธีเก็บไฟล์รูปภาพให้อยู่กับเรานานๆ

โดยรวมผมจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือไฟล์ภาพแบบ JPEG/RAW File ที่ไม่ได้แต่งใดๆ จะเก็บตาม ปี/เดือน/วัน แล้วไล่ลำดับ Folder ไปเรื่อยๆ ตามวันที่ของไฟล์นั้นๆ (ตามรูปซ้ายล่าง)

สำหรับไฟล์รูปที่แต่งเรียบร้อยแล้ว ก็จะจัดเก็บตามแนวการถ่ายและหรือชื่อที่ทำให้เราจำได้ง่าย ใน Folder นี้ผมจะเปิด Indexing Services ไปด้วยเผื่อต้องการเรียงตามวันที่ก็ใช้ Windows Search จัดการเอา ส่วนจัดการ tag ก็ใช้ metadata จัดการค้นเอาจาก Index ของ Windows Search เอาก็ได้ แต่ปรกติมันจะช้า (นานๆ ใช้ที) ก็ใช้ตาม Folder ค้นจากชื่อที่เราจัดไว้เร็วกว่า ซึ่งเป็นข้อดีของการจัดไฟล์ไว้เป็นระบบไม่ต้องใช้ Search ช่วยในบางเรื่อง แถมเร็วกว่าถ้าเรารู้ตำแหน่งแน่นอน (ตามรูปด้านขวาล่าง)

2011-04-20_164740 2011-04-20_165320

ลำดับต่อมาเมื่อเราแบ่งได้แล้วว่าส่วนไหนใช้ทำงานอย่างเดียว และส่วนไหนใช้เก็บ (นานๆ ครั้งนำมาใช้หรือดู)

แต่แน่นอนเมื่อรูปเยอะขึ้นเราต้องแบ่งเพิ่มเติมขึ้นมาอีกว่าส่วนไหนทำอะไรบ้าง

  1. รูปที่ใช้ทำงานในปัจจุบัน
  2. ทำงานบ้างและต้องพกติดตัวไป
  3. ไม่พกไปไหนมาไหนแต่ยังต้องใช้ทำงาน
  4. เก็บไฟล์ไว้เมื่อส่งงานลูกค้าจบแล้ว
  5. ไฟล์ภาพส่วนตัวในความทรงจำต่างๆ ของเราเอง

จาก 5 ส่วนด้านบน จะมี HDD อยู่ 4 ตัวที่เกี่ยวข้อง

2011-11-22_222914

  • HDD – D: SATA Internal (100GB) สำหรับเก็บไฟล์ภาพที่ทำงานปัจจุบัน
  • HDD – E: SATA Ultrabay (250GB) สำหรับเก็บไฟล์ภาพที่ยังไม่ได้ใช้ทำงานแต่ต้องพกไปไหนมาไหนตลอดเผื่อต้องใช้
  • HDD – H: e-SATA (1TB) สำหรับเก็บไฟล์ภาพที่ทำงานอยู่ หรือไม่ได้ทำงานแล้วและไม่ได้ยุ่งเกี่ยวตลอดเวลา เช่นรูปที่ส่งลูกค้าไปแล้ว รูปที่แต่งแล้วและเก็บเป็น Porfolio ไว้
  • HDD – I : USB 2.0 (1TB) สำหรับเก็บไฟล์ภาพทั้งหมดจาก HDD D:, E: และ H: สำหรับ Backups เผื่อ HDD ทั้ง 3 ตัวด้านบนเสียหาย

โดยที่เราใช้การ Sync ผ่าน SyncToy แล้วตั้ง Pairs เป็น Synchronize ทั้งหมด

image

ไฟล์รูปทั้งหมดที่เก็บก็จะอยู่ในการดูแลตลอดเวลา

ดูจำนวนรูปและพื้นที่เก็บตั้งแต่ถ่ายรูปมา (ปี 2546 โน้นเลย) ไม่เคยทำรูปหายเพราะ Backup ตลอด ทำให้ทุกรูปยังอยู่ครบ ^^

2011-12-15_011658

ข้อควรระวังเวลานำเครื่องไปซ่อม

ในฐานะที่ส่วนตัวก็เคยเป็นช่างซ่อมคอมฯ มาก่อน จะทราบดีว่างานซ่อมของช่างซ่อมคอมฯ นั้นแข่งกันเวลาอย่างมาก แน่นอนว่าลูกค้าก็อยากได้เครื่องเร็วๆ กลับไปใช้งาน ช่างและร้านก็อยากได้จำนวณเครื่องเยอะๆ เพื่อรับเงินลูกค้า ความรวดเร็วจึงตรงไปตรงมา ทุกคน win-win แต่ …. ข้อมูลและปัญหามันต้องใช้เวลาแก้ไข เพราะฉะนั้น ก่อนนำเครื่องเข้าไปซ่อมสิ่งที่ควรทำก่อนเลยคือ …

สำรองข้อมูลสำคัญของคุณไว้ซะ!!!

ผมพูดจริง!!!

ศ. บริการ หรือร้านรับซ่อมเค้าไม่รู้หรอกครับว่าข้อมูลของคุณอันไหนจำเป็น อันไหนสำคัญ เค้าไม่สนใจข้อมูลของคุณว่ามีค่าแค่ไหน มีแต่คุณเท่านั้นที่รู้และทราบ เพราะฉะนั้น สำรองข้อมูลของคุณและนำไปไว้ในที่ที่ปลอดภัยเสียก่อนที่จะเอาไปซ่อม หรือแนะนำให้อ่าน แนวทางการ Backup ข้อมูล ควบคู่ไปด้วยครับ

อีกประเด็นคือ พวกข้อมูลที่ลับเฉพาะ ที่หลุดไม่ได้ควรเก็บหรือนำออกไปเสียให้หมดก่อนส่งซ่อม ความสอดรู้สอดเห็นของคนมันมีเยอะ แม้ช่างจะไม่ได้ว่างงานมานั่งไล่หาข้อมูลของคุณ แต่ถ้าเป็นรูปลับเฉพาะมันก็ไม่ยากที่จะเห็นเพราะ Thumbnail view for folders ของ OS สมัยใหม่มันโผล่มาให้เห็นทั้งๆ ที่ไม่ได้อยากให้ขึ้นอยู่เนืองๆ เพราะฉะนั้น ….

เก็บข้อมูลของคุณไว้ในที่ที่ปลอดภัยเสมอ และก่อนส่งซ่อมก็ลบๆ มันออกไปก่อนซะ
(จะด้วยวิธีการใดก็ว่ากันไป)