ลอง OneDrive Files On-Demand บน Windows 10 Fall Creators Update แล้วพบว่า จ่ายเงินกับ Dropbox Professional ดีกว่า

หลังจาก Dropbox ออก Smart Sync ที่เป็น Files On-Demand แต่เสียเงินเพิ่ม $100 สำหรับ feature ดังกล่าว

(upgrade plan จาก Dropbox Plus ราคา $99.99/Year ไปใช้ Dropbox Professional ราคาเต็ม $199.99/Year)

เมื่อคืนที่ผ่านมา ผมก็ย้ายข้อมูลไปไว้บน OneDrive แทน เพราะจะใช้งาน Files On-Demand ของ OneDrive ที่เป็นความสามารถใหม่ที่มาพร้อมกับ Windows 10 Fall Creators Update แทนจ่ายเงินให้กับ Dropbox Professional เพิ่มอีก $100

การทดสอบนี้ใช้ทั้ง OneDrive (Consumer) และ OneDrive for Business เพราะผมมีทั้ง 2 แบบเลย โดย OneDrive (Consumer) มีพื้นที่ 38GB และ OneDrive for Business มีพื้นที่ 1TB ซึ่งใช้ client ของ OneDrive ตัวล่าสุดบน Windows 10 Fall Creators Update

แล้วพบว่า …..

ผมกดจ่ายเงินอัพ Plan ไปใช้ Dropbox Professional ต่อไปดีกว่า …..

อ้าวววววว!!!

สิ่งที่เจอบน OneDrive (Consumer) และ OneDrive for Business ทั้ง 2 ตัว แล้วพบว่ามันทำงานได้แย่ และยังสู้กับ Dropbox ไม่ได้ก็คือ

  1. หากจำนวนไฟล์เยอะมากๆ พบว่ามันทำงานได้ช้ามาก (เยอะแน่นอน ให้พื้นที่มา 1TB ไฟล์มันต้องเยอะอยู่แล้ว) ช้าในระดับที่เปิดเพลง Spotify ฟังยังกระตุก และพัดลม CPU ทำงานเต็มรอบมันตลอดเวลา
  2. จากข้อข้างบน การอัพเดทไฟล์ใดๆ จะทำให้ OneDrive มันต้อง Looking for changes แล้วเวลาเกิดการทำงานนี้ มันจะกิน CPU สูงมากตลอด (เป็นเหตุผลของการกระตุกของการทำงานร่วมกับแอปอื่นๆ)
  3. OneDrive for Business ไม่รองรับอักขระพิเศษหลายตัวที่ File System ปรกติมันรองรับ ต้องมา rename ไฟล์โน้นนี่เยอะไปหมด

    สำหรับในส่วนของชื่อไฟล์ภาษาญี่ปุ่นนั้น ทดสอบซ้ำอีกรอบ น่าจะเป็นเพราะ folder มีอักขระพิเศษ (มี # อยู่ที่ชื่อ folder) และชื่อไฟล์มีอักขระพิเศษเลยโดน OneDrive for Business มัน Block ซึ่งปัญหานี้ไม่พบบน OneDrive (Consumer)
  4. การโหลดข้อมูลเข้า Cloud ของ Microsoft ทำงานช้ามาก การอัพโหลดไฟล์เยอะๆ ตัวโปรแกรมมันก็ทำงานช้าแล้วนะ แต่ตัว Cloud ก็ยังทำงานาช้าอีก แถมบางครั้ง Web และ App บนมือถือก็เหมือนจะอัพเดทไฟล์ไม่ทันที ต้องรอสัก 10 นาทีถึงจะเห็นไฟล์ที่อัพโหลดไปเสร็จแล้วเมื่อ 10 นาทีก่อน อาจจะเป็นผลจากข้อแรกคือ ไฟล์เยอะ การ refresh ข้อมูลใหม่เลยทำงานช้าตามไปด้วย

สรุป OneDrive Files On-Demand อาจจะเหมาะกับไฟล์น้อยๆ มั้ง ไฟล์เยอะๆ แบบเรานี่คงจะไม่ไหว (แต่ OneDrive for Business พี่ให้พื้นที่มา 1TB เลยนะ)

หมายเหตุ สิ่งที่เพิ่มมาใน Dropbox Professional คือ

  • Smart Sync (Files On-Demand)
  • Full text search (เอาไว้ค้นหาข้อมูลในไฟล์)
  • File version history 120-day history (Plus ให้ 30-day)
  • Shared link controls (Plan เก่ามันเคยมี มันถอดออกมาให้ Pro ใช้แทน)

ซึ่งเป็นความสามารถที่ดีมากๆ ทุกตัว แต่ก็ช่างใจนิดนึงกับราคาที่แพงขึ้นมากจนน่าตกใจ

Report แบบด่วน #BNK48 @ 411 Fandom Party in Bangkok

ดูอยู่บัตร 2,000 บาท หลัง ๆ หน่อย แต่ระยะไม่ได้ไกลมาก ถ้าเทียบกับการไปดูคอนเกาหลีอย่างเกิลเจนและแทยอน ถือว่าใกล้กว่ามาก (คอนเกาหลีที่ไปดูคือบัตร 6,000 บาท ระยะก็ประมาณนี้)

ตอน overture กับ Aitakatta ของ BNK48 ขึ้น ผมตะโกนมิกซ์สุดเสียงเลย (มันจะมั่ว ๆ บ้าง) คือแบบ ikonic กับนุชes หันมามองเลย (ในใจคงคิด เมิงเป็นบ้าอะไร) คือเราอายก็อาย แต่เพื่อน้อง ๆ โบกปูนใส่หน้ามาจากบ้าน คือไม่สนใจเว้ย งานมันมืด ไฟไม่มี เค้ามองตูไม่เห็นหรอก 555555

เพลงในงานสำหรับกลุ่มมีเดียเซม 6 คน มี 3 เพลงในซิงเกิลแรกสุด
– Aitakatta (อยากจะได้พบเธอ)
– Oogoe diamond (ก็ชอบ ให้รู้ว่าชอบ)
– 365 nichi no kamihikouki (365 วันกับเครื่องบินกระดาษ)

น้อง ๆ เมมเบอร์ช่วงแรกดูตื่นเวทีพอสมควร แต่พอไปสักพักเริ่มชิน ก็เล่นกับคนดูได้ดี การเต้นค่อนข้างดูเนียนตา (มีพลาดนิด ๆ หน่อย ๆ) เสียงร้องดูดีมากเลย อานิสงส์คงมาจาก road show ในช่วงเดือนที่ผ่านมา เพราะได้ฝึกร้องสดมาพอสมควร แต่คอนนี้จะโหดกว่าหน่อย ตรงที่ 3 เพลงเป็นเพลงเต็มหมด ไม่ใช่แบบสั้นในฉบับ road show ทำให้เต้นนานกว่าเดิม เวลาพักระหว่างเพลงน้อยกว่า เพราะไม่มีเกมเล่นขั้นเวลา มีสัมภาษณ์ และช่วงทักทายแฟน ๆ เพื่อถ่วงเวลาพักนิดหน่อย อาการหอบเหนื่อยเลยออกอย่างเห็นได้ชัด มีช่วงนึงมี่โกะกำลังพูดทักทายแฟน ๆ น้องพูดต่อไม่ได้ต้องพักหายใจอยู่แป็บนึง แต่ทุกอย่างก็ผ่านไปได้ด้วยดี สำหรับ 3 เพลงแรก แฟนคลับ 2 ด้อมก็ดูสนุกกับน้อง ๆ ดีมากเลย

ส่วนต่อมาคือ ช่วงเปิดตัวเพลงใหม่ในงาน คือ คุกกี้เสี่ยงทาย (Koisuru Fortune Cookie) โดยเซ็นบัตสึเฉพาะกิจ 411 ver. ทั้ง 16 คน เพราะมีระบุใน VTR ไว้ว่า 411 ver. (คัดมาเฉพาะคอนนี้) คือ แคนแคน น้ำหนึ่ง เนย ตาหวาน แจน แก้ว เฌอปราง มิวสิค เจนนิษฐ์ ปัญ อิซึรินะ โมบาย ปูเป้ มิโอริ ไข่มุก และอร ส่วนเซ็นบัตสึที่จริงๆ ควรจะขึ้นในคอนนี้อย่าง จ๋า น้ำหอม และซัทจัง ไม่ได้ขึ้นเพลงนี้ (ยังไม่ทราบเหตุผลที่แท้จริง ก็มีกระแสเดาไปต่าง ๆ นา ๆ และดราม่าอยู่บ้าง แต่ก็ถือว่าเคารพการตัดสินใจของทีมงานแล้วกัน) และเอาจริง ๆ ไม่กี่วันก็รู้แล้วว่า เซ็นบัตสึทั้ง 16 คน ที่จะโปรโมทซิงเกิล คุกกี้เสี่ยงทาย คือใครบ้าง โดยเนื้อร้อง และคำแปลของเพลง ที่แปลมาจากเพลงญี่ปุ่น ถือว่าดีมากเลย ฟังแล้วติดหูได้ไม่ยาก ประกอบกับท่าเต้นที่เต้นได้ง่าย ทำให้เข้าถึงไม่ดูลำบากแต่อย่างใด (หวังว่าทีมงานจะไม่พลาดเรื่อง MV แบบซิงเกิลแรกอีก)

สรุปภาพรวมส่วนของ BNK48

เวทีค่อนข้างกว้าง ควรจะขึ้นมา 16 คนตั้งแต่เพลงแรกเสียด้วยซ้ำ เพราะจะทำให้คอนนี้พีคกว่านี้มาก เพราะน้อง ๆ กระจายเต็มพื้นที่เวที น่าจะทำให้ด้อมอื่น ๆ สัมผัสกับความน่ารักของน้อง ๆ ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งเห็นได้ชัดจากเพลง คุกกี้เสี่ยงทาย ที่ด้อมอื่น ๆ ประทับใจมาก ๆ มีด้อมอื่นโดนน้อง ๆ ตกไปเยอะมาก

บรรยากาศในงานโดยรวมเป็นไปอย่างฉันมิตรระหว่างด้อม ในช่วงที่น้อง ๆ BNK48 ขึ้นมา ทั้งฝั่ง นุชes และ ikonic ก็โบกแท่งไฟ และช่วยกันกรี๊ดให้กับน้อง ๆ เช่นเดียวกัน แม้จะยิงมิกซ์ไม่เป็น ก็พยายามโปกแท่งไฟช่วยแทน เป็นคอนที่ดูน่ารักดี ช่วย ๆ กันฟังแฟนคลับ BNK48 ก็เปลี่ยนสีแท่งไฟตามแต่ละด้อมเอา โดยแฟนคลับเป็กใช้แท่งไฟแบบคทาสีขาว และ ikon เป็นสีแดง ส่วนแฟนคลับ BNK48 แท่งไฟส่วนใหญ่เปลี่ยนสีไปมาได้อยู่แล้ว เลยสะดวกต่อการเชียร์ด้อมอื่น ๆ ได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนแท่งไฟ ทำให้กลมกลื่นไปกับด้อมอื่นได้ไม่ยาก

สำหรับช่วงเป๊ก ผลิต และ ikon ขึ้นเราก็ช่วยเชียร์กันไปเรื่อย ๆ เช่นกัน ก็สนุกไปกับเพลง โดยเฉพาะเป๊ก ผลิต ที่ perform ดีมาก เพลงที่จัดมาร้องให้แฟน ๆ ฟังถือว่าพีคมาก มีเพลงเก่า ๆ ที่ผมเคยฟังเมื่อนานมาแล้วด้วย เลยพอร้องตามได้ ส่วนฝั่ง ikon ด้วยความที่เราไม่ได้ตามเพลงเลย เลยแปลก ๆ หน่อย แต่ก็โปกแท่งไฟช่วย ๆ ด้อมเค้าเช่นกัน เพลงฟังแปลกหูดี เดี่ยวหาเวลาติดตามบ้าง

สำหรับ report รอบนี้จบแค่นี้ ขอไปนั่งร้องเพลงต่อ

โคอิซูรุ ฟอร์จูน คุกกี้ มาลุ้นดูสิ อาจจะเจอความหวังที่ยังรออยู่ Hey Hey Hey เผื่อจะดี ลองวัดกันดู เสี่ยงแต่คงต้องยิ้มต้องสู้กันไป…..

หมายเหตุ เป็น report ที่แซง NMB48 และ งานจับมือ BNK48 เพราะรู้สึกประทับน้อง ๆ ภายในงานมาก ขอแซงก่อนแล้วกัน

มันควรถึงเวลา “หยุด” ได้แล้ว

เคสเรื่องตรวจทรงผม การกล้อนผม ตรวจเครื่องแต่งกาย บังคับโน้นนั้นนี่ และลุแก่อำนาจที่กระทำต่อผู้เรียน ในแวดวงการศึกษาไทยเนี่ย ผมแม่มไม่สนับสนุนเลยสักนิด

คือผู้สอนเหล่านั้นใช้อำนาจภายในศีลธรรมอันดี(ที่เลวทราม) มากระทำต่อร่างกายคนอื่นจนเป็นเรื่องปรกติมาอย่างยาวนาน สืบทอดกันรุ่นสู่รุ่นกันดูเป็นเหมือนปรกติ

รุ่นผม รุ่นที่โดนกระทำ มันควรรู้ว่าการกระทำเหล่านี้ไม่ควรสืบทอดต่อไป แต่ผมก็ยังเห็นรุ่นผมและรุ่นน้องผม ยังคงกระทำการสิ่งเหล่านี้ โดยได้หลงลืมภาพความเจ็บปวด ที่เราไม่ควรสืบถอดภายในศีลธรรมอันดี(ที่เลวทราม)เหล่านี้ต่อไปยังรุ่นลูก รุ่นหลานของเราในอดีตไปอย่างไม่น่าเชื่อ

แต่ก็แน่หล่ะ …… ในสังคมที่ไม่เคยให้สิทธิในการคิดได้เอง และหากมีคนคิดได้เอง และตั้งคำถาม ต่อศีลธรรมอันดีงามเหล่านั้น จะถูกทำโทษภายในศีลธรรมอันดี(ที่เลวทราม) ขจัดออกจากสังคมจากผู้ที่เต็มไปด้วยจริยธรรมอันโหดร้ายเลวทรามบนความปรารถนาดี

แล้วยิ่งน่าขนลุกหนักเข้าไปอีก เมื่อเหล่าผู้อ้างศีลธรรมอันดี(ที่เลวทราม) ใช้คาถาแสกความน่าสงสารเข้าไป แล้วจับแยกคนเหล่านั้นออกไปจากสังคมคนส่วนใหญ่ เพื่อลงโทษให้ต่ำตมหนักกว่าเดิมเข้าไปอีก ก็ยิ่งรู้สึกถึงความโหดร้ายของการกระทำเหล่านี้มากขึ้น

แต่ผมยังเชื่อว่า มันควรถึงเวลา “หยุด” ได้แล้ว

คืนความเป็นคนให้กับลูก-หลานกันเสียที โรงเรียนที่แลดูเหมือนคุก มันไม่ได้ขังร่างกาย แต่มันขังจิตใจ กักขังความคิด กักขังจิตวิญญาณความเป็นคนไว้รอวันปลดปล่อย (ในวันที่อาจจะสายไป)

ความไม่ได้ไม่ได้สัดส่วนในการนำเสนอโฆษณา

เรื่องโฆษณาบน BTS ผมเอาจริงๆ ว่าจะไม่พูดแล้ว เพราะขี้เกียจพูดมาก เพราะบ่น-พูดมาหลายปี ทั้งเรื่องเสียงโฆษณาในตู้โดยสาร และเรื่องโฆษณาบนบัตรโดยสาร ล่าสุดโฆษณาพ่วงท้ายตอนประกาศสถานี (อันนี้เข้าขั้น here เลย)

เหตุผลที่ผมเงียบๆ ไม่พูดรอบนี้ (สุดท้ายก็ขอหน่อย)

เพราะเบื่อสายการตลาดโฆษณามานั่งถกประเด็นนี้ บอกไม่พอใจก็ไม่ต้องขึ้น พื้นที่เอกชน เค้าอยากโฆษณาตรงไหนก็ทำได้ คุณมีทางเลือก ไล่ให้ไปใช้ระบบอื่น โน้นนั้นนี่ ทั้งๆ ที่อย่าลืมว่าบริการนี้คือ “ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ” ที่ได้รับสัมปทานจากรัฐมาเดินรถให้บริการประชาชน แต่ไร้จิตสำนึกในความพอดีในการนำเสนอโฆษณา เนื้อหาสู่ประชาชน ให้รู้สึกไม่ถูกรุกล้ำ และไม่ทำให้เกิดการเดือดร้อนรำคาญต่อการใช้บริการหลักในระบบ (ว่าง่ายๆ ก็คือ ไม่ได้สัดส่วน)

ตอนนี้ผมก็คงเอาที่พวกพี่ๆ เค้าสบายใจแหละ เต็มที่ไปเลย สินค้าไหนขาย หรือใช้พื้นที่โฆษณาจนเกินงาม ผมก็แค่แบนไม่ซื้อ ไม่แนะนำ ไม่พูดต่อ ก็แค่นั้น ผมคงทำได้แค่นี้ และรอให้วงการโฆษณา มีจิตสำนึกต่อประชาชนให้มากกว่านี้ด้วยตัวเอง ก็แค่นั้น (ซึ่งดูแล้วคงจะไม่)

มองยังไงมาตรฐานอาชีพด้านไอซีทีที่กำลังจะเกิดขึ้น

จากข่าว มาตรฐานอาชีพด้านไอซีทีคลอดแล้ว ในช่วง 2-3 วันที่ผ่าน พอเข้าไปดูที่ โครงการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ “สาขาวิชาชีพเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและดิจิตอลคอนเทนต์” ก็พอทราบรายละเอียดว่า มาตรฐานนี้จัดโดยสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) แน่นอนว่าเป็นของใหม่ที่ไม่ทราบว่าสถาบันนี้มาได้อย่างไร เลยค้นข้อมูลก็พบรายละเอียดและแนวทางของสถาบันแห่งนี้ หากดูเนื้อหาทั้งหมดแล้วนั้น ในความคิดเห็นส่วนตัวไม่มีปัญหากับการสอบมาตรฐานประกอบวิชาชีพไอทีนะ คือมองว่ามันคือ certificate ตัวหนึ่งในตลาดที่นำไปใช้งานในการแวดวงราชการได้ ซึ่งผมมองว่าคงคล้ายๆ กับมาตรฐานวิชาชีพอื่นๆ เช่น ใบประกอบวิชาชีพวิศวกร ใบประกอบวิชาชีพครู ใบประกอบโรคศิลป์ ใบประกอบวิชาชีพเภสัช ใบประกอบวิชาชีพสถาปนิก ใบประกอบวิชาชีพบัญชี หรืออนุญาตประกอบวิชาชีพทนายความ เป็นต้น

ประโยชน์อย่างแรกคือ หากต้องการรับงาน หรือไปประมูลงานในโครงการต่างๆ ก็ต้องมีมันไว้เป็นมาตรฐานการรับงานขั้นต่ำสุดที่ควรจะมีคนผ่านใบมาตรฐานประกอบวิชาชีพไอทีนั้นร่วมอยู่ในทีมผู้รับงานด้วย ส่วนต่อมาคือ ต่อไปเวลารับเข้าทำงานถ้าผ่านใบมาตรฐานประกอบวิชาชีพไอที ก็แสดงว่าผ่านมาตรฐานส่วนกลาง ไม่ว่าจะจบมหาวิทยาลัยระดับไหน หากไม่ผ่านก็ถือว่าไม่ได้มาตรฐานส่วนกลางมันก็แค่นั้น

ซึ่งหากสังเกตดีๆ อาชีพใดๆ ที่มีการสอบใบประกอบวิชาชีพมักจะยุ่งเกี่ยวกับหน่วยงานราชการเป็นสำคัญ โดยในภาคเอกชนคงไม่กระทบเท่าไหร่ เพราะสายงานนี้ก็รับกันด้วยการทดสอบ หรือดูที่ผลงานกันอยู่แล้ว แต่ภาคราชการจะกระทบมาก เพราะนักวิชาการ ระดับปฏิบัติการ ระดับชำนาญการ และระดับชำนาญการพิเศษ จะต้องสอบ และทำให้มาตรฐานสายงานไอทีในระดับนักวิชาการของหน่วยงานรัฐฯ มีมาตรฐานมากขึ้น ซึ่งส่วนตัวคิดว่าดีนะ เพราะใบประกอบวิชาชีพอื่นๆ ก่อนหน้านี้ หลายๆ ตัวก็ได้มาตรฐานที่ดี บางใบมีการต่ออายุใบประกอบวิชาชีพด้วย เพราะใบประกอบวิชาชีพเหล่านั้นมีวันหยดอายุ ต้องมาสอบเพื่ออัพเดทความรู้ตลอด ซึ่งก็ดีสำหรับวิชาการที่ก้าวไปข้างหน้าตลอดเวลา ซึ่งส่วนของไอทีแรกๆ คงมีข้อกังขาในช่วงแรกๆ แหละ ซึ่งคงใช้เวลาวัดกันว่ามาตรฐานที่สอบๆ กัน มันช่วยเพิ่มเติมความน่าเชื่อถือได้แค่ไหน

ฉะนั้นเรื่องการสอบมาตรฐานประกอบวิชาชีพไอที ผมมองว่ามันถูกผลักดันมาหลายรอบแล้ว แต่ก็ไม่สำเร็จ หรือเป็นท่แพร่หลายเสียเท่าไหร่ ก็ไม่รู้โครงการนี้จะเป็นโครงการสุดท้าย หรือว่าจะต้องทำโครงการแนวๆ นี้กันอีกสักกี่รอบเหมือนกัน ><“