ส่งท้ายปีเก่า – เล่าเรื่องจอประสาทตาบวมน้ำจากการพักผ่อนน้อย และใช้ยาสเตียรอยด์มากเกิน

เมื่อประมาณวันที่ 23 มกราคม 2562 เกิดอาการตาซ้ายมองภาพแล้วไม่ชัด และบางส่วนของภาพที่ผ่านตาซ้ายมีสภาพสีเพี้ยนเป็นสีเหลืองนิด ๆ จึงไปหาหมอที่โรงพยาบาล แล้วทำการสแกนวิเคราะห์จอประสาทตา และขั้วประสาทตา (OTC หรือ Optical coherence tomography) เพื่อดูสภาพ ตอนทำก็วัดค่าความดันตา โดยรวมทุกอย่างปรกติ แล้วก็ไปหยอดขยายม่านตาให้ขยายให้มาก ๆ เพื่อจะได้ถ่ายรูปภายในจอประสาทตาและฉีดสีเพื่อดูเส้นเลือดในตาทั้งสองข้างบริเวณจอประสาทตา ว่ามีจุดรั่วตรงไหนบ้าง เมื่อคุณหมอตรวจสอบ แล้วพบบอาการรบมน้ำบริเวณจอประสาทตา (อาการ CSC หรือ Central Serous Chorioretinopathy) ซึ่งคุณหมอแนะนำว่า อาการนี้ทำได้แต่รอให้มันยุบไปเอง ไม่สามารถกินยา หรือฉีดยาให้ยุบได้ นอกจากจะยิงเลเซอร์ปิดจุดรั่วของสารน้ำ แต่วิธีนี้ไม่อยากแนะนำ เพราะจุดบวมน้ำสามารถหายเองได้ และไม่ใช่จุดที่ที่เป็นอันตรายมากนัก อาศัยความอดทนเป็นหลัก

อาการนี้ช่วงแรกจะแค่สีเพี้ยน ๆ ในข้างที่มีปัญหา แต่สักพักจะเริ่มมองภาพแล้วบวมตรงกลางภาพ (สังเกตจากตาราง Excel) การมองเห็นแย่ลงในตาข้างใดข้างหนึ่ง แรก ๆ จะปวดตา มึนหัว และเป็นไมเกรน เพราะสมองสับสนกับการมองเห็นที่เปลี่ยนไป แล้วจะปวดกระบอกตามาก ต้องใช้ยาลดอาการแสบ-ปวดที่ตาอยู่หลายวัน ถึงจะเริ่มชินกับการมองนี้ที่มีปัญหา

ผมเข้า-ออกโรงพยาบาลช่วงต้นปี 2562 อยู่หลายเดือน เพื่อตรจสอบสภาพของจอประสาทตาประมาณ 2 เดือน ซึ่งส่วนตัวไม่เคยเจออาการแบบนี้ จึงค่อนข้างกังวล และกลัวจะมีปัญหาในการทำงานไปมากกว่านี้ (ทำงานด้านไอที สายตาเป็นสิ่งสำคัญ) จึงปรึกษาคุณหมออีกครั้ง คุณหมอแนะนำให้ฉีดสี และขยายม่านตาเพื่อดูจุดที่แน่นอน และหากว่ามันยังรั่วอยู่ ก็แนะนำให้การยิงเลเซอร์แบบเย็นปิดจุดตรงนั้น อาการจะหายเร็วกว่า แต่ค่าใช้จ่ายจะสูงกว่ามาก และมีความเสี่ยงเล็กน้อย

ด้วยความที่เป็นโรงพยาบาลรัฐ จึงต้องนัดอีกครั้ง และมาในช่วงเช้า เพราะการฉีดสีต้องทำในช่วงเช้า และเข้าตรวจดูผลช่วงบ่าย หากผลตรวจต้องเลเซอร์ปิดจุดรูรั่วจริง ๆ ก็ทำภายในช่วงเวลาราชการได้เลย ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า โดยจากการฉีดสี และเข้าไปฟังผลตรวจ คุณหมอแจ้งว่าเส้นเลือดที่เป็นต้นเหตุมของอาการรั่วได้รักษาตัวเองแล้ว และไม่มีการรั่วของสารน้ำออกมาอีก อาการบวมที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้ก็ยุบลงมาพอสมควรแล้ว คุณหมอจึงไม่ยิงเลเซอร์อุดจุดที่รั่วให้ และให้กลับบ้าน ทำใจให้สบาย เพราะอาการดีขึ้น และเป็นสัญญาณดีว่ากำลังจะหาย นัดตรวจใหม่อีกครั้งใน 3 อาทิตย์

ระหว่างนี้คุณหมอแจ้งว่าให้งดสัมผัสกับสเตียรอยด์ทุกทาง (กิน, ทา หรือหยอด) และให้นอนวันละ 7-8 ชั่วโมงให้ได้ทุกวัน แบบนอนรวดเดียว ไม่ใช่นอนหลายรอบสะสม น่าจะทำให้อาการหายได้เองภายใน 1-2 เดือนโดยไม่ทำอะไรเพิ่มเติม

ช่วง 3 อาทิตย์นั้น อาการดีขึ้นตามลำดับ การมองเห็นค่อย ๆ กลับมาปรกติ และการตรวจในรอบถัดมาก็ได้ผลออกมาดีเยี่ยมอาการบวมไม่มีแล้ว คุณหมอจึงนัดตรวจอีกครั้งใน 6 เดือนให้หลัง ซึ่งผลตรวจก็เป็นในแนวทางเดิม คือไม่มีอาการบวมใด ๆ ขึ้นมาอีก แต่คุณหมอก็ยังกำชับเช่นเดิม ให้ งดสัมผัสกับสเตียรอยด์ทุกทาง (กิน, ทา หรือหยอด) และให้นอนวันละ 7-8 ชั่วโมงให้ได้ทุกวันเช่นเดิม เพราะแม้ว่าอาการนี้จะหาย แต่โอกาสกลับมาเป็นอีกสำหรับคนที่เคยเป็นแล้วจะสูงกว่าคนที่ยังไม่เคยเป็นมาก

ทิ้งท้าย สำหรับคนที่นอนดึก ทำงานหนัก และเป็นผู้ชาย อาการแบบที่ผมเป็นนี้ มีโอกาสเกิดได้มากกว่าผู้หญิง 7-8 เท่า และมักเกิดกับคนที่นอนพักผ่อนไม่เพียงพอ (พวกนอน 4-6 ชั่วโมงเป็นประจำต้องระวัง) ทำงานมีความเครียดสูง เป็นโรคเบาหวาน หรือใช้สเตียรอยด์มาเป็นเวลานาน อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือผสมกัน ใครกำลังอยู่ในความเสี่ยงแบบนี้แนะนำให้ปรับการนอน และการใช้ยาเพื่อไม่ให้เกิดโรคซ้ำซ้อนแบบนี้ ซึ่งมันทำให้ productivity ลดลงเยอะมากในช่วงนั้น

Desktop PC ตัวใหม่ เพื่อปรับการทำงานเป็น Desktop + Notebook แทน

ปีนี้ผมซื้อ Desktop PC เครื่องใหม่ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายทั้งหมดประมาณ 38,000 บาท เป็น Desktop PC ในราคา 31,800 บาท และ UPS 6,200 บาท เหตุที่แพงกว่าที่คาดการณ์ไว้ 12,000 บาท เพราะการ์ดจอ และ UPS เป็นหลัก

โดยรวมค่อนข้างประทับใจ จะปวดหัวหน่อยตรง TPM ที่ต้องซื้อเพิ่มเติม กับ M/B ที่สายไฟมันไปบังช่อง 5.25″ เลยใส่ optical drive ของเก่าไม่ได้ และสายไฟที่เดินเข้า M/B มันไปดันช่องใส่ HDD ตัวล่าง เลยใส่ HDD ตั้งนั้นได้ 1 ตัวแทนที่จะได้ 2 ตัว (เพื่ออนาคตมีเพิ่ม) แม้มันจะมีช่องให้แขวน HDD ได้อีกตัว แต่ตอนขันน็อตมันลำบากมาก

สำหรับ power supply เหตุผลใช้เลือกแค่ 650W 80+ bronze เพราะหากไปไกลกว่านี้ UPS จะราคาโดดไปไกลมาก (ต้องไปเล่น pure sine wave ไม่งั้นมันทำงานกับ Active PFC watt สูง ๆ แล้วจะมีปัญหา) โดยรวมโหลดไฟของเครื่องไม่เกิน 500W อยู่แล้ว แต่ด้วยความที่เป็น 80+ bronze ก็ต้องเผื่อไปอีกนิด เช่นเดียวกับ UPS ก็ต้องบวกโหลดสูงสุดจาก power supply ออกไปประมาณ 10-25%

ส่วน monitor, keyboard และ mouse ใช้ของเดิมที่มีอยู่แล้วก็ไม่ต้องจ่ายส่วนนี้

สำหรับ OS ก็ซื้อ Windows 10 Pro OEM มาใช้งาน ราคาก็เกือบๆ 4,700 บาท การจ่ายเงินซื้อ OS เมื่อก่อนจะคิดเยอะ แต่เดี่ยวนี้ เหมือนเดินไปซื้อการ์ดจอ หรือ CPU นั่นแหละ เหตุที่ใช้ Pro เพราะเรื่อง Hyper-V และ BitLocker เป็นหลัก เพราะต้องทำงานกับพวก container orchestration เลยจำเป็นต้องใช้พวกนี้

จากที่ว่ามาทั้งหมด จุดประสงค์ในการประกอบเครื่องเองครั้งนี้ คือปรับแนวการทำงานในปีหน้า เป็น Desktop + Notebook แทนการใช้ Notebook อย่างเดียว เพราะสเปคที่เท่ากัน Desktop ราคาถูกกว่าครึ่งหนึ่ง โดยตั้งต้นสเปคเน้น RAM 32GB และ SSD 512GB เป็นที่ตั้ง ส่วน CPU ก็หาตัวที่เข้ากันได้ ใส่ HDD ที่มีอยู่เดิมเข้ามา เพราะในปีหน้าคงต้องทำงานเป็นแบบ container orchestration มากขึ้น เวลาใช้ Notebook ที่มี RAM 16GB เปิด docker-desktop ทำงานก็โดนจองไป 4GB ขั้นต่ำ เวลา LAB อะไรซับซ้อนมันลำบากต้องไปวุ่นวายบน Cloud ที่แพงพอสมควร ซึ่งจากที่ว่ามา ต้องขอบคุณเทคโนโลยี Cloud Storage + Git repository ที่ทำให้การทำงานระหว่าง Desktop และ Notebook สบายขึ้นมาก

ท้ายสุดก็มีติดเรื่องเดียว LINE นิดนึง เพราะฝั่ง Desktop จะใช้ desktop app ปรกติไม่ได้ ต้องใช้ผ่าน Chrome extension แทน ก็พอถูไถไปได้บ้าง

ในด้าน Hardware โดยรวม และ Software จบไป ก็เป็นเรื่องของการจัดระเบียบสายเชื่อมต่อใหม่ เพื่อให้แชร์ จอภาพ, keyboard, mouse และลำโพง USB ระหว่าง Desktop และ Notebook ได้อย่างสะดวกมากขึ้น โดยหัวใจสำคัญ คือ Ugreen USB 3.0 Switcher 2 PC share 4 port USB (ต่อไปเรียก USB Switcher) ซึ่งทำงานร่วมกับจอ Dell ที่ตัวมันรับ input ได้ 4 input เป็น DP x 2 และ HDMI x 2 พร้อม USB 3.0 Hub 4 port ในตัว

เริ่มต้นที่จอ Dell ทำการต่ออุปกรณ์ที่ต้องการแชร์ไปมาระหว่าง Desktop และ Notebook คือ keyboard, mouse และลำโพง USB เข้ากับ USB 3.0 ของจอ แล้วเอาสาย USB 3.0 ของจอภาพต่อกับ USB Switcher

เสร็จแล้วก็เอาสาย USB Switcher ฝั่ง input PC ไปต่อกับ Desktop และ Notebook เวลาสลับก็กดปุ่ม 1 – 2 สลับไปมา ก็ทำให้เราสลับตัว input ระหว่าง Desktop กับ Notebook ได้แล้ว

สำหรับการแสดงผล จอรองรับ 4 input เราให้ Notebook ต่อเข้า input HDMI ส่วน Desktop ก็ต่อเข้า input DP แทน เวลาสลับจอก็ทำผ่านคอนโซลของจอภาพเอา

สำหรับ Notebook มีการต่อ external HDD 2TB x2 ก็ต่อผ่าน USB 3.0 Hub แบบมีแหล่งจ่ายไฟแยกอีกช่องแยกออกไป เพราะเวลาสลับผ่าน USB Switcher จะได้ไม่สลับไปด้วย

จากทั้งหมดที่พยายามทำมา ก็ใช้เวลาอาทิตย์กว่า ๆ ในการทยอยปรับแก้จนออกมาได้อย่างที่เห็น ปีใหม่ในปีหน้า น่าจะทำให้การทำงานสะดวกราบรื่นขึ้นไปอีก