ข้อมูลสรุปการพูดคุยกับทาง Baidu Thailand กรณี Potentially Unwanted Program

บันทึกข้อมูลที่พูดคุยเมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2557

ข้อมูลอาจตกหล่นไปบางส่วนเพราะเขียนตามที่นึกออก โดยการพูดคุยไม่ได้บันทึกไว้อย่างละเอียด ใช้เป็นข้อมูลที่อ้างอิง หรือเป็นข้อผูกมัดของทั้งสองฝ่ายให้ทำตามไม่ได้ทั้งหมด เพราะเป็นการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ และไม่ได้มีเซ็นหนังสือยอมรับความถูกต้องของเนื้อหาจากทั้งสองฝ่าย

ผมได้เดินทางไปพูดคุยปัญหาต่างๆ ที่ได้ประสบเอง และบอกเล่าจากข้อมูลคนรอบข้างให้กับ Baidu Thailand เพื่อรับทราบปัญหา และนำไปแก้ไขปรับปรุงต่อไป โดยการพูดคุยเป็นไปด้วยดี และเป็นการพูดคุยในเชิงเทคนิคทั้งด้านคอมพิวเตอร์ และทางกฎหมายบางส่วนที่เป็นข้อกังวล มีดังต่อไปนี้

> Ford: รูปแบบการติดตั้งของซอฟต์แวร์ของ Baidu นั้นมีการติดตั้งที่ไม่ได้รับการยอมรับจากผู้ใช้โดยผ่านตัวติดตั้งของซอฟต์แวร์ตัวอื่นๆ ซึ่งผมได้เสนอแนวทางการแก้ไขคือการกำหนดรูปแบบที่ชัดเจนต่อยอมรับเพื่อติดตั้งซอฟต์แวร์ของ Baidu อย่างชัดเจน

> Baidu: ทาง Baidu ได้รับทราบปัญหา และทาง Baidu ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการตรวจสอบจาก community ต่างๆ ว่ามีซอฟต์แวร์ตัวใดบ้าง และได้ทำการแก้ไขปัญหากับทาง software distributor และ ads network ให้ปรับปรุงรูปแบบดังกล่าวแล้ว แต่ในตัวติดตั้งในซอฟต์แวร์เก่าๆ ที่อาจจะตกค้างอยู่คงไม่สามารถกลับไปแก้ไขไม่ได้

> Ford: ถ้าเป็นเช่นกัน การถอนการติดตั้งของซอฟต์แวร์ Baidu ก็ยังทำได้ยากอยู่ดี หรือพูดสั้นๆ “ติดตั้งง่าย เอาออกยาก”

> Baidu: ทาง Baidu ยืนยันว่าตัวซอฟต์แวร์นั้นได้มีการพัฒนาทำตัวถอนการติดตั้งมาอย่างถูกต้องสมบูรณ์แล้ว

> Ford: หากเป็นเช่นนั้นจริงทำไมถึงพบปัญหาว่าซอฟต์แวร์ตัวอื่นๆ นอกจากซอฟต์แวร์ของ Baidu ถึงไม่ถูกนำออกไปด้วย หรือแม้แต่มีการติดตั้งซ้่ำกลับมาอีกได้ ซึ่งทางผมตรวจสอบมาได้แก่ Hao123, 555.in.th หรือ Omiga Plus เป็นต้น

> Baidu: ขอยืนยันว่าซอฟต์แวร์ตัวอื่นๆ นอกจาก Baidu PC Faster และ Baidu AntiVirus นั้น ไม่ใช่ของ Baidu แต่อย่างใด หากแต่เป็นซอฟต์แวร์ที่ได้ซื้อช่องทาง software distributor และ ads network เช่นเดียวกับทาง Baidu ทำให้อาจมีตัวเลือกติดตั้งที่อาจเลือกพร้อมกับทาง Baidu ซึ่งทาง Baidu ได้พูดคุยกับทาง software distributor และ ads network หลายเจ้าที่ทำแบบนี้ให้ปรับปรุง และบางรายก็ได้ยกเลิกสัญญาไปแล้วเช่นกัน อ่านแก้ไขแก้ไขเพิ่มเติม [1] และ [2]: 25/7/2014 12:10 น. ด้านล่าง

> [1] Ford: ผมยังยืนยันต่อไปว่า การถอนการติดตั้งยังทำได้ยาก โดยได้แสดงขั้นตอนการถอนการติดตั้งจาก http://malwaretips.com/blogs/baidu-pc-faster-virus/ เป็นตัวอย่าง และได้นำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหานี้ด้วยการจัดทำคู่มือที่เป็นภาษาไทย และออก Removable Tools ทั้งซอฟต์แวร์จาก Baidu และซอฟต์แวร์ที่ถูกคาดเดาว่ามาจาก Baidu เองเพื่อช่วยกลุ่มผู้ใช้ดังกล่าวต่อไปน่าจะช่วยให้ปัญหาเหล่านี้ได้รับการแก้ไข
> [2] Ford: ควรประกาศอย่างเป็นการทั่วไปบนเว็บไซต์ของ Baidu เองว่า ซอฟต์แวร์ที่ถูกคาดเดาว่ามาจาก Baidu นั้นมิใช่ซอฟต์แวร์ที่มาจาก Baidu เอง เพื่อเป็นการยืนยันอีกครั้งหนึ่ง
> [3] Ford: ทาง Baidu มีการตอบคำถามในบางคำถามตาม community ต่างๆ ในการแนะนำวิธีการใช้งานอยู่ อยากแนะนำให้ทำคู่มือเป็นภาษาไทยอย่างเป็นทางการให้อ่านฟรีบนเว็บของ Baidu ภาษาไทย เพื่อเป็นแนวทางในการใช้งานและการแก้ไขปัญหาของผู้ใช้งานเป็นการทั่วไป เพราะการสนับสนุนผ่านทาง community เพียงอย่างเดียว อาจไม่ทั่วถึง

> Baidu: ทาง Baidu จะนำกลับไปพิจาราณาความเหมาะสม แต่เป็นทางออกที่ดีในการแก้ไขปัญหา

> Ford: เป็นไปได้หรือไม่ ที่จะเผยแพร่รายงานการตรวจสอบรูปแบบการติดตั้งตัวซอฟต์แวร์ของ Baidu ที่ได้ส่งให้กับทาง software distributor และ ads network ว่าที่แห่งใดบ้างได้ทำตามข้อกำหนดในการติดตั้งอย่างถูกต้องแล้ว เพื่อแสดงความโปร่งใส และความมั่นใจในการติดตั้งซอฟต์แวร์ต่างๆ

> Baidu: ทาง Baidu จะนำกลับไปพูดคุยกันเพื่อดูความเป็นไปได้ต่อไป เนื่องจาก software distributor และ ads network มีความหลากหลายและเยอะมาก แต่ทาง Baidu ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการตรวจสอบอยู่ตลอดในช่วงเวลาที่ผ่านมา และเราได้ยกเลิกสัญญาไปหลายเจ้าแล้ว ตามที่ข้อมูลข้างต้น

> Ford: ผมได้ทดสอบติดตั้งซอฟต์แวร์ที่คาดว่าจะมีตัวติดตั้ง Baidu บนเครื่องคนละ location setting กัน กลับไม่พบการติดตั้งซอฟต์แวรของ Baidu แต่เป็นซอฟต์แวร์ของผู้ผลิตรายอื่น แสดงว่า ทาง software distributor และ ads network มีการตรวจสอบข้อมูลของประเทศปลายทางด้วยใช่หรือไม่

> Baidu: เป็นไปตามความเข้าใจแบบนั้นจริง

> Ford. ทางผมได้พบข้อชวนเป็นห่วงต่อปัญหาในด้านข้อมูลส่วนตัว และความกำกวมของ EULA (อ้างอิง http://antivirus.baidu.com/th/license_agree.php) อยู่หลายส่วนด้วยกัน
1. คำว่า “ข้อมูลส่วนบุคคล” ในข้อที่ 3.5 ของ EULA ของ Baidu AntiVirus นั้นค่อนข้างกว้างมาก ซึ่งตาม “ร่าง พรบ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล” นั้นหมายถึง “ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบุคคล ซึ่งทำให้สามารถระบุตัวบุคคลนั้นได้ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม” ซึ่งค่อนข้างกว้าง ควรปรับให้แคบลงกว่านี้ เพราะอาจหมายรวมไปถึงข้อมูลบัญชีธนาคาร บัตรเครดิต ข้อมูลการเข้าถึงพื้นที่ที่ต้องมีการยืนยันด้วยรหัสสมาชิกและรหัสผ่านอื่นๆ ได้
2. การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลนั้นหมายรวมไปถึงพันธมิตรของ Baidu ด้วย และไม่ต้องมีการยินยอมจากผู้ใช้ ซึ่งส่วนตัวมองว่าตรวจสอบยาก เพราะพันธมิตรของ Baidu เพิ่มขึ้นทุกวัน เพราะฉะนั้น ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้อาจจะแพร่กระจายออกในบริษัทอื่นๆโดยไม่ได้รับการยินยอมจากผู้ใช้
3. จากข้อที่ 2. การเผยแพร่ดังกล่าว มีข้อยกเว้น ซึ่งนอกจากพันธมิตรของ Baidu แล้วยังมีหน่วยงานราชการตามกฎหมาย ซึ่งมิได้ระบุประเทศว่าอ้างอิงกฎหมายหรือหน่วยงานราชการประเทศใด เพราะมีกลุ่มผู้ใช้กังวลต่อข้อมูลส่วนบุคคลที่อาจถูกรวบรวมส่งต่อให้กับหน่วยงานราชการทั้งปรถเทศจีน ไทยหรือประเทศอื่นๆ ได้โดยไม่ได้้างอิงหลักกฎหมายอย่างชัดเจนว่าใช้ของประเทศใด
4. ในข้อที่ 3.6 มีการขยายความขอบเขตและเหตุผลความต้องการข้อมูลส่วนบุคคลเพิ่มเติมจาก 3.5 อีกรอบ
5. ในข้อที่ 3.8 เรื่อง “ความยินยอมของผู้ใช้” นั้นมีส่วนที่กังวลคือ วงเล็บ (2) ที่กล่าวว่า “การดาวน์โหลด ติดตั้ง หรือใช้ซอฟต์แวร์นี้” ซึ่งมีความหมายว่า เพียงแค่ดาวน์โหลดเข้ามาในเครื่อง แม้ไม่ได้ติดตั้ง ก็อาจหมายถึง “ความยินยอมของผู้ใช้” แล้ว และมีข้อกำหนดคำว่า “อื่นๆ” ซึ่งเป็นข้อกำหนดปลายเปิด ซึ่งสุดท้ายสามารถทำการณ์ใดๆ ก็ได้ ก็เท่ากับเป็น “ความยินยอมของผู้ใช้” ได้แล้วในอนาคต
ในความเป็นจริง ไม่ใช่เพียงแค่ 5 ข้อนี้ เพราะเป็นแค่ตัวอย่างของ EULA ซึ่งมีปัญหา และสร้างความกังวลของผู้ใช้เองได้

> [1] Baidu: สร้าง Baidu รับทราบข้อกังวลดังกล่าว และจะนำไปปรับปรุง และประกาศแจ้งอย่างเป็นการทั่วไปบนเว็บไซต์ของ Baidu เพื่อสร้างความสบายใจของผู้ใช้คนไทยต่อไป โดย EULA ดังกล่าว จะเป็น EULA ที่เหมาะสมกับกฎหมาย และประเทศไทยเป็นสำคัญ
> [2] Baidu: ทาง Baidu ได้เสริมข้อมูลทางด้านเทคนิคว่า ทาง Baidu นั้นมีการเก็บข้อมูลผู้ใช้แบบนิรนาม (anonymous) เช่นเดียวกับซอฟต์แวร์อื่นๆ โดยการส่งข้อมูลกลับไปหรือไม่นั้น มีตัวเลือกให้ผู้ใช้ยืนยันก่อนการส่งข้อมูลอย่างแน่นอน แต่หากติดตั้งผ่าน software distributor หรือ ads network อาจจะไม่มีชุดคำถามดังกล่าว แต่ค่าเริ่มต้นเป็นการกำหนดแบบไม่ส่งข้อมูลให้กับทาง Baidu

แก้ไขเพิ่มเติม [1] : สำหรับ hao123.com ผมไม่ได้ทักท้วงว่าทำไมถึงไม่เกี่ยวกับ Baidu เพราะในเว็บ hao123.com ยังมีระบุว่าเป็นของ Baidu.com เนื่องจากการควบรวมตั้งแต่ปี 1999

แก้ไขเพิ่มเติม [2]: 25/7/2014 12:10 น.
คำถาม: โปรแกรมในเครือ Baidu มีอะไรบ้าง
คำตอบ: เท่าที่มีในประเทศไทยตอนนี้มีดังนี้
Desktop
– Baidu PC faster
– Baidu anti virus
– Spark Browser (1. Spark Browser 2. Spark Security Browser)
– PC App Store
– Hao123
apps บนมือถือระบบ Android
– DU Speed Booster
– DU Battery Saver
– Baidu Browser
– PhotoWonder

ข้อมูลอ้างอิง http://pantip.com/topic/32279590/comment1

Potentially Unwanted Program คืออะไร?

Potentially Unwanted Program ตัวย่อ PUP หรือ PUPs เป็นคำที่ใช้อธิบายประเภทของโปรแกรมที่ไม่พึงประสงค์ประเภทหนึ่ง (unwanted programs) ซึ่งอาจมีพฤติกรรมที่เข้าข่าย โทรจัน (trojans) สปายแวร์ (spyware) แอดแวร์ (adware) หรือ มัลแวร์ (malware) โดยมันอาจล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัวได้  (privacy)

โปรแกรมรูปแบบดังกล่าวมักมาพร้อมกับซอฟต์แวร์ฟรีแวร์  ซึ่งส่วนใหญ่จะพบในซอฟต์แวร์ประเภท video codec/recording/streaming, download managers หรือ PDF creators โดยคุณสามารถใช้ซอฟต์แวร์เหล่านี้ได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ แต่มันจะแสดงหน้าต่างที่เป็นโฆษณา แถบเครื่องมือในเบราว์เซอร์ การเปลี่ยนแปลงหน้าเริ่มต้นค้นหา การเปลี่ยนหน้าเริ่มต้นในเบราว์เซอร์ และเก็บรวบรวมข้อมูลผู้ใช้งานบางอย่าง โดยบางส่วนอาจมีการทำงานเบื้องหลัง ซึ่งอาจทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ของท่านทำงานช้าลง พบการทำงานที่ผิดพลาดไปจากความเป็นจริง หรือมีการติดตั้งส่วนเสริมอื่นๆ ในภายหลังโดยไม่แจ้งให้ผู้ใช้งานทราบล่วงหน้า ซึ่ง Potentially Unwanted Program โดยมากมักติดตั้งโดยไม่ได้รับความยินยอมของผู้ใช้งานผ่านการติดตั้งแบบเร็วของซอฟต์แวร์ฟรีแวร์อื่นๆ ผู้ใช้งานควรใช้การติดตั้งซอฟต์แวร์โดยการเลือกตัวเลือกขั้นสูง หรือกำหนดเองเสมอ เพื่อตรวจสอบการติดตั้งที่ไม่ได้รับความยินยอมใดๆ จากผู้ใช้ โดยการนำออกไปจากระบบคอมพิวเตอร์ผู้ใช้งานนั้นมีขั้นตอนที่ยุ่งยากกว่าขั้นตอนปรกติ บางโปรแกรมป้องกันไวรัส หรือซอฟต์แวร์ปกป้องความปลอดภัยจะสแกนและป้องกันระบบของคุณเพื่อป้องกัน Potentially Unwanted Program ในขั้นตอนแรกที่ถูกเรียกใช้ โดยมีคำแนะนำจากเหล่าผู้ผลิตซอฟต์แวร์ปกป้องคามปลอดภัยว่าควรหลีกเลี่ยงการติดตั้งซอฟต์แวร์ฟรีแวร์ที่มี PUP มาพร้อมด้วย เพื่อป้องกันปัญหาทางกฎหมายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้จากการยอมรับการติดตั้งซอฟต์แวร์พรีแวร์ดังกล่าว เนื่องจาก Potentially Unwanted Program นั้นมีการแจ้งข้อกำหนดที่อยู่ในรูปแบบสัญญาการให้สิทธิในการใช้ซอฟต์แวร์ (end user license agreement; EULA) ซึ่งอาจนำไปสู่การฟ้องร้องต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ได้ เนื่องจากผู้ใช้งานได้ยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวในขณะที่เริ่มต้นติดตั้งซอฟต์แวร์ดังกล่าวลงไปแล้ว

2014-07-23_113317
แผนภาพแสดงพฤติกรรมต่างๆ ที่เข้าค่าย PUP จากรายงาน Potentially Unwanted Program จาก McAfee

อ้างอิง

http://www.webopedia.com
http://www.malwarebytes.org
http://www.symantec.com
http://www.bitdefender.com
http://www.pandasecurity.com

สงสัย Microsoft จะ BUILD ไม่ขึ้น ตลาดแท็บเล็ต และสมาร์ทโฟนดูท่าแย่

เพราะถ้ากล่าวจากการสังเกตุ และติดตาม หลังจบครบทั้ง BUILD, WWDC และ Google I/O และตามมาถึง WPC 2014 ของ Microsoft อีกรอบ (ซึ่งกระแสงานเงียบมากเท่าที่ผมรู้สึก) จะเห็นได้ชัดว่า งานทั้ง WWDC และ Google I/O นั้นจัดหนักๆ และเยอะสุดๆ สำหรับ consumer ซึ่งดูแล้วรู้สึกได้ประโยชน์สำหรับกลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้มาก ส่วน Microsoft ดูจะเหมือนเยอะ แต่ consumer  ดูจับต้องได้ยาก แม้ Cortana จะดูเป็นกระแสดีในหลายๆ เรื่อง แต่ก็ดูจะจับต้องยากอยู่ดี แถม Internet of Things ที่ได้นำเสนอมาก็ดูห่างไกลกว่าความเป็นจริงเหลือเกินกับตัวอย่างภายในงาน BUILD เพราะยังงงๆ ว่ามันจะช่วยอะไรในชีวิตเราได้บ้าง ซึ่งแตกต่างจากฝั่ง Apple และ Google ที่นำเสนอได้เห็นภาพชัดเจนกว่า แม้ไม่ได้สื่อถึงคำว่า Internet of Things แบบที่ Microsoft กำลังสื่อสารออกไป คือผมดูงาน BUILD แล้วไม่รู้ว่าตัวเองจะได้ประโยชน์อะไรกับความสามารถใหม่ๆ เมื่อเทียบกับงาน Google I/O ที่ดูหลากหลาย และเยอะสุดๆ อาจจะใช้ได้จริงบ้างไม่ได้จริงบ้าง แต่เห็นภาพชัดว่ามันจะผสมผสานกันยังไง และแน่นอนว่ามันต้องโดนสักตัวแหละ ส่วน WWDC ก็เป็นการคุมเชิง และพัฒนาที่ค่อนข้างน่าสนใจ คือความสามารถใหม่ใน Mac OS X ดูน่าใช้มากๆ และดูจับต้องได้ มันมีการผสมผสานกันระหว่างระบบหลายๆ ตัวเข้าด้วยกันให้ทำงานร่วมกันได้เนียนขึ้น แต่พอกลับมาดูฝั่ง BUILD และกระแสความสามารถที่จะสู้กับคู่แข่งของ platform กลุ่ม modern ของ Microsoft ในช่วงหลังๆ แล้ว ต้องบอกว่า  Windows phone อาการขั้นโคม่ามาก (จะบอกว่าตายแล้วก็แรงไป) แค่ไล่ตามนี่แทบเป็นไปไม่ได้เลย คือค่ายอื่นเค้าวิ่งแซงทดรอบไปหลายรอบแล้ว ส่วน Windows RT คงสภาพพอๆ กัน คือในงาน BUILD นั้น Windows RT แทบไม่มีการพัฒนาในแง่ความสามารถในส่วนของ comsumer มากนัก พอเทียบกันแล้วก็ได้แต่ถอนหายใจแรงๆ เพราะดูไร้อนาคตมากทั้ง 2 ตัวนี้ เพราะหากดูจากประสบการณ์ส่วนตัวแล้วนั้น ฝั่งแท็บเล็ต และสมาร์ทโฟน จากฝั่ง Microsoft ทั้ง Lumia 920 ซึ่งผมใช้ Windows phone 8 (และ 8.1) ที่ใช้งานจริงจังเป็นเครื่องหลักมากว่า 1 ปี กับอีก 10 เดือน (ผมซื้อวันแรกๆ ที่ขายในไทย) และ Surface RT ซึ่งใช้ Windows RT (และ RT 8.1) ต้องบอกว่า ทั้ง 2 ส่วนนี้ Microsoft ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าช้ามากๆ บริการต่างๆ ที่พ่วงมากับ ecosystem ที่อยู่บน platform ของตัวเองนั้น สำหรับประเทศกลุ่มที่ 2 อย่างไทยเรานั้น กลับมีความสามารถที่ห่างชั้นมากกับประเทศกลุ่มที่ 1 ซึ่งผิดกับคู่แข่งที่มีพัฒนาการที่ดี หลากหลาย พัฒนาต่อเนื่อง และรองรับภาษาท้องถิ่นมากขึ้นเรื่อยๆ

ประเด็นหลักที่ทำให้การแข่งขันในตลาดแท็บเล็ต และสมาร์ทโฟนของ Microsoft ดูทำท่าจะแย่นั้นเกิดจาก แอพต่างๆ และ ecosystem ที่ไม่สร้างแรงจูงใจในการที่ให้กลุ่มลูกค้าจากค่ายอื่นๆ ให้หันมาใช้ ถึงแม้จะบอกว่าตัวเองมีแอพคล้ายๆ กับคู่แข่งอยู่เกือบทั้งหมด แต่ความสามารถที่น้อยกว่า นั้นทำให้ยากมากที่กลุ่มลูกค้าเดิมจากค่ายอื่นจะจ่ายเงินในราคาเกือบเท่า หรือแพงกว่าเพื่อหันมาซื้อ (จ่ายแพงกว่าได้ของที่ทำอะไรได้น้อยกว่า ใครจะซื้อ) ตัวอย่างเช่น Evernote บน Windows phone นั้นต้องบอกว่าเข้าขั้นห่วยแตก หรือแม้แต่แอพ Twitter, Facebook, Instagram ที่มีความสามารถที่แค่ไล่ตาม และไม่ได้รับการดูแลเจ้าของบริการเท่าที่ควร แม้ Microsoft จะบอกว่าเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้เพราะเจ้าของบริการไม่สนับสนุน แต่นั้นก็ไม่ได้หมายความถึงการปัดความรับผิดชอบต่อกลุ่มผู้ใช้ตัวเอง ต้องมีการพูดคุยและผลักดันให้หนักกว่านี้ เพื่อให้กลุ่มผู้ใช้ของตนได้รับความรู้สึกถึงการใช้งานที่ไม่ได้เป็นกลุ่มคนเล็กๆ ในตลาด แต่โดยส่วนตัวเองที่เป็นนักพัฒนาแอพคนหนึ่งที่ได้พัฒนาแอพอยู่เนืองๆ ก็อยากบอกว่าเป็นความผิดของ Microsoft เองด้วยที่ออก API สำหรับให้นักพัฒนาใช้ได้อย่างจำกัดมากๆ ซึ่งแน่นอนในมุมนักพัฒนาต้องบอกเลยว่าสิ่งอำนวยความสะดวก และแนวคิดการ “เขียนแอพให้ดี” บน Windows phone และ Windows RT (คิดว่าพูดรวมๆ กันได้เพราะเกิดใกล้ๆ กัน) นั้นมันน้อย ทั้ง API ยังง่อยๆ ทำอะไรง่ายๆ ให้มันยากๆ ยิ่งแล้วใหญ่เลย ส่วนตัวได้สัมผัสกับ API ลึกๆ แล้วส่ายหน้าหนีเลย ผิดกับ API บนฝั่ง Desktop อย่างมาก แม้แต่บน Windows RT ก็แย่พอกัน ก็ไม่รู้ว่าจะพัฒนาให้ทัดเทียมได้เมื่อไหร่ แต่ไหนๆ ก็บ่นแล้ว ก็อยากบอก Microsoft ว่า ถ้าคิดอะไรไม่ออก ก็ไปดู Developer API ของ Android กับ iOS แล้วทำตามเลยหมดเรื่อง คือแฟนบอย Microsoft อย่างผมคงต้องทำใจ และยอมรับว่า Microsoft ช้าเอง ช้ามากๆ แถมไม่มีทีท่าว่าจะอยากทำอะไรให้มันเร็วๆ คือคงได้แต่ทำใจ ให้ตลาดสมาร์ทโฟนกับ Google ไปจริงๆ ส่วนตลาดแท็บเล็ตถ้ายังทำ Windows RT และ Windows 8.1 ที่แอพใน Windows Store app น้อยๆ ความสามารถของ OS ที่ไปสนับสนุนแอพนั้นยังน้อยๆ อยู่แบบนี้ สงสัยคงกลับไปซับน้ำตาที่ Desktop mode ที่ตัวเองถนัดเหมือนเดิม แต่ก็นะ ตลาด Desktop/Notebook PC ที่หดตัว คงทำให้ Microsoft ต้องปรับตัวหันไปทำงานที่ตัวเองถนัดอย่าง enterprise , cloud และ services มากกว่าจะลงมายุ่งกับ consumer ที่เทรนสินค้าตอนนี้มันพ่วงทั้ง H/W S/W และ ecosystem ที่มันมายกชุด ถ้าสินค้ามีไม่ครบ แถมแอพไม่เยอะพอ ก็คงรอดยาก แล้วรักษาฐานที่มั่นบน enterprise ให้ดีๆ ไว้ คือตอนนี้ผมหล่ะกลัวเทรน Bring Your Own Device (BYOD) ที่ Google และ Apple จะเอามาใช้ล้อม Microsoft ในตลาด enterprise จนทำให้ Microsoft มีความเสี่ยงในตลาด enterprise ในอนาคตด้วย เพราะล่าสุด Apple จับมือกับ IBM เพื่อบุกตลาด enterprise แล้วแน่ๆ

ปัญหาในตอนนี้ของ Microsoft ที่ต้องรีบแก้ไข ถ้ายังจะสู้ต่อในตลาด H/W S/W และ ecosystem ในตลาด consumer ก็คือ

1. แก้ไขเรื่อง supply chain ที่ส่งสินค้าลงสู่ลูกค้าให้ทัน คือจากที่เจอ กว่าจะถึงประเทศกลุ่มที่ 2 (เค้าว่าไทยเราเป็นกลุ่มนี้) ก็ออกรุ่นใหม่ในกลุ่มที่ 1 แล้ว ซึ่งผิดกับคู่แข่งที่ออกมาเร็วกว่ามาก

2. services ที่พ่วงมากับ ecosystem ที่อยู่บน platform ตัวเองนั้นกลับมีความสามารถที่ห่างชั้นมากกับประเทศกลุ่มที่ 1 ซึ่งผิดกับคู่แข่งที่มีพัฒนาการที่ดีกว่าและความสามารถนั้นหลากหลาย มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แถมรองรับภาษาท้องถิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

3. S/W และ ecosystem ที่ไม่สร้างแรงจูงใจในการที่ให้ลูกค้าหันมาใช้

4. UI มันปรับวิธีคิดของคนส่วนใหญ่ที่คุ้นชินกับความคุ้นเคยมากเกินไป มันทำให้คนใช้ดูโดดเดี่ยวกับสังคมอย่างมาก เป็นที่มาของการใช้งานแล้ว ไม่รู้จะถามใคร หรือแก้ไขปัญหาเวลาเจอปัญหายังไง เพราะคนที่อาจจะใช้งาน 2 ค่ายหลักคล่องๆ อาจจะมางงเป็นไก่ตาแตกได้ใน UI ของ Windows phone และ Windows RT คือถ้าใช้คล่องๆ มันโอเค แต่ใหม่ๆ มาใช้นี่งงมาก แถมแก้ไขปัญหาทีเปิดเว็บต่างประเทศทีนึง

ทั้งหมดนี้เป็นบทวิเคราะห์ที่ใช้มุมในแง่มุมหนึ่ง ของคนที่ใช้ทั้ง Windows 8.1, Windows RT และ Windows phone 8/8.1 ซื้อทั้ง Lumia 920 (ลอตเปิดตัวในไทยของ dtac) และ Surface RT ซึ่งเห็นการพัฒนาของ Windows RT และ Windows phone 8/8.1 มาอย่างต่อเนื่อง แล้วก็ได้ถอนหายใจ เพราะมันทำให้ Lumia 920 และ Surface RT ดูง่อยๆ อย่างบอกไม่ถูก คือพยายามปรับตัว และค่อยๆ ใช้งานไป โดยทั้ง Lumia 920 ทีใช้ Windows phone 8/8.1 มาเกือบๆ 18 เดือน (ใช้เป็นเครื่องหลัก) และ Surface RT ที่ใช้งานมาประมาณ 6-7 เดือนได้  แถมข่าวล่าสุดยกเลิกสายการผลิต Nokia X ลอยแพคนซื้อ Nokia X platform ไปดื้อๆ แบบเดียวกับตอน Windows phone 7 ผมในฐานะผู้ใช้งานที่ตาม Microsoft มาอย่างต่อเนื่อง ต้องพูดแบบไม่เกรงใจว่า “สงครามตลาดสมาร์ทโฟนสำหรับบริษัทที่ชื่อ Microsoft แทบจะหมดสิ้นซึ่งศรัทธาจากคนสนับสนุนหลายๆ คนไปแล้ว ก็ไม่รู้จะว่ายังไง ก็ทำตัวเองทั้งนั้น”

รีวิวใช้งานจริงกับ HP Deskjet Ink Advantage 3545 ตอนที่ 1

รีวิวนี้ค่อนข้างยาวพอสมควร เพราะในตอนแรกกะว่าจะเขียนตอนเดียวจบ แต่หลังจากใช้งานเครื่องพิมพ์ HP Deskjet Ink Advantage 3545 e-All-in-One Printer  (ต่อไปจะเรียก HP Deskjet Ink Advantage 3545) แล้วพบว่ายิ่งใช้ ยิ่งปรับแต่ง ยิ่งพบความสามารถที่มากมายจนเขียนตอนเดียวไม่หมด ผมจึงแบ่งออกมาเป็น 3 ตอนขั้นต่ำ และในขณะที่เขียนตอนที่ 1 อยู่ ตอนที่ 3 ยังเขียนไม่ครบเลย

  1. พูดถึงความสามารถโดยรวม และการใช้งานร่วมกับ HP Connected และ Google Cloud Print และทดสอบพิมพ์ผ่าน Android Phone (LG G2) และ Android Tablet (Lenovo IdeaTab A3000)
  2. พูดถึงการพิมพ์รูปถ่าย และเอกสารผ่านแท็บแล็ต-มือถือ
    – iPad (iPad Air)
    – Android Tablet (Lenovo IdeaTab A3000)
    – Android Phone (LG G2)
    – Windows RT 8.1 (Surface RT)
  3. จัดการเครื่องระยะไกลและการสแกนเอกสาร (Webscan, HP Scan and Capture และ HP AiO Remote)

โดยผมได้ HP Deskjet Ink Advantage 3545 มาใช้สักพักใหญ่ๆ มันเป็นเครื่องพิมพ์แบบมัลติฟังก์ชั่นแบบหมึกพ่น หรือ Ink Jet ที่มีความสามารถไม่ใช่แค่พิมพ์ภาพสวย แต่ยังพ่วงเอาความสามารถมัลติฟังก์ชั่นแบบไร้สายเอาไว้ด้วย โดย HP Deskjet Ink Advantage 3545 นั้นถูกผลิตมาช่วยให้การทำงานของเราสะดวกสบายมากขึ้นด้วยความสามารถในการควบคุมผ่านเครือข่ายไร้สาย (WiFi) และแบบ Cloud แบบเต็มที่ โดยมีความสามารถแบบย่อๆ คือสามารถ Print, Copy, Scan และ Photo ได้ในเครื่องเดียว แน่นอนว่าช่วยให้เราสามารถทำงานได้คล่องตัว พร้อมกับการรับประกันสินค้า 2 ปี และรูปแบบการรับประกันแบบใหม่ที่เรียกว่า Smart Friend โดยทั้งหมดในราคาไม่ถึง 4,000 บาท

Smart Friend เป็นบริการรับส่งเครื่องถึงที่ เวลาเครื่องของเรามีปัญหาสามารถให้พนักงาน HP มารับไปซ่อมได้เลยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปศูนย์แต่อย่างใด ซึ่งจะครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ นอกจากนี้ก็ยังมีบริการเสริมอื่นอีกได้แก่ บริการรับ-ส่งซ่อมเครื่องถึงบ้าน ให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ตลอด 24 ชม. บริการกู้คืนข้อมูล บริการตรวจเช็คสภาพผลิตภัณฑ์ บริการรับซ่อมทันใจ สอบถามความพึงพอใจหลังให้บริการ

โดยเรามาพูดถึงความเร็วในการพิมพ์นั้นอยู่ที่ประมาณ 8 แผ่นต่อนาที จากที่ลองใช้จริงจะอยู่ประมาณ 6 แผ่นกว่าๆ ด้วยการพิมพ์เอกสารปรกติทั่วไป ส่วนรูปถ่ายนั้นจะอยู่ที่ประมาณ 2-4 แผ่นต่อนาที (กระดาษขนาด 4×6”) โดยความละเอียดในการพิมพ์ภาพสีอยู่ที่ 4800 x 1200 dpi บนกระดาศสำหรับพิมพ์ภาพถ่าย ส่วนสีดำอยู่ที่ 1200 x 600 dpi บนกระดาษทั่วไป

DSC_7643

ตัวเครื่อง และสิ่งที่ให้มา

ตัวเครื่องนั้นเป็นพลาสติกมันวาว ฝาด้านบนเป็นสีดำด้าน มีหน้าจอ LCD ขนาด 2 นิ้ว แบบ Hi-Res Mono LCD ถาดใส่กระดาษได้ประมาณ 100 แผ่น และถาดรับกระดาษเมื่อพิมพ์เสร็จได้ 30 แผ่น สามารถพิมพ์หน้าหลักได้อัตโนมัติโดยไม่ต้องกลับหน้าเอง (Automatic Duplex) และการพิมพ์แบบไร้ขอบ (Borderless printing) ซึ่งขนาดกระดาษมาตราฐานที่ใช้ได้คือ A4, A5, B5, DL, C6, A6, และแบบปรับแต่งเองอยู่ที่ขนาดกว้าง 76 – 216 mm และยาว 127 – 356 mm โดยตัวเครื่องสามารถแสกนเอกสารแบบไร้สายได้ โดยการสั่งแสกนผ่านทางแอพเพื่อ Remote scan และผ่านเว็บด้วยความสามารถ Webscan ได้ด้วย ซึ่งเดี่ยวจะพูดถึงต่อไป

ส่วนอีกความสามารถคือ มันทำตัวเป็นเครื่องถ่ายเอกสาร โดยแสกนแล้วพิมพ์ในการใช้งานฟังก์ชั่น Copy ได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์แต่อย่างใด

DSC_7636 DSC_7637

สำหรับตลับหมึกที่ให้มานั้นเป็น HP 678 Black ที่พิมพ์สีดำได้ประมาณ 480 หน้า และ HP 678 Tri-color ที่พิมพ์สีได้ประมาณ 150 หน้า  (ตามสเปคที่ให้มา) โดยหมึกทั้ง 2 รุ่นนี้จะมีหัวพิมพ์อยู่ที่ตลับหมึกเลย เปลี่ยนตลับก็เปลี่ยนหัวพิมพ์ไปพร้อม ๆ กันด้วย

DSC_7630 DSC_7638

ความสามารถโดดเด่นของเครื่องรุ่นนี้คือ การทำงานร่วมกับเครื่องแบบไร้สายโดยไม่ต้องต่อสายเข้ากับคอมพิวเตอร์ใดๆ แค่ให้มันเชื่อมต่อกับเครือข่าย Wireless หรือใช้การเข้าถึงแบบ Wireless Direct เท่านั้น เราจะมาดูกันแบบลึกๆ ว่าความสามารถต่างๆ นั้นตั้งค่า และทำงานอย่างไรบ้างกันดีกว่า

Read more