วิเคราะห์ และ ถาม-ตอบ ปัญหาการจัดซื้อ แท็บเล็ต OTPC โซน 1-2 ป่วน เหตุบริษัทเสิ่นเจิ้นปิดกิจการ

เนื้อความด้านล่างต่อไปนี้ เป็นเนื้อความที่อ้างอิงคำถามที่ได้จากข่าว แท็บเล็ต OTPC โซน 1-2 ป่วน บริษัทเสิ่นเจิ้นปิดกิจการยอมเสียเงินค้ำประกัน 120 ล้านบาท โดยอ่านความคิดเห็นบางส่วน แล้วนำมาเป็นคำถาม และให้มิตรสหายข้าราชการท่านหนึ่งที่มีประสบการณ์ในด้านจัดซื้อ ออก TOR และตรวจรับ ซึ่งทั้งหมดที่ตอบทั้งหมด เพื่อสร้างความเข้าใจบางส่วนที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงครับ


ผมขออนุญาตในการเขียนถามตอบเนื่องจากยังมีหลายท่านที่เข้าใจในระบบราชการที่คลาดเคลื่อนไปเสียส่วนมาก อนึ่งในการเขียนถามตอบครั้งนี้ มิได้หวังให้มุ่งเน้นในเรื่องของการเมือง แต่เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และระเบียบราชการ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมที่น่าอยู่ แก่ลูกหลานเราในอนาคต

เริ่มแรก ขอให้ท่านรู้จัก ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 โดยระเบียบ 2 ตัวนี้ เป็นเหมือนกฎหลักที่ทุกหน่วยงานในประเทศไทยจะต้องใช้เพื่อการจัดซื้อจัดจ้าง จัดหา ให้ได้มาเพื่อ วัสดุสิ่งของ

Q: มาเลเซียเค้าดีลกะกูเกิ้ลโดยตรงเลย ทำไมไทยไม่เอาแบบนั้นหละ กูเกิ้ลเค้าไม่ปิดหนีหรอกมั้ง
A: การที่ไทยไม่ดีลกับ Google โดยตรง ต้องพิจารณาว่า เมื่อมีปัญหาในการส่งซ่อม ส่งเคลม ทาง Google สามารถจะสนับสนุนในส่วนนี้ได้หรือไม่ ซึ่งจะต้องเป็นเรื่องที่จะพิจารณากันอีกครั้ง

Q: ดีลกับกูเกิ้ลตรงไม่ได้ครับ ต้องศึกษาระบบจัดซื้อจัดจ้างของรัฐก่อนนะครับ มันต้องร่าง TOR และประมูลหาคนมาดำเนินการ โดยจะต้อง “ประหยัดเงินต่อรัฐ” ได้มากที่สุด ถ้าไปดีลกับกูเกิ้ลโดยตรง ถึงจะได้ของดี แต่รัฐโดนฟ้องแน่นอนครับ ปล.อันนี้ในกรณีตัดเงื่อนไขเรื่องโกงหรือไม่โกงออกไปเลยนะครับ
A: ถูกต้องครับ เพิ่มเติม สิ่งที่จะตามมาคือ การกีดกันทางการค้า ยกตัวอย่างในวงการคอมพิวเตอร์แบนด์ไทย ATECH หรือ POWELL พยายามต่อสู้ในส่วนนี้อยู่ หากเรายึดถือแบนด์ต่างชาติมากไป โอกาสที่จะไม่เกิดการแข่งขันย่อมมีสูง แบนด์ไทย เราจะตายเลยครับ

Q: TOR ก็ออกมาจากคนที่ฮัวะประมูล แบบก็เขียนมาจากคนฮัวะ… ตั้งเงื่อนไขให้ตัดชาวบ้านได้มากสุดต้องมีพอร์ทดีลกับรัฐมูลค่า xxx นู่นนี่ พอถึงเวลาก็จัดบ.ที่เข้าเงื่อนไขไปซื้อซองประมูล บ.ที่หลุดเข้ามาได้ก็เคลียร์จะเอาเท่าไหร่ไม่ต้องมาเสียเวลาแข่ง ตอนยื่นประมูลก็นัดกันว่า จะกดกี่คลิ้กพอ… จบการประมูลใครชนะจ่ายเองก่อน 20-30… แล้วไปรอเงินค่าทำที่ตามงวดเบิกนะจ้ะ
ปล. ทั้งหมดเดาเอา…ตัดเรื่องเป็นไปได้หรือไม่ ออกได้เลยครับ
A: ในวงการอย่างนี้มีไหม บางครั้งคำตอบก็ไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่เราสามารถแก้ไขได้ครับ ในการเขียน TORที่วงเงินเกินกว่า 2 ล้านบาทและต้องจัดหาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะต้องมีคณะกรรมการร่าง TOR เมื่อคณะกรรมการร่างเสร็จ ก็จะประกาศให้ประชาชนมาพิจารณ์ ร่างว่า ร่างดังกล่าวมีความถูกต้องเหมาะสม หรือมีการฮั้วประมูลหรือไม่ ส่วนนี้ ประชาคม Blognone ก็สามารถมีส่วนร่วมในทุกโครงการเกี่ยวกับงานไอทีได้ทั้งหมดครับแต่การจะมีส่วนร่วมในร่างดังกล่าว จะต้องทำอย่างเปิดเผย คือเปิดเผยว่าเราเป็นใคร มีความเห็นกับร่างดังกล่าวอย่างไร และความเพิ่มหรือลดข้อความไหน โดยปราศจากอคติ และมีข้อมูลทางวิชาการสนับสนุน

Q: แล้วทำไม Tablet สส ยึดสเปคเป็น iPad ได้ละครับ ทั้งที่มาตรฐานราคาแพงหูฉี่เลยละนั่น แถมไม่ยักโดนฟ้องด้วยนะ
ถ้าจะอ้างความน่าเชื่อถือ แล้วทำไม Tablet เด็ก ไม่เลือกที่น่าเชื่อถือได้มากกว่านี้ล่ะ ของพวกนี้มันกำหนดสเปคใน TOR ตามใจคนจะซื้อได้อยู่แล้ว แถมบริหารจัดการห่วยๆ จนเค้าด่ากันทั้งบ้านทั้งเมือง
A: เรื่องของ tablet ของสส.ที่เป็น iPad อย่างแรกออกตัวไว้ก่อนว่า ตัวผมเองไม่เห็น TOR จริงแต่สามารถให้ข้อคิดเห็นได้ว่า การเขียนสเปคของ iPad สามารถทำได้เนื่องจากถึงแม้เราจะกำหนดระบบปฏิบัติการ แต่เราไม่ได้กำหนดเครือข่ายที่ใช้ นั่นก็ทำให้เกิดการแข่งขันในเบื้องต้น ก็ทำให้ tablet ของ สส. จึงสามารถเป็น iPad ได้
อย่างที่ สอง ในการประมูล tablet ของสส. ย่อมมีวงเงินเกินกว่า 2 ล้านบาท ก็ย่อมเข้าการจัดหาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ และมีการพิจารณ์ TOR เมื่อไม่มีการแก้ไข TORในส่วนที่สำคัญ ก็สามารถประมูลได้อย่างถูกต้องครับ

Q: ส่วนตัวผมคิดว่า ก่อนการประมูลน่าจะมีการประเมินผู้เข้าร่วมประมูลก่อน และหลังจากการประมูลถ้ าราคาประมูลถูกหรือแพงกว่าราคากลางมากๆ ก็ควรจะมีการทบทวนอีกภายหลังครับ
A: เราสามารถกำหนดใน TOR ได้ครับว่า ผู้รับจ้าง จะต้องมีคุณสมบัติอย่างไร เช่น จะต้องมีประสบการณ์ในการรับจ้างโครงการในลักษณะเดียวกันในวงเงิน กี่ล้าน จำนวนกี่โครงการ แต่การเขียน TOR ในลักษณะนี้ ก็จะสามารถมองได้ว่าเป็นการกีดกันรายใหม่ๆ ที่จะเข้าประมูลได้เหมือนกันครับ

Q:บริษัท เสิ่นเจิ้นชนะการประมูลด้วยราคาที่ต่ำกว่าราคาตั้งต้นมาก ต่ำกว่าเจ้าอื่นมากๆ และถ้ามีแนวโน้มที่จะเกิดเหตุแบบนี้ ผมจึงมองว่าน่าจะมีอะไรที่ควรพิจารณามากกว่าแค่เรื่องราคา เป็นตัวหลักในการตัดสินใจ ครับ
A: โดยปกติการประมูลด้วยการเคาะราคาทางอิเล็กทรอนิกส์เกิดขึ้นบ่อยครั้งที่ บริษัทที่ชนะการประมูล ประมูลได้ในราคาต่ำมาก เช่น วงเงินที่ตั้งไว้เป็นงบประมาณ 2,500,000 บาท แต่ผู้ชนะการประมูล ประมูลได้ที่ 190,000 บาท ซึ่งมาจากการเคาะราคาที่ผิดพลาด คณะกรรมการ สามารถพิจารณายกเลิกการเคาะราคา หรือกำหนดให้มีการเคาะราคาครั้งใหม่ได้ ในส่วนของเสิ่นเจิ้น กรณีนี้ไม่เข้าในส่วนแรกที่กล่าวมา ในเรื่องของการพิจารณาความน่าเชื่อถือของบริษัทที่เข้าประมูล ก็จะพิจารณาจากคุณสมบัติที่กำหนดในคราวแรกครับ ดังนั้นไม่ว่ากรณีใด ก็ไม่สามารถจะห้ามมิให้เสิ่นเจิ้นเข้าทำสัญญาในฐานะผู้ชนะการประมูลได้เลย

Q: อ่านข่าวแล้วปลง จำได้ว่าเคยมีเรื่องกับฝ่ายพัสดุอยู่ครั้งหนึ่งเรื่องจัดซื้อครุภํณฑ์คอมพิวเตอร์ คำตอบที่ได้จากหัวหน้าฝ่ายพัสดุตอนนั้นคือ “ของแพงคุณภาพดีให้ซื้อไว้ใช้เองที่บ้าน แต่นี่หน่วยงานราชการเค้ากำหนดให้ซื้อของถูกที่สุด” เขียน spec HP ส่งไป…แต่ได้ของเป็นคอมฯประกอบ…เหตุผลคือมันถูกที่สุด.
A: ข้อแนะนำจากประสบการณ์ การเขียน TOR เพื่อกันไม่ให้เครื่องประกอบชนะการประกวดราคา สามารถทำได้อย่างถูกต้องตามระเบียบครับ
โดยเพิ่มคำว่า “ตัวเครื่อง, จอภาพ, คีย์บอร์ด และเมาส์ ต้องมีเครื่องหมายการค้าเดียวกัน โดย 
ประทับตราเครื่องหมายการค้านั้นไว้บนอุปกรณ์อย่างถาวร”
ถ้าอยากได้แบรนด์ดี ก็เพิ่มว่า “ผู้รับจ้างจะต้องได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากบริษัทที่มีเครื่องหมายการค้าของอุปกรณ์ข้างต้น”

Q: เคยคุยกับข้าราชการ คือมันมีระเบียบอยู่ว่าซื้อของที่แพงกว่าราคาประมูลถูกสุดได้ครับ แต่คณะกรรมการที่อนุมัติต้องโดนสอบแน่ๆ (เพราะคนให้ราคาถูกสุดจะต้องร้องเรียน)
ทีนี้การที่คณะกรรมการโดนสอบมันใช้เวลาหลายปีครับ กว่าจะสรุป
ระหว่างนั้นข้าราชการที่โดนสอบก็แป๊กครับ ตำแหน่งไม่ขึ้น เงินเดือนไม่ขึ้น ย้ายไม่ได้
กรรมการเลยเลือกใช้เฉพาะถูกสุดแทนเพื่อไม่ให้มีปัญหาภายหลัง
A: จริงๆแล้วคณะกรรมการพิจารณาจากเอกสารที่ทำเสนอไปครับ และในวันที่เปิดซองสอบราคานั้น เราสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้ ถ้าเคยค้าขายราชการจะทราบว่าซองที่จะเสนอมี 2 ส่วนคือ
1. ซองคุณสมบัติผู้รับจ้าง
2. ซองราคา
ถ้าท่านมั่นใจว่าท่านส่งเอกสารครบถ้วน ท่านสามารถเข้าไปนั่งดูการเปิดซองได้ครับโดยเฉพาะซองคุณสมบัติผู้รับจ้าง บ่อยครั้งส่งไม่ครบ แต่ที่ชนะการประมูลนั้นคณะกรรมการพิจารณาแล้ว ว่าก็ส่งกันไม่ครบหลายราย จึงไม่เอามาพิจารณาตัดตก ตามหลักการแล้ว จะต้องเปิดซองที่ 1 ซองคุณสมบัติผู้รับจ้างเสียก่อน ถ้าส่งเอกสารไม่ครบแม้แต่ 1 ใบอย่างใบจดทะเบียนบริษัท คณะกรรมการจะต้องไม่เปิดซองราคา ส่วนที่ 2 อย่างเด็ดขาด และปรับให้ ตกทันที

สรุป
กรณีศึกษานี้ ในความเห็นส่วนตัวที่โครงการล้ม น่าจะเกิดจาก

1. ปัญหาของ TOR ที่ไม่มีความชัดเจนในเรื่องของ spec ไม่เกิดความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนในอนาคต ซึ่งพบบ่อย ยกตัวอย่างเช่น TOR ระบุ จะต้องส่งมอบ OS เป็น Windows 7 ลิขสิทธิ์ถูกต้อง พร้อมแผ่นติดตั้ง ซึ่ง ณ เวลาปัจจุบัน Microsoft ไม่มีแผ่นติดตั้ง Windows 7 ขายในไทยอย่างเป็นทางการแล้ว สิ่งที่ตามมาคือ PC ณ เวลานี้มาพร้อม Windows 8 ผู้ขายก็เกิดปัญหา กรรมการก็เกิดปัญหาเพราะไม่สามารถตรวจรับให้ตรงกับ TOR ได้ทั้งๆที่รู้แก่ใจว่า Windows 8 นั้นใหม่กว่า
TOR ที่ถูกที่สุด ควรระบุ ไว้ว่า OS เป็น Windows 7 หรือสูงกว่า โดยได้รับสิทธิ์การใช้งานอย่างถูกต้องจาก Microsoft

2. เรื่องค่าปรับ โดยปกติในการจัดซื้อจัดจ้างจะมีในส่วนนี้อยู่แล้ว ตาม ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อที่ 134 กำหนดไว้ว่า การซื้อ/จ้าง ให้กำหนดค่าปรับเป็นรายวันอัตราตายตัว ระหว่างร้อยละ 0.01-0.20 ของราคาพัสดุที่ยังไม่ได้รับมอบ แต่ในข้อที่ 136 ของระเบียบเดียวกันก็สามารถแก้ไขได้ครับ โดยกำหนดว่าสัญญาหรือข้อตกลงเป็นหนังสือ(รวมทั้งรายละเอียดประกอบที่เป็นส่วนหนึ่งของสัญญา)ที่ลงนามแล้วจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงมิได้ เว้นแต่

  • จะมีความจำเป็นโดยไม่ทำให้ราชการเสียประโยชน์
  • หรือ เป็นการแก้ไขเพื่อประโยชน์แก่ราชการ
  • ให้อยู่ในอำนาจของหัวหน้าส่วนราชการพิจารณาอนุมัติให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงได้
  • ในกรณีมีการเพิ่มวงเงินต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณด้วย
  • การจัดหาที่เกี่ยวกับความมั่นคงแข็งแรงหรืองานเทคนิคพิเศษเฉพาะอย่างต้องได้รับการรับรองจากวิศวกร/ผู้ชำนาญการก่อน

ในกรณีนี้ไม่สามารถแก้สัญญาได้เลยแม้ว่าเมื่อยกเลิกจะทำให้ราชการเสียหายเพราะ บ.เสิ่นเจิ้นขอลดค่าปรับ แต่ไม่ได้เพิ่มมูลค่า tablet หรือจะส่งมอบเนื้องานเพิ่มเติม ทำให้ยังไงทาง คณะกรรมการก็ไม่สามารถ ลดค่าปรับหรือละเว้นค่าปรับให้ได้เลย เมื่อไม่มีทางไป ผลก็เลยออกมาตามข่าวที่ปรากฏข้างต้นนี้เอง

CEO คนใหม่ของ Microsoft “Satya Nadella” คนที่ป๋าเลือกมาแล้ว!!! (The Chosen One)

หลังจากหลายสำนักข่าวต่างคาดเดา และวิเคราะห็กันอย่างมากมายว่าใครจะมาเป็น CEO คนใหม่ของ Microsoft มาวันนี้ช่วงประมาณ 3 ทุ่มประเทศไทย (เช้าวันใหม่ที่อเมริกา) Microsoft ก็ได้ประกาศ CEO คนใหม่ อย่างเป็นทางการ นั้นคือ Satya Nadella ซึ่งเค้านั้นทำงานใน Microsoft มากว่า 22 ปี ซึ่งคงเข้าใจวัฒนธรรมบริษัทขนาด ใหญ่อย่าง Microsoft เป็นอย่างดี และคงสานงานต่อได้อย่างราบรื่นได้ไม่ยากนัก

2014-02-04_220920

Satya Nadella เป็น CEO คนที่ 3 ต่อจาก Steve Ballmer และ Bill Gates ซึ่งถือเป็นคนแรกของ Microsoft ที่ไม่ได้เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทมาแต่เริ่มต้น

โดยพื้นฐาน Satya Nadella เป็นคนสาย internet และ cloud based เค้าเป็นคนที่มีประสบการณ์สูงมาก ซึ่งเคยดูแลหรือมีส่วนร่วมทั้ง Bing, Windows server, Database server, Developer tools, Azure และ Office 365 ซึ่งน่าจะเหมาะสมกับการนำพาอนาคตของ Microsoft ที่มุ่งไปแนวทาง Devices & Services ได้เป็นอย่างดี เพราะยุคที่ application ต่างๆ ถูกย้ายขึ้น internet และ cloud ซึ่งยังเป็นการประกาศตัวว่า Microsoft เอาจริงมากขึ้นในตลาดนี้

แต่น่าสนใจคือ เค้ามีผลงานไม่เด่นชัดในด้าน Devices มากนัก แต่จากที่คิดไว้ Bill Gates ที่ในตอนนี้ได้ลงจากตำแหน่ง Chairman ของ Microsoft ได้มาเป็น Technology Advisor แทน (ส่วนตำแหน่ง Chairman ของ Microsoft ที่ว่างลงนั้นให้ John W. Thompson รับตำแหน่งต่อไป) ซึ่ง Bill Gates นั้นมีวิศัยทัศน์ที่ยาวนานในโลกไอที น่าจะช่วยให้คำแนะนำงานด้าน Devices ไปได้อย่างราบรื่น แต่สุดท้ายแม้จะมีผู้ให้คำปรึกษาดีเพียงใด คนที่ต้องตัดสินใจคือ เค้าเอง ฉะนั้นคงเป็นงานท้าทายของเค้าอยู่ดี เราคงต้องลุ้นกันต่อไปว่า ความสดใหม่ในสายงาน Devices นี้ของเค้า และที่ปรึกษาที่เก๋าเกมในโลกไอที จะมาช่วยให้ Microsoft ก้าวกลับมายืนที่จุดสูงสุดเหมือนในอดีตได้หรือไม่