คำว่า "ไม่เชื่อ แต่อย่าลบหลู่" ขัดขวางการพัฒนาวิทยาศาสตร์ ?

จริง ๆ ในเรื่องวลีนี้เนี่ย ผมก็เซง ๆ กับมันมาหลายปีดีดักแล้ว แต่ว่าก็พยายามไม่สนใจ เวลาพูดถึงสิ่งที่ทำความเข้าใจเชิงวิทยาศาสตร์ได้ยาก ก็จะเจอคำนี้มาให้ได้ยินทันที ผมก็ได้แต่เซง ๆ วันนี้ด้วยความเบื่อ ๆ หลาย ๆ อย่างเลยเข้าห้อง หว้ากอ ในเว็บ Pantip.com ก็ได้เจอกระทู้นี้เข้า

คำว่า "ไม่เชื่อ แต่อย่าลบหลู่" ขัดขวางการพัฒนาวิทยาศาสตร์หรือเปล่าครับ

ซึ่งได้อ่านไปได้สักพักถึงได้รู้ว่าเป็นกระทู้ที่เดจาวูในห้องนี้มาหลาย ๆ ปีแล้ว แต่ผมอาจจะพลาดไปในช่วงที่ผ่านมา แล้วไปสะดุดกับความคิดเห็นหนึ่ง จึงขอนำมาเก็บไว้สักหน่อย

ความคิดเห็นที่ 14

"ขอยืมคุณเพ็ญชมพูมาจากกระทู้หนึ่ง แต่จะกระทู้ไหนก็ช่างมันเถอะ

อึด อัดกับวลีนี้มานาน เมื่อไรสังคมไทยจะฮิตคำว่า "ไม่เชื่อต้องศึกษา ไม่มีปัญญาต้องเรียนรู้" สักที เมื่อนั้นเหตุการณ์ที่เกิดกับน้องเทเลทับบี้ใน # ๔๑๓ คงไม่เกิดขึ้น haha

ขอเชิญอ่านความคิดเห็นของพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี หรือ ว. วชิรเมธี จากนิตยสารแพรว ฉบับวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

วลี ว่า "ไม่เชื่ออย่าลบหลู่" สะกดคนไทยมาหลายสิบปีแล้ว และหากเราไม่ลุกขึ้นมาพิจารณาวลีนี้อย่างจริงจังสักทีหนึ่ง คนรุ่นหลังก็จะถูกสะกดทางจิตวิญญาณต่อไปอีกยาวนาน

ในครั้งพุทธกาลเคย มีชาวบ้านถามพระพุทธเจ้าว่า บรรดาเจ้าลัทธิทั้งหลายต่างบอกว่าตนเป็นผู้ "รู้แจ้ง" ทั้งนั้น จนไม่รู้จะเชื่อใครดี ในกรณีนี้ควรจะมีท่าทีอย่างไร แทนที่พระพุทธองค์จะตรัสว่า "ไม่เชื่ออย่าลบหลู่" ต่อเจ้าลัทธิเหล่านั้น แต่กลับตรัสว่า "ไม่เชื่อต้องศึกษา" และผู้เขียนต่อให้อีกประโยคหนึ่งว่า "ไม่มีปัญญาต้องเรียนรู้" ท่าทีของพุทธต่อความเชื่อที่ถูกจึงควรหนีจากวลีที่ว่า "ไม่เชื่ออย่าลบหลู่" มาเป็น "ไม่เชื่อต้องศึกษา ไม่มีปัญญาต้องเรียนรู้"

ย้ำชัด ๆ อีกครั้ง เราคนไทยต้องเปลี่ยนจากท่าที "ไม่เชื่ออย่าลบหลู่" มาเป็น

"ไม่เชื่อต้องศึกษา ไม่มีปัญญาต้องเรียนรู้"

อย่ากลัวคำขู่ว่า "ไม่เชื่ออย่าลบหลู่" อีกเลย วลีนี้ "มัดตราสัง" จิตวิญญาณของสังคมไทยให้ง่อยเปลี้ยเสียขาทางปัญญามานานแล้ว มาถึงยุคสมัยของเรา เราควรจะลุกขึ้นมาปลดตราสังนี้ทิ้งไปเสีย สิ่งใดที่ไม่เชื่อก็ไม่ควรปล่อยให้เป็นความลึกลับดำมึดต่อไป แต่ควรตั้งคำถามว่าสิ่งนั้นมีพัฒนาการอย่างไร ไยจึงมีอิทธิพลเหนือจิตใจคนมากมายได้ ขอเพียงรู้จักตั้งคำถามว่า "ทำไม" เท่านั้นเอง อวิชชาจะกลายเป็นปัญญาขึ้นมาอย่างง่ายดาย เช่น ครั้งหนึ่งเจ้าชายสิทธัตถะทรงพบคนตาย แล้วทรงถามตัวเองว่า "ทำไมเขาถึงตาย" กระบวนการค้นหาคำตอบทำให้ทราบว่า ที่คนต้องตายก็เพราะมีการเกิดเป็นสาเหตุ ทรงถามต่อว่า ทำไมจึงมีการเกิด ก็ทรงค้นพบว่าเรายังมีตัณหา ความต้องการสืบทอดตัวตน และคำถามเหล่านี้เองเป็นจุดตั้งต้นแห่งการเกิดขึ้นของพุทธศาสนา

ไม่น่าเชื่อว่าคำถามแสนธรรดาที่เกิดขึ้นระหว่าการเดินทาง จะกลายเป็นที่มาของศาสนาสากลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดศาสนาหนึ่งของโลก

ใน เรื่องเดียวกันนี้หากเด็กไทยสักคนหนึ่งเดินทางไปตามถนนกับคุณแม่แล้วพบคนตาย เจ้าหนูถามแม่ว่า "แม่ฮะ ทำไมคนจึงตาย" แทนที่แม่จะตอบว่า "ลองคิดดูสิลูก ว่าทำไมคนเราจึงตาย" คำตอบที่ได้อาจเป็น "เงียบนะ ถามอะไรบ้า ๆ เดี๋ยวผีก็หลอกหรอก ขอขมาคนตายเดี๋ยวนี้เลย"

หรือพอเด็ก ๆ เห็นคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ห้อยเทพเต็มคอแล้วถามว่า "แม่ฮะ เทพมีจริงไหม" แทนที่แม่จะสอนว่า "ลองคิดดูสิ ถ้าเทพไม่มีแล้วทำไมคนจึงนับถือท่านล่ะ" แม่อาจตอบว่า "หยุดนะลูก เทพมีจริงหรือไม่ ไม่รู้ แต่ถ้าไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่เชียว"

พอเจอคุณแม่นัก "ดับฝัน" อย่างนี้ กระบวนการแห่งปัญญาของเด็กก็เป็นอันสิ้นสุด คนไทยส่วนใหญ่มักทำฆาตกรรมทางปัญญากันด้วยท่าทีเช่นนี้เสมอ ทำให้ทัศนะ "ไม่เชื่ออย่าลบหลู่" มีอิทธิพลเหนือจิตใจคนไทย การค้นพบภูมิปัญญาใหม่ ๆ จึงไม่ค่อยเกิดขึ้นในสังคมไทยมากนัก บ้านเราจึงมีแต่นักลอกเลียนแบบกระจายกันไปทุกวงการ เพราะเราไม่ค่อยถูกสอนให้คิดเชิงวิเคราะห์

ตอนเด็ก ๆ กาลิเลโอ มักเบื่อและขัดใจเสมอเมื่อได้ยินครูเอาแต่พูดว่า "อริสโตเติลกล่าวไว้ว่า… " และเมื่อที่สุดแห่งความเบื่อเดินทางมาถึง กาลิเลโอจึงลงมือพิสูจน์ทฤษฎีของเขาที่หอเอนปิซา จนทฤษฎีของอริสโตเติลพังทลายลงไป จากนั้นเขาก็กลายเป็นปัญญาชนคนใหม่ของโลก และมนุษยชาติอีกจำนวนนับไม่ถ้วนก็ถูกปลดจากขื่อคาตราสังของความเชื่อฝังหัว ที่ถูกส่งทอดมา ภายใต้แบรนด์ "อริสโตเติล" นับร้อย ๆ ปี

มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพที่จะมี "ปัญญาเป็นของตัวเอง" มาตั้งแต่เกิด ขอเพียงให้รู้จักตั้งคำถามกับสิ่งรอบข้างอยู่เสมอ "

ขวดนม . . .

จากคุณ : ไม่มีสมาชิกชื่อนี้ – [ 7 ธ.ค. 51 20:22:40 ]

ถึงแม้จะเป็นการคัดลอกมาจากอีกหลาย ๆ กระทู้ตาม แต่ผมว่าเป็นคำตอบในเชิงสร้างสรรค์ที่ดี ที่ครรจะทำให้ใครหลาย ๆ คนตาสว่างได้บ้างไม่มากก็น้อย

แนะนำให้ดูซีรี่ย์ญี่ปุ่นเรื่อง Galileo ทางช่อง TPBS ทุกวันพฤหัส-ศุกร์ ครับ แล้วน่าจะเข้าใจอะไรมากขึ้นในเรื่องวิธีคิดที่ว่ามา อ่อ ลืมบอกไปว่า Team Medical Dragon ภาค 2 กำลังจะมานะครับ ;P

7 thoughts on “คำว่า "ไม่เชื่อ แต่อย่าลบหลู่" ขัดขวางการพัฒนาวิทยาศาสตร์ ?”

  1. ชอบๆ ประโยคนี้จัง “ไม่เชื่อต้องศึกษา ไม่มีปัญญาต้องเรียนรู้”

  2. เรื่องนี้ ผู้รู้บอกว่า ที่มาของวลีข้างบนหมายถึง ถ้าเราไม่เชื่ออย่าไป “ลบหลู่คนที่เชื่อ” แบบว่าไปล้อหรืออะไรอย่างนั้น จะทำให้เกิดความขัดแย้งมองหน้ากันไม่ติด แต่ไปๆ มาๆ กลายเป็นว่า อย่าไปลบหลู่เรื่องที่ไม่เชื่อซะงั้น มันผิดมาตั้งแต่กระดุมเม็ดแรกแล้ว มันก็ผิดต่อไปเรื่อย

    ส่วนไม่เชื่อแล้วต้องศึกษา ไม่มีปัญญาต้องเรียนรู้ นี่เห็นสมควรต้องปลูกฝังกันอย่างเร่งด่วน

  3. ขอบคุณครับที่เอาเรื่องราวดีๆมาให้อ่าน ชอบมากครับ “ไม่เชื่อต้องศึกษา ไม่มีปัญญาต้องเรียนรู้”

  4. ถ้าผมมีลูก ก็จะสอนลูกแบบนี้นะครับ

    แต่ตตอนนี้ สอนตัวเองก่อน

    *0*

  5. ถ้าเปลี่ยนเป็น “ถ้ายังไม่มีปัญญาพอที่จะพิสูจน์ ก็อย่าเพิ่งลบหลู่” จะฟังดูเหตุผลกว่ามั้ยคะ

    • ถ้าเปลี่ยนเป็น “ถ้ายังไม่มีปัญญาพอที่จะพิสูจน์ ก็อย่าเพิ่งลบหลู่” จะฟังดูเหตุผลกว่ามั้ย
      โดยส่วนตัวคิดว่าประโยคนี้ไม่ต่างอะไรกับปรโยคไม่เชื่ออย่าลบลู่ เพราะทำให้คนมีแนวโน้มที่จะไม่ไปพิสูจน์และมีความสร้างสรรค์น้อยกว่า ประโยคที่ “ไม่เชื่อต้องศึกษา ไม่มีปัญญาต้องเรียนรู้” เป็นประโยคที่สร้างสรรค์กว่ามากในแง่ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้จริงๆ

Comments are closed.