เราเสียประโยชน์กันไปแค่ไหนแล้ว กับการส่งซ่อมสินค้านานนับเดือน

พอดีว่าผมส่งแท็บเล็ตแบรนด์หนึ่งเข้า ศ. ไปเกือบๆ 1 เดือนแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับเครื่องกลับมา โดยอุปกรณ์ดังกล่าวมีระยะเวลารับประกัน 1 ปี แต่ใช้งานได้ประมาณ 6 เดือนก็มีปัญหา เลยเข้า ศ. เพื่อรับการซ่อมแซมส่วนที่มีปัญหาไป

ผมมานั่งคิดๆ ว่าการที่เราส่งสินค้าไปซ่อมแล้วใช้เวลาเป็นเดือนในการซ่อม ทำให้เราเสียโอกาสในการใช้งานไปในระยะเวลาดังกล่าว แบรนด์ต่างๆ กลับไม่มีแนวคิดที่จะต่อระยะเวลาประกันออกไปให้ตามระยะเวลาที่ที่ ศ. บริการใช้ในการซ่อมเครื่องที่เราซื้อมา แล้วจากการสำรวจก็เป็นทุกแบรนด์เสียด้วย ผมจึงมานั่งสรุปกับตัวเองง่ายๆ ว่า เราควรซื้อแบรนด์ที่มีความเสี่ยงในการเสียให้น้อยที่สุด หรืออย่างเลวร้ายที่สุดคือ เป็นแบรนด์ที่ซ่อมเร็วที่สุด เพื่อว่าเราในฐานะลูกค้าจะได้เสียประโยชน์น้อยที่สุดไป

การซ่อมเร็วผมไม่เรียกว่าเป็นเรื่อง “ดี” ถ้าไม่มีการขยายระยะเวลารับประกันออกไปแต่ผมเรียกว่า “เสียประโยชน์น้อยที่สุด” มากกว่า

จริงๆ ส่วนตัวมองว่า แบรนด์ต่างๆ ควรมีขอบเขตการรับผิดชอบร่วมในการที่สินค้าของตนที่ต้องส่งเข้า ศ. บริการเพื่อซ่อมแซมอันอยู่ในเงือนไขประกัน ซึ่งถือเป็นความรับผิดชอบที่ผู้ผลิตต้องต่อระยะไปตามระยะเวลาอยู่ในการดูแลของ ศ. บริการแล้ว และหากการซ่อมแซมกินเวลาเกินกว่าที่ควรจะเป็น ควรมีการชดเชยระยะการรับประกันออกไป หรือหากกินระยะเวลาเกินเลยมากจนลูกค้ารับไม่ได้ เช่น นานระดับ 3 – 6 เดือน รวมไปถึงสินค้า หรือชิ้นส่วนอะไหล่ไม่ได้ผลิตแล้ว แบรนด์ต่างๆ ควรมีหน้าที่คืนเงินตามอัตราส่วนที่สมน้ำสมเนื้อให้กับลูกค้าของตนเพื่อจะได้ไม่ต้อง “รอ” และนำเงินส่วนนั้นไปซื้อเครื่องรุ่นอื่นๆ หรือแบรนด์อื่นๆ ต่อไป แน่นอนว่าการนำเครื่องชดเชยแทน ผมมองว่าไม่ใช่เรื่องที่ดีเท่าไหร่ เพราะการชดเชยเครื่องใหม่ ไม่ว่าจะรุ่นเดิม หรือรุ่นทดแทน ส่วนตัวมองว่าอาจจะมีการหมกเม็ดได้จากแบรนด์ต่างๆ ควรให้ลูกค้าได้ชดเชยด้วยเงินสด แล้วไปซื้อจากหน้าร้านอื่นๆ แทน ซึ่งส่วนตัวได้เคยได้รับการชดเชยจากแบรนด์หนึ่งในการคืนเงินเต็มจำนวนอันเนื่องจากสินค้าที่ส่งเปลี่ยนนั้น ไม่มีการผลิตอีกต่อไปโดยสินค้านั้นยังอยู่ในระยะประกันอยู่ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี

เราคงได้ฉุกคิดว่า การส่งสินค้าเข้า ศ. บริการ เพื่อซ่อมแซมนั้น เราเสียประโยชน์อย่างไร และแบรนด์ควรรับผิดชอบเพิ่มเติมอย่างไร