แชร์การป้องกันความเสียหายภายในบ้านในสภาวะน้ำท่วมจากประสบการณ์ตรง!

จั่วหัวจากประสบการณ์ตรง! เพราะทำมาหมดแล้วครับ

1. กระสอบทรายกันน้ำไม่ได้ 100% อย่าไว้ใจ ก่ออิฐและปูนไปเลย แล้วใช้กระสอบทรายเสริมแนวด้านหลังช่วยรับแรงที่ฐานของอิฐที่ก่อแทน

2. ส่วนที่เปราะบางที่สุดในบ้านไม่ใช่หน้าบ้าน แต่คือหลังบ้านและท่อระบายน้ำในบ้านชั้นล่างต้องอุดให้หมด ใช้การระบายน้ำจากชั้นสองเท่านั้น ไม่งั้นน้ำดันเข้ามาตามท่อทั้งหมด โดยเฉพาะส้วมชั้น 1 โบกบูนปิดทับไปเลย ไม่งั้นส้วมแตกแน่นอน!!! (ที่บ้านโดนมาแล้ว) น้ำสูงเกิน 50cm ที่หน้าบ้าน มีแรงมหาศาลจากใต้ดินเพียงพอจะดันให้ส้วมแตกได้ถ้าทำส้วมไม่แข็งแรงพอ ควรวางกระสอบทรายกดทับส้วมของบ้านชั้น 1 วันให้มีแรงกดสู้กับน้ำใต้ดินสัก 4-6 อันเป็นอย่างน้อย แต่ถ้าเป็นไปได้ถอดส้วมออกเลยแล้วโบกบูนปิดตายไปก่อน!!! (บ้านผมวาง 4 กระสอบยังเอาไม่อยู่เลย น้ำที่หน้าแนวกั้นหน้าบ้านสูงไม่ถึงเมตร) ถ้ามาถึงข้อนี้ทำไม่ได้มีทางเดียว ขนของหนีน้ำเท่านั้น! เกือบ 100% น้ำท่วมบ้านเพราะข้อนี้ทั้งหมด

3. การอุดทุกทางตามข้อที่ 1-2 แต่ตามตะเข็บบ้านมีการรั่วเข้ามาแน่นอน ถ้าอุดได้จงอุดด้วยปูนเท่านั้นที่ช่วยได้ ดินน้ำมันแค่ชั่วคราว เตรียมเครื่องสูบ/ดูดน้ำออกจากบ้านไว้ได้เลย น้ำสูงประมาณ 30cm-50cm ยังไม่เท่าไหร่ ช่วยๆ กันวิวได้ แต่ถ้าสูงกว่านั้นไม่ทันกินแน่นอน ถ้าไม่มีเครื่องสูบ/ดูดน้ำก็ขนของหนีน้ำได้เลยเช่นกัน!

4. ให้คิดไว้เสมอว่าการป้องกันน้ำเข้าบ้านที่บ้านที่บอกมา 3 ข้อบนใช้เพื่อการถ่วงเวลาเวลาเป็นหลัก และมันอยู่ได้ไม่นานนักครับ อย่างน้อยๆ “จงขนของหนีน้ำอย่างน้อยสูงจากชั้น 1 ประมาณ 3-5 เมตรเป็นอย่างน้อย” เอาขึ้นชั้น 2 เป็นดี และชั้น 3 จะดีมาก

5. สำรวจจุดที่มีการเชื่อมต่อกับกระแสไฟฟ้าทุกชุดให้แน่ชัด เช็คให้ครบทุกจุด ย้ำว่าทุกจุด โดยเฉพาะจุดไหนต่ำ มีสองทางคือปิดสะพานไฟจุดนั้น หรือกระชากมันออกมาแล้วแขวนไว้ซะสูงจากระดับน้ำ 1-2 เมตรให้ได้ (ผมกระชากมาแล้วจุดนึง ทำไม่ยาก ถ้าคุณเป็นบ้านแบบไม่ได้รอยสายตามท่อในผนังบ้าน) อย่าเสี่ยงกับจุดพวกนี้เด็ดขาดและควรมีเครื่องวัดไฟฟ้ารั่วติดตัวเสมอเมื่อน้ำเริ่มเข้าบ้านในจุดเสี่ยงที่ไฟฟ้ารั่ววัดก่อนจับหรือสัมผัส

6. อย่าเอารถยนต์ มอเตอร์ไซต์ หรือของใหญ่ๆ ยกยากๆ ไว้หลังแนวป้องกัน โดยเฉพาะไว้ในบ้านชั้น 1 เด็ดขาด มีสองทางคือเอาขึ้นชั้น 2-3 หรือเอาออกไปไว้ที่สูงนอกบ้านซะ โดยเฉพาะรถ รถจมน้ำเพราะคิดว่าป้องกันได้มานักต่อนักแล้ว

7. เอกสารสำคัญและของมีค่ากองรวมกันไว้จัดไว้ให้พร้อม ถ้าต้องออกจากพื้นที่ต้องสามารถหยิบออกมาได้ทันที

8. ไฟฉายสำคัญมาก ควรมีติดตัวทุกคนในบ้านอย่างน้อยคนละกระบอก แม้ในตอนกลางวัน แต่ถ้าน้ำท่วมแล้วการโดนตัดไฟฟ้า จนในบ้านไม่มีไฟ อาจทำให้มองอะไรไม่เห็นเสี่ยงต่อการบาดเจ็บได้

9. เวลาขึ้นชั้น 2 หรือบันไดราวต่างๆ ควรเช็คเท้าให้แห้งหรือระวังให้มาก เพราะน้ำทำให้เท้าเราลื้นได้ บาดเจ็บมาไม่คุ้มกัน

10. เตรียมถังน้ำไว้ในบ้านเผื่อฉุกเฉินน้ำไม่ไหล และจำเป็นต้องใช้น้ำ

11. ควรมีท่อพลาสติกความยาวสัก 1.5 เมตร กว้างสัก 1 นิ้ว เผื่อไว้เดินทางหรือสะกิดสะพานไฟ (เผื่อเอาไว้เคาะๆ ตอนเดินในที่น้ำท่วมป้องกันตกหลุ่มหรือสัตว์ร้ายต่างๆ)

12. ถ้าน้ำสูงเกิน 2 เมตร คุณจะโดนตัดไฟฟ้าแน่นอน ตู้เย็น เตาอบ อุปกรณ์สำหรับยังชีพที่ใช้ไฟฟ้าของคุณจะใช้งานไม่ได้อีกต่อไป เพราะงั้นไม่ต้องรอให้ถึงแค่เมตรกว่าๆ ก็ออกมาได้แล้ว (ประมาณเอว)

13. ถ้าจะก่อไฟในบ้านให้แน่ใจว่าเอาไฟที่ก่ออยู่ ไฟไหม้บ้านซ้ำเติมบ้านน้ำท่วมมีให้เห็นบ่อยๆ ก่อนจะทำระวังให้ดี เพราะไม่มีใครช่วยคุณได้ในสภาวะน้ำท่วมสูง (รถดับเพลิงเข้าไปไม่ถึงแน่นอน)

14. ถ้าออกจากบ้านแน่นอน ให้ตัดสะพานไฟบ้านด้วย อย่าออกมาจากบ้านโดยไม่ตัดสะพานไฟในบ้านลง เพราะอาจจะมีคนที่เข้าไปสำรวจในภายหลังโดนไฟฟ้าช็อตตายได้เพราะคุณไม่ตัดสะพานไฟ อาจจะเพราะตอนออกมาลืมเพราะไฟฟ้าโดยตัด แต่ตอนขากลับเข้าไปไฟฟ้ามาแล้วแต่น้ำยังลดไม่หมดและมีไฟฟ้ารั่วด้วย ต้องระวังให้มาก

3 thoughts on “แชร์การป้องกันความเสียหายภายในบ้านในสภาวะน้ำท่วมจากประสบการณ์ตรง!”

Comments are closed.