ความสำเร็จของการงานบางอย่างเรียกร้องความโดดเดี่ยว ถนนบางสายจำเป็นต้องเดินเพียงลำพัง

เป็นบทความที่ผมเคยโพสใน Multiply แต่ไม่ได้นำมาไว้ใน Blog ตัวเอง แต่ผมขอนำมาบางส่วน ถ้าอยากอ่านเต็มๆ ก็แนะนำให้อ่านที่ต้นฉบับได้เลย

ยุทธนา อัจฉริยวิญญู ช่างภาพไทยในสนาม National Geographic
เรื่องและภาพ วรพจน์ พันธุ์พงศ์
– ตีพิมพ์ครั้งแรก: นิตยสาร Image
– เผนแพร่บนเว็บที่ onopen (http://www.onopen.com/2006/editor-spaces/591) เมื่อ 22/05/2006 เวลา 11:26

ส่วนที่จับใจผมที่สุดคงเป็นตอนท้ายของเรื่อง เลยนำมาแบ่งปันกัน

“อะไรที่ทำให้งานของฝรั่งเจ๋ง”

ทุกเรื่อง ว่ากันตั้งแต่พื้นฐาน การเงิน ความเข้มแข็ง หัวใจ ความมุ่งมั่น ปัญหาครอบครัวไม่มี เมียเลิกหมด (หัวเราะ) บางคนพาเมียไปด้วย บางคนต้องเลิก นี่เรื่องจริง เพราะต้องเสี่ยงตาย และส่วนใหญ่พวกนี้บ้างานมากเกินไป มันอยู่ด้วยกันไม่ได้ ไม่มีผู้หญิงที่ไหนเข้าใจหรอก

เรื่องที่เต้นเร่าอยู่ในหัวใจ หรือความท้าทาย ณ วันนี้ของช่างภาพหนึ่งเดียวของ National Geographic ประเทศไทย คือการลงไปบันทึกภาพเหตุการณ์ 3 จังหวัดภาคใต้ เขากำลังรอโอกาสนั้นอย่างใจจดใจจ่อ

ถามว่ากลัวไหม ก็กลัว ใครบ้างจะไม่กลัว ทุกคนมีชีวิตจิตใจ มีคนรัก มีความผูกพัน แต่เขาคิดว่ามันจำเป็น ถ้ามีโอกาสก็ต้องทำ

“สัญชาตญาณบอกเองว่าเป็นหน้าที่ของเรา ผมว่ามันน่าอายนะครับสำหรับคนที่พูดว่าตัวเองเป็นสื่อ หรือเป็นช่างภาพ แต่ไม่มีสัญชาตญาณ” เขาจอดรถให้ดูกวางข้างทาง

“ผมไม่ใช่ช่างภาพสารคดี ไม่ใช่อะไรทั้งสิ้น ผมเป็นช่างภาพ ถ่ายดอกไม้ ถ่ายคน ถ่ายอะไรก็ได้ทั้งนั้น” ยุทธนา อัจฉริยวิญญู บอกผม ก่อนเปิดประตูรถเดินลงไปมองเทือกทิวเขา

นับวันช่างภาพหนุ่มคงเดินออกจากห้องแอร์มากขึ้นอย่างที่ใครเขาว่าจริงๆ ยิ่งก้าว ก็ยิ่งไกล

ไกลห้องแอร์ แต่ใกล้ความฝัน—ความฝันอันเกิดจากความสุขจากการทำงานหนัก

ผมนึกถึงคำของเขาเรื่องทำงานคนเดียว ยิ่งสังคมมากเท่าไร โอกาสถ่ายภาพก็ยิ่งลดน้อยลง และนั่นคงไม่ต้องพูดถึงชิ้นงานที่สมบูรณ์ น่าพึงพอใจ

อาจจะใช่, ความสำเร็จของการงานบางอย่างเรียกร้องความโดดเดี่ยว ถนนบางสายจำเป็นต้องเดินเพียงลำพัง คิดค้น ต่อสู้ ด้วยตัวคนเดียว

คนเดียวที่ไม่ใช่ไม่มีใครอยากข้องเกี่ยว และยิ่งไม่ใช่ ‘คนเดียว’ ในความหมายที่ไม่มี ‘คนรัก’